มมส วิจัย”ธูปฤๅษี”สร้างเคหะภัณฑ์ทำเงิน
“ธูปฤๅษี” วัชพืชต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานจนกระจายพันธุ์ไปทั่วทุกภาคของไทย หากมองกันผิวเผินวัชพืชต้นสูงท่วมหัวนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำเสียในแหล่งน้ำต่าง ๆ ด้วยรากและซากธูปฤาษีทที่ทับถมกันแน่น อีกทั้งสัตว์น้ำไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ และยังทำให้พรรณพืชดั้งเดิม เช่น กก และหญ้าหลายชนิด ไม้ล้มลุก รวมทั้งไม้พุ่มที่ขึ้นตามริมน้ำหรือที่ชื้นแฉะ ขาดแสงไม่สามารถขยับขยายพันธุ์และค่อย ๆ สูญหายไปจากพื้นที่
แต่ทว่าผศ.ดร.สืบศิริ แซ่ลี้ จากคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) กลับมองเห็นโอกาสใหม่ของวัชพืช ธูปฤๅษี จึงลงมือวิจัยเรื่อง “เคหะภัณฑ์จากพืชพันธุ์ต่างถิ่น หรือวัสดุธรรมชาติ” เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพ การปรับปรุงคุณสมบัติ และแปรรูปวัตถุดิบจากส่วนประกอบต่างๆ ของธูปฤๅษี เช่น ก้านใบ เพื่อให้ได้วัสดุที่เหมาะสมต่อการนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากวัสดุธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นอนุรักษ์ใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร.สืบศิริ ได้อธิบายคร่าวๆ ถึงขั้นตอนการได้มาและวิธีการทำ ว่าเริ่มจากสำรวจธูปฤๅษี จากแหล่งที่เติบโตในที่ลุ่มเป็นกลุ่มหนาแน่นที่มีมากเป็นพิเศษ คือ พื้นที่ชุ่มชื้นหรือมีน้ำขัง, เลือกก้านใบที่มีขนาดความยาวตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไป ความอ่อนแก่ของก้านใบจะมีผลต่อสีผิวของผลิตภัณฑ์, การเตรียมวัตถุดิบ ตัดก้านใบถึงปลายโคนและตัดให้ถึงปลายใบ เพื่อจะได้ก้านใบธูปฤๅษียาวเต็มที่ และล้างน้ำให้สะอาด
แยกเส้นใย โดยนำเปลือกและก้านใบที่ลอกไว้และตัดแต่งก้านใบนาไปตากแดดประมาณ 1-3 วัน แล้วนาไปในแช่น้ำอีก 1 วัน นำไปต้มในาน 5 ชั่วโมง เติมสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโซดาไฟ แล้วนำมาล้างน้ำบนตะแกรงเพื่อล้างโซดาไฟออก จากนั้นทุบหรือตำ เป็นการช่วยแยกเส้นใยออกจากเนื้อเยื่อของเปลือกในเบื้องต้น แล้วจึงนำไปล้างน้ำในตะแกรงอีกครั้ง
แล้วนำเส้นใยใส่ถังพลาสติกไว้เพื่อนำไปฟอกขาวและนำขึ้นรูปโดยการช้อนเป็นแผ่น ใช้วิธีเดียวกันกับการช้อนกระดาษสา แล้วนำไปตากแดดจนแห้งสนิท ซึ่งเส้นใยที่ได้สามารถเกาะตัวกันเองเป็นแผ่นทึบแสง หยาบ เกาะตัวติดแน่น จากนั้นนำไปขึ้นรูปวัสดุเส้นใยพืช โดยใช้วัสดุประสาน เช่น เรซินชนิดใส กาวอะครีลิค น้ำยางพารา กาวลาเท็กซ์ สามารถพัฒนาเป็นงานตกแต่งได้หลายประเภท
โดยผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ที่ได้ทำการวิจัยและทดลองสร้างสรรค์ขึ้นมาใช้งานได้จริง ได้แก่ พรมเอนกประสงค์ จากธูปฤๅษี ลักษณะเป็นสองชิ้นติดกัน สามารถที่จะพับเก็บได้ ใช้สำหรับรองนั่ง หรือนำไปเป็นวัสดุตกแต่งได้, ฉากกั้นห้อง (ฉากเสริมฮวงจุ้ย) มีความพิเศษนอกจากจะนำไปเป็นฉากกั้นห้อง สวยงามแล้ว ตอนนี้กำลังเป็นที่สนใจเพราะความเชื่อคือนำไปเสริมในเรื่องดวงชะตา, โคมไฟ เพื่อตกแต่งบ้าน โรงแรมหรือรีสอร์ท, สบู่บำรุงผิว ทำจากเส้นใยพืช ใช้เวลาในการวิจัยทดลองเกือบ 9 เดือนได้ผลตอบรับที่ดี มีทั้งแบบที่ใช้กับร่างกาย และใบหน้า สามารถรักษาสิว รักษาฝ้า ทำให้ผิวชุ่มชื่น ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากผู้ใช้โดยตรง
จะเห็นว่าสิ่งที่ทำมาเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ แนวคิดและการออกแบบ ที่ปรากฏนั้นสามารถจับต้องได้ คือหัวใจสำคัญของงานวิจัยหลายๆ งานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น จะต้องสามารถใช้ได้จริง สามารถที่จะทำประโยชน์ให้กับมนุษย์ได้
“ในฐานะอาจารย์นักวิจัย อยากจะฝากว่าถ้านักวิจัยรุ่นใหม่ สนใจงานประเภทนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คืออย่าไปมองเรื่องของเงินเป็นที่ตั้ง ต้องมองเรื่องความคิด ความสร้างสรรค์ จุดเริ่มต้นของเราว่าเราสนใจอะไร แต่ถ้าเมื่อไหร่ไปสนใจเรื่องเงินงบประมาณ มากๆ เข้า ก็จะทำให้เราหยุดชะงักทันทีว่า เราจะไม่ทำ ทำไม่ได้ ถ้าสมมุติเราคิดงานแล้ว เราเดินหน้าต่อ และทำจนเกิดผลความสำเร็จ และตัวเงินจะตามมาเอง” ผศ.ดร.สืบศิริ กล่าวทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ