13 เมษายน 2564 | โดย บุษกร ภู่แส
11
ตลอด16ปี “มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้” ข้ามผ่านมาทุกวิกฤติ! รวมทั้งล่าสุดวิกฤติโรคระบาดโควิดที่เข้ามาดิสรัปธุรกิจ “กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี” ประธานกรรมการบริหาร มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป มองว่า โควิด-19 เป็น “ตัวเร่ง” ให้ธุรกิจต้อง “ปรับตัว” เพื่อความอยู่รอด
นั่นทำให้ มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ เร่งสปีดแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจวางโรดแมพสู่ “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ”(Wellness Tourism) ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตสวนวิกฤติโควิด-19 อย่างชัดเจน เนื่องจากผู้คนทั่วโลกรวมถึงชาวไทยเริ่มตระหนักถึงการ “ป้องกัน”สุขภาพร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ชีวิตประจำวันที่มุ่งเน้นความสมดุลทั้งกายและใจเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วย ด้วยสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและเทคโนโลยีล้ำสมัย
เป็นโจทย์ของการพัฒนาโครงการ “ตรีวนันดา” ที่ใช้งบลงทุนราว 6,600 ล้านบาทบนเกาะภูเก็ต อยู่ไม่ห่างจากสนามบินนานาชาติภูเก็ตซึ่งเป็นทำเลใจกลางเมือง ใกล้สถาบันการศึกษานานาชาติ โรงพยาบาล และชายหาด ภายในโครงการมีบรรยากาศรื่นรมย์ด้วยทิวทัศน์ของภูเขา ทะเลสาบ และป่าเขตร้อน รวมทั้งสวนพฤกษศาสตร์ครอบคลุมพื้นที่ 600ไร่ประกอบด้วย 3 โซนหลัก ได้แก่ โซนที่พักอาศัยเป็นวิลล่า รีสอร์ทเพื่อสุขภาพ และสวนพฤกษศาสตร์ โดยใช้พื้นที่ก่อสร้างในส่วนของสิ่งปลูกสร้างเพียง 15% ถือเป็นโครงการที่พักอาศัยที่มีความหนาแน่นต่ำ (Low density)
“เป็นการต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทยด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ที่สามารถดึงลูกค้าเพื่อรักษาสุขภาพจำนวนมาก แต่สิ่งที่เราต้องการทำแตกต่างจากการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือ เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ให้ความสำคัญการป้องกัน ไม่ใช่ การรักษาอาการเจ็บป่วยจากปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเน้นการรักษาเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มชาวต่างชาติ”
เฟสแรก “ตรีวนันดา” ใช้พื้นที่ 300 ไร่ ประกอบด้วย พูลวิลล่า 77 หลัง พื้นที่ใช้สอย 138-671 ตารางเมตร บนที่ดิน 75-580.5 ตารางวา ขนาด 1-4 ห้องนอน ราคาเริ่มต้น 16.5 ล้านบาท จนถึง 108.6 ล้านบาท สัญญาเช่า 90 ปี ส่วนรีสอร์ทเพื่อสุขภาพมี 70 ห้อง ภายใต้สถาปัตยกรรมสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นลักชัวรีแบบเงียบ (Quiet Luxury ) ที่ผสมผสานสแกนดิเนเวียนกับญี่ปุ่นให้ความรู้สึกเรียบง่าย อบอุ่น ผ่อนคลาย และสงบ ส่วนพื้นที่อีก 300 ไร่ รอผลตอบรับก่อนขยายเฟสต่อไป
พร้อมกันนี้สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วย “คอมมูนิตี้เฮ้าส์” เป็นศูนย์รวมเจ้าของวิลล่าหรือสมาชิกของตรีวนันดาที่สนใจเรื่องสุขภาพ โดยมีทีมที่ปรึกษาและอุปกรณ์ในการดูแลสุขภาพ เปิดกลางเดือน ก.ค. นี้ ส่วนรีสอร์ทเพื่อสุขภาพ ก่อสร้างปลายปี 2564 เปิดไตรมาสแรกปี 2567 จะมีโฆษณาและเริ่มทำตลาดไทยช่วงปลายปีนี้
“ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่มาจากโครงการตรีสรา รีสอร์ท ที่สนใจเรื่องสุขภาพ มีการสื่อสารคอนเซปต์ที่ชัดเจนว่าเป็นเวลเนสคอมมูนิตี้ แบบลีสโฮลด์ หรือกรรมสิทธิ์การเช่าระยะยาว 90 ปี สร้างแวลูให้กับเจ้าของวิลล่า”
กิตติศักดิ์ มองว่า โควิด-19 เป็นวิกฤติที่สร้าง “โอกาส”เกิดขึ้นกับธุรกิจเวลเนส ที่จะเข้ามาเป็นเรือธงในการสร้างรายได้ในอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องของสุขภาพ ว่า ควรดูแลสุขภาพตัวเองเพราะเป็นโรคระบาดไม่มีวิธีรักษา วิธีเดียวที่จะทำได้ก็คือ ทำให้ตัวเองแข็งแรง มีภูมิต้านทาน ทำให้คนตื่นตัวด้านสุขภาพมากขึ้น
“เวลเนสเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน และช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวเติบโตไปได้อีกจากปกติการเข้ามาพักในวิลล่าใช้เวลาเฉลี่ย 4-5 วัน พอเป็นเวลเนส อยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจเพื่อให้เห็นผลก่อนกลับไปปฏิบัติเอง จากงานวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวที่มาเวลเนส มีกำลังซื้อสูงและใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวธรรมดาถึง30%”
ขณะเดียวกัน ยอมรับว่า “ภาษีที่ดิน” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจทำโครงการนี้ เพราะถ้าปล่อยที่ดินค้างไว้ก็เสียภาษีที่ดินเปล่า ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งก่อนเกิดโควิด โครงการ ตรีสรา ซึ่งเป็นโครงการวิลล่าแรกของบริษัท มีลูกค้าต่างชาติใช้บริการ 95% อีก 5% เป็นคนไทย ซึ่งมีอัตราการเข้าพัก 60-70% แต่หลังเกิดโควิดอัตราการเข้าพักลดลง และสัดส่วนคนไทยต่างชาติเปลี่ยนไป หลังเดือน มี.ค.2563 ลูกค้าคนไทย 90% อีก 10% เป็นต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย พร้อมกันนี้ทางรีสอร์ท ได้ปรับราคาที่พักลดลง 50% ราว 15,000 บาท เพื่อดึงลูกค้าคนไทยให้เข้ามาลองใช้บริการและกลายเป็นลูกค้าในอนาคต ถือเป็นบทเรียนที่ทุกคนได้เรียนรู้จากวิกฤติโควิด
หลังโควิดธุรกิจ “เวลเนส” น่าจะได้รับการยอมรับจากคนไทยมากขึ้น และทำให้ธุรกิจคืนทุนเร็วขึ้น! จากงานวิจัยที่เคยระบุว่าต้องใช้เวลา 5 ปี เมื่อเทียบกับการทำรีสอร์ททั่วไปใช้เวลา 2 ปี ส่วนหนึ่งเพราะมีประสบการณ์และฐานลูกค้าจากโครงการตรีสรามาก่อนช่วยในการต่อยอดได้เร็วขึ้นนั่นเอง