- รีเบกกา ธอร์น
- บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
คนแปลกหน้าสองคนบ้วนน้ำลายใส่หลอดทดลอง อาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นของความรักแบบดั้งเดิมที่เราคุ้นเคย
แต่สำหรับ ชิเอโกะ มิตซูอิ การเก็บตัวอย่างน้ำลายช่วยให้เธอได้พบกับสิ่งที่เธอเฝ้ารอมานาน นั่นคือคู่รักที่เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะ และพร้อมจะเป็นสามีของเธอ
แนวคิดเรื่องการใช้สารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ ในการจับคู่คนโสดเพื่อให้มาเป็นคู่ครองกันนั้น เป็นเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดอยู่ในซีรีส์ทางเน็ตฟลิกซ์เรื่อง The One และ Soulmates ทางช่อง AMC
ส่วนในโลกแห่งความเป็นจริง การนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับดีเอ็นเอมาช่วยในการจับคู่นั้น ได้มีให้บริการคนโสดแบบ มิตซูอิ อยู่มากมายหลายเว็บไซต์ เพื่อเป็นช่องทางลัดทางวิทยาศาสตร์ในการหาคนที่ใช่ รวมถึงช่วยทดสอบ “ความเข้ากันทางพันธุกรรม” สำหรับคู่รักที่กำลังคบหากันอยู่
บีบีซี ได้พูดคุยกับผู้คนที่ใช้วิทยาการทางพันธุกรรมในการตามหาความรักที่เป็นเรื่องของหัวใจและความรู้สึกว่าจะใช้ได้ผลจริงมากน้อยเพียงใด
ชิเอโกะ มิตซูอิ ตามหาความรักมาเกือบ 10 ปี ตอนที่เธอได้ค้นพบบริการจับคู่ด้วยดีเอ็นเอ
สาวญี่ปุ่นวัย 45 ปี จากจังหวัดฮอกไกโดผู้นี้ หย่าขาดจากสามีตอนอายุ 35 ปี และเริ่มรู้สึกว่าโชคในการเจอเนื้อคู่ของเธอกำลังจะหมดไป
“ฉันได้พบผู้ชายผ่านทางเพื่อนฝูงตามงานเลี้ยงต่าง ๆ และได้ใช้บริการบริษัทจัดหาคู่ แต่ก็ยังไม่เจอกับคนที่ใช่” มิตซูอิ เล่า
มิตซูอิ ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ ชิเอโกะ ดาเตะ แม่สื่อที่บอกว่าได้ช่วยจับคู่คน 700 คู่ ตลอดการทำงานด้านนี้มานาน 20 ปี
ในปี 2014 ดาเตะ เริ่มทำงานกับบริษัท GenePartner ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งระบุว่าบริการทดสอบทางพันธุกรรมของบริษัทสามารถใช้เป็น “ส่วนเสริม” ในบริการจัดหาคู่ได้
ดร.ทามารา บราวน์ นักพันธุศาสตร์ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง GenePartner บอกว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการจับคู่ในทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งคือการเข้ากันได้ทางชีวภาพ ซึ่งเรียกว่าการมีเคมีที่ตรงกัน ส่วนอีกด้านคือการเข้ากันได้ในเชิงสังคม “ทั้งสองปัจจัยนี้จะต้องเหมาะสมกันเพื่อให้ความสัมพันธ์ประสบความสำเร็จ”
กระบวนการจับคู่ทางวิทยาศาสตร์
การตรวจสอบนี้ทำโดยเก็บตัวอย่างทางชีวภาพของลูกค้าที่ต้องการใช้บริการจับคู่ ด้วยการใช้ไม้ป้ายที่เยื่อบุกระพุ้งแก้ม แล้วนำไปวิเคราะห์ยีนที่เรียกว่า human leukocyte antigen หรือ HLA
ดร.บราวน์ อธิบายว่า HLA เป็นยีนหลักที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ดังนั้นยิ่งคนมียีน HLA ที่หลากหลายมากเท่าไหร่ ก็จะมีการตอบสนองในระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้นเท่านั้น”
“สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งเพศผู้และเพศเมียสามารถรับรู้ได้ถึงยีน HLA เพราะต้องการให้กำเนิดลูกที่มีความทนทานต่อโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น มันเป็นหลักการง่าย ๆ ที่ต้องทำเพื่อให้เผ่าพันธุ์ได้ดำรงอยู่ต่อไป”
ข้อสนับสนุนสมมุติฐานของ GenePartner มาจาก “การศึกษาเสื้อยืดเปื้อนเหงื่อ” ในปี 1995 ของ ดร.เคลาส์ เวเดอกินด์ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวิส ที่ทดลองให้กลุ่มนักศึกษาหญิงให้คะแนนกลิ่นเสื้อยืดของผู้ชายหลายคนที่ใส่ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 คืน ผลปรากฏว่า ผู้หญิงชอบกลิ่นเสื้อยืดของผู้ชายที่มียีน HLA ที่แตกต่างจากพวกเธอ
ดร.บราวน์ ชี้ว่า บริษัท GenePartner ได้ทดสอบทฤษฎีนี้กับคู่แต่งงานประมาณ 250 คู่ และได้ผลลัพธ์ออกมาในรูปแบบคล้ายกัน
“เวลาที่คุณได้พบกับใครบางคน มันไม่ใช่เรื่องรูปลักษณ์ มันคืออย่างอื่น และเมื่อคุณรู้สึกสนใจบุคคลนั้นจริง ๆ โดยที่คุณเองก็ไม่ทราบเหตุผล นั่นคือการสัมผัสถึงยีน HLA” เธอกล่าว
“มันคือสัญชาตญาณโดยแท้…และคนเราทำแบบนี้อยู่เสมอ แม้แต่คนที่ไม่ต้องการมีบุตร สัญชาตญาณนี้ก็ยังอยู่”
“เปลี่ยนชีวิต”
ชิเอโกะ มิตซูอิ หวังว่า การวิเคราะห์ดีเอ็นเอจะช่วยให้เธอรู้สึกอุ่นใจเมื่อต้องเลือกคนที่จะมาร่วมชีวิตในระยะยาวคนต่อไป
ในเดือน ก.ย. ปี 2018 มิตซูอิ ได้พบกับ โทโมฮิโตะ วัย 45 ปี จากข้อมูลเรื่องค่านิยมและความสนใจที่ตรงกัน โดยหลังจากคบหากันได้ 1 เดือน ทั้งคู่ได้ตัดสินใจตรวจความเหมาะสมกันของดีเอ็นเอ
มิตซูอิ เล่าว่า “ผลลัพธ์โดยรวมไม่ได้เหมาะเจาะกัน 100% แต่ก็เกือบสมบูรณ์แบบ…ฉันคาดหวังว่าจะได้เห็นผลลัพธ์ที่ดี แต่มันก็ดีกว่าที่ฉันคาดเอาไว้มาก ฉันเลยดีใจมาก”
2 สัปดาห์หลังจากนั้น ทั้งคู่ก็ตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน “เราต่างมีความรู้สึกดีมาก ๆ และผลดีเอ็นเอก็ออกมาดี เราจึงตัดสินใจแต่งงานกัน” มิตซูอิ กล่าว
ทั้งสองแต่งงานกันในเดือน ก.ย. ปี 2019 หนึ่งปีหลังจากได้รู้จักกันครั้งแรก มิตซูอิ บอกว่าเธอรู้สึก “ปลอดภัยและมั่นคง” กับผลการยืนยันทางพันธุกรรมของทั้งคู่
“ฉันไม่แน่ใจว่าฉันจะแต่งงานกับเขาโดยที่ไม่มีผลยืนยันทางดีเอ็นเอหรือเปล่า…บางทีฉันอาจแต่ง แต่แน่นอนว่าผลดังกล่าวผลักดันให้ฉันแต่งงาน…มันคือปัจจัยเปลี่ยนชีวิต”
ชิเอโกะ ดาเตะ ผู้ทำหน้าที่แม่สื่อให้คู่รักคู่นี้บอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ใช้บริการจับคู่ด้วยดีเอ็นเอของบริษัทเธอมักเป็นกลุ่มคนมีการศึกษา และมีหน้าที่การงานดี ซึ่งเธอคิดว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีเวลาเสาะหาคู่รัก
“ฉันรู้สึกว่าคนตัดสินใจได้เร็วขึ้นและรู้สึกปลอดภัย (เมื่อใช้บริการตรวจดีเอ็นเอ)…ฉันจึงรู้สึกดีที่สามารถให้ความรู้สึกแบบนี้กับพวกเขาได้”
โยนเหรียญเสี่ยงทาย
อย่างไรก็ตาม ดร.ดิโอโก เมเยอร์ นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล ในบราซิล เตือนว่า ทฤษฏีดังกล่าวยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในแวดวงวิทยาศาสตร์
“ประเด็นสำคัญคือมันเป็นเรื่องที่ยังมีข้อถกเถียง คุณอาจพบงานวิจัยที่บอกว่ามีหลักฐานของการเข้าคู่กันจากความแตกต่างของยีน HLA แต่ผมคิดว่ามีผลการศึกษามากกว่าที่แสดงให้เห็นว่ามันมีไม่ปรากฏการณ์เช่นนี้อยู่จริง”
เขาชี้ว่า การใช้ทฤษฎีนี้เพื่อจุดประสงค์ในการจับคู่นั้น “ไม่ต่างไปจากการโยนเหรียญเสี่ยงทาย” เพราะโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้มีน้อยมาก และใกล้เคียงมากกับการสุ่ม
เครื่องยืนยันความรัก
เมลิสซา จากรัฐควีนส์แลนด์ ของออสเตรเลีย เล่าว่าเธอกับ เมซ แฟนหนุ่มกำลังเผชิญกับ “ช่วงเวลาที่ยากลำบาก” ในความสัมพันธ์ ตอนที่เธอตัดสินใจใช้บริการตรวจความเข้ากันทางดีเอ็นเอ
พวกเขาใช้บริการเว็บไซต์ที่ชื่อ DNA Romance ซึ่งอ้างว่าใช้การตรวจ เครื่องหมายดีเอ็นเอ (DNA marker) ของยีน HLA ในการประเมินเคมีทางความรักและการดึงดูดระหว่างบุคคล
ผลที่ได้ออกมาบ่งชี้ว่า เมลิสซากับเมซ มีความเข้ากันได้ถึง 98%
“ฉันดีใจมาก ๆ และรู้สึกดีที่ได้รู้…สำหรับฉันมันเหมือนกับเครื่องยืนยันอีกอย่างของความสัมพันธ์ของพวกเรา”
โรดริโก บาร์เกียรา นักพันธุศาสตร์จากสถาบันมักซ์พลังค์ในเยอรมนี ระบุว่า ในขณะที่มีหลักฐานว่า ยีน HLA มีบทบาทในการเลือกคู่ครองนั้น แต่ก็มีไม่มากพอที่จะ “คาดการณ์ได้ว่าความสัมพันธ์นั้นจะประสบความสำเร็จมากเพียงใด”
“ยีนสนใจแค่การจับคู่ผสมพันธุ์และการผลิตทายาทสืบเผ่าพันธุ์…ยีนพวกนี้ไม่สนเรื่องอย่างอื่น แต่ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ของมนุษย์มีความซับซ้อนกว่าการมีลูกมาก”
แม้นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจะมีความเห็นเช่นนั้น แต่เมลิสซาบอกว่าการตรวจดีเอ็นเอดังกล่าวช่วยให้คู่ของเธอ “มีความมั่นใจ” และตัดสินใจแต่งงานกัน อีกทั้งกำลังจะมีทายาทคนแรกด้วยกัน
“ฉันคิดว่ามันน่าสนใจ แต่ก็คิดว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ และฉันเชื่อมัน บางคนอาจไม่เชื่อ และมองว่ามันเป็นความคิดที่บ้า แต่มันเป็นเรื่องที่มีเหตุผลสำหรับฉัน”
อย่างไรก็ตาม เมลิสซาบอกว่า ถ้าผลตรวจดีเอ็นเอของทั้งคู่ออกมาไม่ดีในตอนนั้น มันก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาจบลงได้
สำหรับคู่ของเซียนนา และโรดริโก เมเนส บอกว่า แนวคิดเรื่องการจับคู่ด้วยดีเอ็นเอฟังดู “เป็นไปไม่ได้และชวนขนลุก” ในตอนแรก
แต่ถึงอย่างนั้น คู่แต่งงานใหม่คู่นี้ ซึ่งเรียกตัวเองว่า “เนื้อคู่” บอกว่าเกิดความสงสัยใคร่รู้ที่จะทดลองใช้บริการของ DNA Romance และได้ผลลัพธ์ว่าพวกเขามีความเข้ากันได้ทางพันธุกรรมถึง 90%
“เราต่างช็อกที่เว็บไซต์นี้สามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ถึงสิ่งที่เรารู้สึกตามธรรมชาติได้ แต่เราก็ดีใจมาก และรู้สึกอุ่นใจกับผลลัพธ์ที่ยืนยันว่าเรามีความเชื่อมโยงกันลึกซึ้งเพียงใด”
สำหรับ ดร.ดิโอโก เมเยอร์ นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล มองว่า บริการหาคู่ด้วยพันธุกรรมที่เกิดขึ้น บ่งบอกถึงการที่ผู้คนนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในเชิงพาณิชย์และมุมมองที่คนมีต่อมัน
“วิทยาศาสตร์มีแนวคิดที่นำเสนอข้อเท็จจริงที่แน่ชัด เพราะมีการทดสอบทางสถิติ การทดสอบดีเอ็นเอ และการทดสอบเกี่ยวกับโมเลกุล ผู้คนจึงคิดว่ามันใกล้เคียงกับความจริงมากกว่า และน่าเชื่อถือกว่าข้อมูลชนิดอื่น ๆ” เขากล่าว
“ผมคิดว่ามันเป็นการขายขีดความสามารถของวิทยาศาสตร์มากเกินจริง”