การที่คุณไม่ชอบกินกะหล่ำดาว หรือกะหล่ำขนาดเล็กพี่มักพบได้ในประเทศตะวันออกกลาง และบร็อกโคลี ซึ่งผักสีเขียวดังกล่าวจะมีรสขมปนอยู่เล็กน้อย หมายความว่าคุณมีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่ลิ้นของคุณไม่สามารถรับรสขมได้จากอายุที่เพิ่มมากขึ้น
รายงานข่าวระบุว่า การที่คุณไม่ชอบกินอาหารที่มีรสขมนั้นจะทำให้คุณเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้โดยนักวิจัยแนะนำว่า “ผู้ที่ดื่มไวน์ บร็อกโคลี ขึ้นฉ่ายฝรั่ง ส้มโอ หรือกะหล่ำดาว ซึ่งมีรสขมปะปนอยู่ มีโอกาสน้อยที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19”
ทั้งนี้ ทีมแพทย์ในเมืองบาตัน รูจ รัฐลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า “จากการศึกษาในผู้ทดลองซูเปอร์เทสเตอร์ หรือกลุ่มคนที่ไวต่อรสชาติอาหาร โดยเฉพาะรสขมนั้น มีโอกาสน้อยลงที่จะมีผลตรวจโควิด-19 ระบุว่าติดเชื้อไวรัสดังกล่าว หรือโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสร้ายดังกล่าวคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยลง 10 เท่า เห็นได้จากผลการศึกษาในกลุ่มคนดังกล่าวที่ยังไม่มีใครต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล”
ดร.อลัน เฮิร์ช ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการรับรส กล่าวว่า “ถ้าลิ้นของคุณไม่สามารถลิ้มรสความขมได้ คุณควรระมัดระวังการติดเชื้อไวรัสร้ายให้มากกว่านี้”
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 นั้นคือเรื่องของอายุ ที่สามารถพบได้ในกลุ่มวัยกลางคน หรือผู้สูงอายุ ที่มีแนวโน้มจะป่วยจากการติดเชื้อไวรัสร้ายได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรง นั่นคือ ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง จึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ในระยะยาว
ซึ่งจากผลสำรวจยังพบอีกว่า กลุ่มคนที่ไวต่อรสขมนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ที่อายุน้อย อีกทั้งเมื่อโตขึ้นต่อมรับรสขมก็จะทำงานน้อยลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ข้อมูลดังกล่าวจึงสอดคล้องกับความสามารถในการรับรสขมที่น้อยลงในวัยชรานั่นเอง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงวัยติดเชื้อโควิด-19 ได้ค่อนข้างง่าย เนื่องจากการป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ ที่เกิดจากรสขมนั้นทำงานได้น้อยลง ขณะเดียวกันเด็กๆ ที่มักจะไม่ชอบรสขม หรือไม่กินผักที่มีรสขมนั้น ซึ่งแทบจะไม่มีความเสี่ยงในการติดโควิด ในส่วนนี้ก็จำเป็นต้องได้รับการวิจัยเพิ่มเติม
จากผลทดสอบรสชาติต่อความไวรสขมนั้น พบว่ากลุ่มของผู้ที่ไม่ได้ไวต่อรสขมนั้นคิดเป็นจำนวนครึ่งต่อครึ่งถ้าเทียบกับผู้ที่ไวต่อรสขม หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ต่อ 50 ที่สำคัญสำหรับผู้ที่ทดสอบแต่ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่กลุ่มใด ก็จะมีแบบทดสอบการรับรู้รสชาติให้เลือกกรอกข้อมูลผ่านทางระบบออนไลน์อีกครั้ง
ที่สำคัญ สำหรับกับการทดสอบการรับรู้รสชาติของผู้เข้าร่วมวิจัยในการศึกษานี้ ได้ทำการใช้สำลีแยงจมูกเพื่อเก็บสารคัดหลั่งในจมูกไปตรวจ และตรวจเลือดเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน และไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นของการทดลอง ซึ่งหลังจากการทดสอบ ทุกคนได้รับการติดตามโดยนักวิจัยเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน ปี 2020 เพื่อดูว่าพวกเขาติดโควิด-19 หรือไม่ และจากการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มของผู้ที่เข้าร่วมการทดสอบการรับรู้รสชาติทั้งสิ้นจำนวน 266 คนนั้น พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวน 55 รายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และผลการทดสอบการรับรสชาตินั้นปรากฏว่ามีเพียง 15 คน ใน 266 คนที่เป็นผู้ที่ไวต่อรสขม 104 คนกินอาหารรสขมเป็นประจำ และอีก 147 คนเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถรับรสขมได้เลย
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ทำการวิจัยข้อมูลดังกล่าว ระบุว่า “สำหรับกลุ่มคนที่มีต่อมรับรสขมได้น้อย มีโอกาสที่จะป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้สูง หรือคิดเป็น 10% รวมถึงในกลุ่มคนจำนวน 47 ราย จาก 55 รายที่ติดเชื้อและต้องเข้าโรงพยาบาลนั้น มีกลุ่มคนไม่ไวต่อรสขมอยู่ด้วย ตรงกันข้าม สำหรับผู้ที่ไวต่อรสขมนั้น ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วย 55 นี้แต่อย่างใด”
ดร.เฮนรี บาร์แฮม หนึ่งในนักวิจัย กล่าวกับเว็บไซต์ Wine-Searcher ว่า “เมื่อตัวรับรสเหล่านี้ทำงาน พวกมันจะทำหลายสิ่งหลายอย่าง รวมถึงการกระตุ้นให้เซลล์คล้ายเส้นขนอย่าง cilia ผลิตเมือกเพื่อขจัดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ที่เข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจได้มากขึ้น ที่สำคัญร่างกายยังผลิตโมเลกุลไนตริกออกไซด์ ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ได้รับการชี้ให้เห็นว่า สามารถผลิตโปรตีนที่ไปขัดขวางการเจริญเติบโตของไวรัสโควิด-19 ได้”
อีกทั้ง ข้อมูลที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ที่เขียนโดยแพทย์ของอเมริกาอย่าง JAMA Network Open ระบุว่า “ความแตกต่างในการทำงานของตัวรับรสชาติในช่องปากของแต่ละคน ที่เชื่อมโยงกับทางเดินหายใจนั้น อาจสะท้อนถึงภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่เกิดจากการรับรสชาติมีความบกพร่อง และมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อทางเดินหายใจ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าการที่ต่อมรับรสขมทำงานผิดปกติอาจเป็นเพราะมันอักเสบก็เป็นได้ รวมถึงการที่ลิ้นสามารถรับรสได้ดีนั้นจะเชื่อมโยงกับจมูกที่สามารถรับกลิ่นได้ดีเช่นกัน นั่นบอกให้รู้ว่าคุณมีสุขภาพที่ดี”.