คำสารภาพจากเด็กเกียรตินิยม
“ฉันเป็นผลผลิตที่ (เกือบจะ) สมบูรณ์แบบ ของระบบการศึกษาไทย”
ระบบชีวิตที่ต้องตื่นเช้าใส่ชุด ตัดผมตามระเบียบ/นั่งแถวหน้าที่ใกล้ครูมากที่สุด/ส่งการบ้านก่อนใคร/เรียนพิเศษวันหยุด/มีชื่ออยู่บนสุดตอนประกาศผลสอบ/เป็นตัวแทนเพื่อนๆ เสมอ/แบ่งเลกเชอร์ให้เพื่อน/ร้องเพลงเชียร์ตามรุ่นพี่/ตอบคำถามที่อาจารย์อยากฟัง/เชื่อตำรา/ขยันอ่านแต่ไม่เคยเอาไปลองใช้
และมีความฝันตามคำบอกเล่าของคนอื่น
ตลอด ๒๐ ปี (๖+๖+๔+๒) ที่วิ่งไล่ล่าตัวเลขเกรด ๔, อักษรตัว A และกระดาษหนึ่งใบที่มีคำว่า “เกียรตินิยม”
ไม่เคยต้องค้นหาว่าชอบอะไร เพราะถูกป้อนโปรแกรมความสำเร็จ และความฝันมาแล้วทุกอย่าง อยู่ในแม่พิมพ์เดียวกันกับทุกคนที่ร่วมชั้นเรียน
แน่นอนว่าโปรแกรมที่ติดตั้งมา ก็แถมความสุข มิตรภาพ ประสบการณ์ และความภูมิใจของครอบครัวมาให้ ซึ่งต้องขอบคุณจากใจ
ฉันคือผลผลิตของระบบการศึกษายี่สิบปี ที่ถูกส่งออกสู่ตลาดแรงงาน ตามความตั้งใจของโลกทุนนิยม
ฉันคือผลผลิตที่ไม่เคยแม้แต่จะตั้งคำถาม หรือสงสัย กับที่มาของตัวเอง ได้แต่ไหลไปกับกระแสความเชื่อ ที่ถูกโปรแกรมมา
โปรแกรมให้เรียนจบเกียรตินิยม ทำงานบริษัท เลื่อนตำแหน่ง เงินเดือนสูงๆ ซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่งงาน มีลูก เก็บเงิน และรอวันที่ได้ใช้ชีวิตเกษียณที่มีความสุข บ้านเล็กๆ ในสวน กับหมาซักตัว
ถึงจะพูดไม่เต็มปากว่าอยากเอาเวลายี่สิบปีในระบบการศึกษาคืนมา แต่ยอมรับว่าระบบนี้ผลิตคนออกมาเหมือนโรงงานปลากระป๋อง ส่งออกไปตั้งบนชั้นขายของ ผูกชีวิตเราไว้กับระบบอีกนับร้อยจนแทบแกะไม่ออก
แอปพลิเคชันการเอาตัวรอดเดียวที่ติดตั้งมา คือ “หาเงินให้มาก” จากการใช้ทรัพยากรรอบตัวไปเรื่อยๆ เราถูกสอนให้หางาน แต่ไม่รู้วิธีสร้างงานจากสิ่งที่เรามี
นอกจากอาชีพการงานที่เราทำอยู่ เราก็แทบทำอย่างอื่นไม่ได้เลย
ทุกครั้งที่คิดอยากจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใหม่ให้ตัวเอง เราก็มักจะติดรหัสแอดมินเสมอ รหัสจากสังคม ครอบครัว ป๊อปอัปขึ้นมาเตือนครั้งแล้วครั้งเล่า
ถามเราว่าแน่ใจแล้วเหรอ ที่จะติดตั้งโปรแกรมใหม่
แน่ใจแล้วเหรอที่จะคิดอะไรไม่เหมือนคนอื่นและทำต่างจากที่โรงเรียนสอนมา
แน่ใจเเล้วเหรอว่าจะลบโปรแกรมความฝัน ความสำเร็จ ที่โอบอุ้มมาเกือบสามสิบปี
ฉันกดปุ่ม “ตกลง” เพื่อดาวน์โหลดโปรแกรมใหม่อยู่หลายรอบ กว่าป๊อปอัปคำเตือนทั้งหลาย จะเปลี่ยนเป็นคำว่า loading in progress……
ไม่มีสิ่งรับประกันผลลัพธ์ใดๆ หลังจากนี้ นอกจากโลกอีกใบที่จะได้เจอ
ถ้ามีใครซักคนถามว่ายังควรใช้เวลา ๒๐ ปีในระบบการศึกษา (ไทย) มั้ย
ขอตอบว่า “จงหนีไป”
หนีไปเรียนวิชาชีพ ไปเรียนวิชาชีวิต ไปเรียนหลักสูตรสั้นๆ ไปอยู่นอกระบบการศึกษา ออกไปทดลอง ออกไปผิดพลาด ไปตั้งนิยามความสำเร็จของตัวเอง
และลืมคำว่า “เกียรตินิยม” กับ “ปริญญา” ไป(ซะ)!
—————–
น่าคิดครับ…
นี่คือปัญหาเฉพาะบุคคล หรือเป็นปัญหาทั้งระบบ
ถ้าเป็นปัญหาทั้งระบบ แสดงว่า บัณฑิตที่จบสาขาเฉพาะทาง เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก หรือแม้กระทั่งครู ล้วนล้มเหลวหมด
ประเทศคงล่มจมไปแล้ว
แต่หากเป็นความรู้สึกเฉพาะบุุคคล ก็เป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาเช่นกัน ที่ไม่สามารถผลิตคนที่เข้าใจชีวิต ออกมารับใช้สังคมได้
จะให้หนีไปไหน
สาขาวิชาชีพ คืออาชีวะ มีสอนในประเทศไทยมานานพอๆ กับสายสามัญ
มันอยู่ที่ว่าจะเลือกเรียนแบบไหน
หลักสูตรประกอบอาชีพสั้นๆ ปัจจุบันมีถมเถ จบออกมา ไม่ต้องมี “เกียรตินิยม” กับ “ปริญญา” ก็สามารถเอาไปทำมาหากินได้ทันที
จากเด็กซ่อมรถเป็นเจ้าของอู่ก็มีให้เห็นมาเยอะแล้ว
ฉะนั้นการจบปริญญา “เกียรตินิยม” แต่ตั้งคำถามดูสายลมแสงแดด น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษาไทยไม่น้อยทีเดียว
เราผลิตคนที่ไม่เข้าใจโลกออกมาเพื่อใช้ชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา
แน่นอนว่า ระบบการศึกษา คือจำเลยที่ ๑
แต่ระบบการศึกษาที่ดูว่าแย่ ไม่ได้ทำลายชีวิตผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษาทุกคน
แล้วใครที่ยังมีส่วนต้องรับผิดชอบ?
อีกตัวอย่างที่จะยกมา ไม่มีอะไรเกี่ยวพันโดยตรงกับตัวอย่างแรก แต่มีความสัมพันธ์กัน
โพสต์ในทวิตเตอร์ prajak [email protected] ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์จากรั้วธรรมศาสตร์ ทำให้ต้องคิดหนัก
“…หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สยามเริ่มรับอิทธิพลจากตะวันตกแบบเข้มข้นสมัย ร.๔ จนถึงปัจจุบัน ชนชั้นนำไทยตั้งแต่ระดับบนสุดถึงปลายแถว รวมถึงกลุ่มที่อ้างว่ารัก ‘ความเป็นไทย’ ล้วนส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศทั้งสิ้น เพราะรู้ดีว่าระบบการศึกษาไทย (ที่ตัวเองเป็นคนสร้าง) นั้นล้าหลัง…”
ไร้มิติประวัติศาสตร์อย่างสิ้นเชิง
นี่คือหนึ่งในตัวอย่างนักวิชาการที่เข้าไม่ถึงวิชาการ เพราะอคติ ความชิงชัง
“ประจักษ์ ก้องกีรติ” ชื่อนี้เป็นที่นับถือในหมู่เด็กสามนิ้ว
เมื่อเด็กสามนิ้วบริโภคข้อมูลแบบนี้เข้าไปจะเกิดอะไรขึ้น
พระมหากษัตริย์ไทยยุคฝรั่งล่าอาณานิคม ส่งเจ้านายรุ่นเยาว์ไปเรียนหนังสือในยุโรป แน่นอนว่าการศึกษาไทยยุคนั้นไม่ทันฝรั่ง แต่เจตนาหลักคือ แผ่นดินที่ “ประจักษ์ ก้องกีรติ” เกิดและเหยียบอยู่ในวันนี้ไม่ได้เป็นอาณานิคมของตะวันตก เพราะสิ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยทำในอดีต
ส่งคนไปสร้างสัมพันธ์ ไปเอาความรู้กลับมา สร้างสยามให้เป็นเมืองเจริญ ไม่ใช่เมืองเถื่อนตามที่ฝรั่งเข้าใจ
กว่าจะผ่านมาได้ต้องสูญเสียกันไปเท่าไหร่
แต่วันนี้คนรุ่นหลังกลับดูถูกสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำว่าล้าหลัง
ถึงบรรทัดนี้ต้องยอมรับครับว่าระบบการศึกษาไทยมีปัญหาจริง มิได้มีปัญหาเฉพาะหลักสูตร
อาจารย์มหาวิทยาลัยบางพวกยังอยู่ใต้ตม.