“ผู้พิการแต่ละคนไม่ได้มีอาการเหมือนกันทุกราย บางคนอาจพิการแขน บางคนพิการขา พิการท่อนล่างเดินไม่ได้ ขณะที่บางคนพิการตั้งแต่คอลงไปก็มี ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับความพิการของผู้ป่วยแต่ละอาการ ย่อมจะตอบสนองความต้องการได้เต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพการใช้งานที่มากกว่า”
นี่เป็นแนวคิดและนำมาสู่ “อิเล็กทริก เพาเวอร์ วีลแชร์” สิ่งประดิษฐ์ช่วยผู้พิการอัมพาตครึ่งล่าง โดยฝีมือของบุคลากร 3 สถาบันดังร่วมมือกันวิจัยและพัฒนา นำโดย ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี, ผศ.ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ และ พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และ พ.อ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า พร้อม น.ส.ธัญญชล ไกรโสภณ และนายทศพร ชูชาติ นักศึกษาสาขาแมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี…โดยใช้ชื่อว่า PMK – Electric Power Wheelchair for life หรือรถเข็นไฟฟ้าเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต มุ่งเป้าหมายสำคัญคือต้องการให้ผู้พิการอัมพาตครึ่งล่าง (Paraplegia) ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผลงานวิจัยนี้จะช่วยให้ผู้พิการครึ่งล่าง สามารถลุกยืนและหยิบจับสิ่งของ ตลอดจนสามารถยืนกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หรือประกอบอาชีพเกษตรกรรมบางประเภท หรือตกแต่งกิ่งไม้ที่สูงๆ ได้ด้วยตนเอง “อิเล็กทริก เพาเวอร์ วีลแชร์” แบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือส่วนที่รถเข็นและส่วนหัวลากที่สามารถทำให้ผู้พิการปรับยืนได้
“ในส่วนของการปรับยืนนั้น เมื่อผู้ป่วยนั่งรถเข็นมาที่หัวลาก จะต้องทำการรัดผ้าเพื่อการพยุงผู้ป่วยด้านหลัง พร้อมกดปุ่มเพื่อปรับลุกยืนขึ้น ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้รถเข็น โดยผู้ป่วยสามารถยืนอยู่บนรถเข็นในส่วนหัวลาก และบังคับได้ 4 ทิศทาง ทั้งเดินหน้า ถอดหลัง เลี้ยวซ้ายและเลี้ยวขวา ซึ่งใช้แบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ 2 ลูก ต่ออนุกรมให้ได้แรงดันไฟฟ้า 24 โวลต์ สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รองรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 100 กิโลกรัม และตัวรถเข็นมีน้ำหนักประมาณ 25 กิโลกรัม ซึ่งชาร์ตแบตเตอรี่ 1 ครั้ง ประมาณ 2 ชั่วโมง จะวิ่งได้ไกลถึง 4 กิโลเมตร” ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ อธิบายเพิ่มเติม
สำหรับแนวทางการพัฒนาอิเล็กทริก เพาเวอร์ วีลแชร์ ต่อจากนี้จะมุ่งเน้นเรื่องโครงสร้างความแข็งแรงที่มากยิ่งขึ้น และการใช้งานในพื้นที่ที่แตกต่างกันไป เช่น พื้นดิน พื้นลูกรัง หรือสภาพพื้นที่ขรุขระ เพื่อให้ผลลัพธ์การใช้งานมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อไป และที่สำคัญคือต้นทุนต้องเป็นมิตรผู้พิการ สามารถเข้าถึงและยอมรับได้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ