หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 27 มี.ค.60 ที่ผ่านมา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จัดเวทีเสวนา เรื่อง “ถกประเด็นร้อน: ผู้ไม่มีตั๋วสมัครสอบบรรจุเป็นครูได้” กรณีคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น…สามารถสมัครสอบบรรจุเป็นครูได้ โดยให้มีการประเมินเพื่อให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ในภายหลัง เพราะอยากได้คนเก่งมาเป็นครู…โดยมีนักวิชาการสายครุ/ศึกษาศาสตร์ ร่วมเสวนา ซึ่งเก็บความนำเสนอดังนี้
รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า มติดังกล่าวกระทบต่อศักดิ์ศรีวิชาชีพครูอย่างมาก การเรียนครูประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วนหลัก คือ ความรู้เนื้อหาที่จะสอน วิธีการสอน และส่วนสำคัญที่สุดคือ จิตวิญญาณความเป็นครู …การที่ ก.ค.ศ.ออกมติมาเช่นนี้เท่ากับว่า ศธ.เลือกคนมาเป็นครูจากเนื้อหาที่เรียนอย่างเดียว โดยไม่สนใจจิตวิญญาณ และเทคนิคในการถ่ายทอด ทำให้ผู้ที่เรียนครู 5 ปีเสียสิทธิ โดยผู้ที่เรียน 4 ปีจากคณะ/สาขาวิชาอื่น มาปาดหน้าสอบเป็นครู ทั้งที่พวกเขามีความตั้งใจและเรียนถึง 5 ปี ฝึกปฏิบัติการสอน อีก 1 ปี ก่อนจะได้ใบอนุญาตฯ และมาสอบเป็นครูผู้ช่วย หาก ศธ.เปิดกว้างให้ผู้ที่จบจากสาขาอื่นมาเป็นครูได้ สุดท้ายจะไม่มีคนมาเรียนครู เพราะเรียนอะไรก็เป็นครูได้ และต่อไปต้องปรับหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ให้เหลือ 4 ปี รวมถึง ปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย
ในปี 2546 เริ่มมี พ.ร.บ.ครูและบุคคลากรทางการศึกษา เกิดระเบียบประกาศข้อบังคับที่เกี่ยวกับมาตรฐานวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา อย่างมากมาย เช่น การกำหนดให้เรียนครู 5 ปี เนื่องจากครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง เป็นอาชีพควบคุมที่ผู้อื่นใดก็ไม่สามารถเป็นครูได้ หากไม่ผ่านกระบวนการบ่มเพาะให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ เพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหาย และนี่เป็นกฎหมายที่ผ่านการรับรองมาแล้ว เมื่อยอมรับในกฎหมาย…ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาเพื่อผดุงเกียรติวิชาชีพครู
“คณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ ต้องบ่มเพาะความเป็นครูให้นิสิตถึง 5 ปี มีการตรวจสอบ มาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการผลิต มาตรฐานบัณฑิต สภามหาวิทยาลัย ต้องอนุมัติอย่างเร่งรีบ เพื่อรีบไปขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพราะทาง สพฐ.ประกาศรับสมัครเร็วมาก เราไม่ได้กลัวการสอบแข่งขัน แต่กลัวการละเมิดสิทธิ์ เด็กควรจะเรียนแค่ 4 ปีแต่มาบังคับให้ผลิต 5 ปี ต้นน้ำสั่ง..เราปฏิบัติตาม..ปลายน้ำหวังว่าจะเป็นครูสังกัด สพฐ. แต่คนอื่นเรียนแค่ 4 ปีก็มาสอบได้โดยไม่ต้องมีใบประกอบใดๆ แต่ทำอย่างนี้เด็กศึกษาศาสตร์เสียสิทธิ์”
รศ.ดร.ชาตรี ฝ่ายคำตา ประธานสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มก. กล่าวว่า กระแสดังกล่าวกลายเป็นกระแสดราม่า ถกเถียงกันมากมาย ฝ่ายที่เห็นด้วยก็เห็นว่าทำไมต้องกีดกัด เปิดโอกาสแบบนี้ดีแล้ว ถ้าเก่งจริงก็ไม่เห็นต้องกลัว…ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็มองว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของวิชาชีพครู บ้านเราดราม่ากันพอแล้ว ผมว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นประเด็นที่เราใช้อารมณ์ และความรู้สึก แต่ขาดข้อมูลเชิงวิชาการ เรามักตัดสินใจอะไรตามความรู้สึก เหมือนอย่างที่กระทรวงกำลังทำอยู่”
“ประเด็นที่ว่า ครูเก่ง หมายถึงอะไร แน่นอนปฏิเสธไม่ได้ว่าครูต้องรู้เนื้อหา แต่ความรู้ในเนื้อหาหรือที่เรียกว่า Content Knowledge ไม่พอแน่นอน เพราะคำว่า Teaching is not Telling การสอนไม่ใช่แค่บอก…ครูควรจะรู้วิธีสอน หรือ Pedagogical Knowledge งานวิจัยมากมายที่บ่งชี้ว่า ครูที่เก่ง คือคนที่มีความสามารถในการจัดกิจกรรม และถ่ายทอดเนื้อหาความรู้และทักษะต่างๆ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัย
…ครูประเภทนี้ คือคนที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ หรือที่เรียกว่า Pedagogical content knowledge เรื่องนี้คนที่อยู่วงการผลิตครูทั่วโลกเขารู้จัก หรือแม้แต่ข้อมูลจาก TDRI ก็มี แต่ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่า Thailand only อีกหรือเปล่าที่ไม่รู้จักเรื่องนี้ ถึงได้มีนโยบายต้องการครูที่มี Content knowledge อย่างเดียว เราลองจินตนาการตาม…คนที่เรียนเนื้อหาเก่ง ถ้าจะให้ไปสอนเรื่องแรงกับเด็ก ป.5 จะทำอย่างไร จะสอนอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กเขาเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ สิ่งเหล่านี้อาศัยความรู้เนื้อหาอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้จิตวิทยาว่าเด็กวัยนี้เขาเรียนรู้อย่างไร วิธีสอนใดเหมาะกับเขา จะวัดด้วยวิธีการใดว่าเขาเรียนรู้แล้ว คนที่เรียนเนื้อหาอย่างเดียวอาจจะไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง”
รศ.น.ท.ดร.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มก.กำแพงแสน กล่าวว่า ประเด็นไม่ใช่การกีดกัน ใจแคบ แต่เราจะเอาหลักการ แนวคิดอย่างไร เรายังต้องการให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงหรือไม่ เราต้องการให้ใครก็ได้มาทำอาชีพครู ใครก็ได้ที่เรียนเก่งเท่านั้นมาสอนลูกเราใช่หรือไม่ ถ้าตอบว่าใช่ ก็ควรยุบสถาบันผลิตครู ยุบคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ทั้งหมดไป และให้รับสมัครครูจากคณะหรือสาขาอะไรก็ได้ โดยการสอบคัดเลือกเอาคนเก่งเท่านั้น”
ท้ังนี้ รศ.น.ท.ดร.สุมิตร ได้ให้ข้อเสนอการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ควรจะดำเนินการ เช่น อย่าเปลี่ยนตัว รมต.ศึกษาธิการ บ่อย (16 ปี 15 คน) การประเมินเข้าสู่ตำแหน่งวิทยฐานะ/ความก้าวหน้า ควรพิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ทางเรียนของเด็กย้อนหลัง 5-10 ปี (ไม่ใช่เน้นเอกสาร) และสร้างโรงเรียนดีประจำจังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 โรงเรียน เพื่อไปเป็นนักวิชาการของประเทศ โดยการสอบเข้าเท่านั้น และจำกัดจำนวนนักเรียนห้องเรียนละไม่เกิน 30 คน”
ทิ้งท้ายที่ ดร.พัทธโรจน์ กมลโรจน์สิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนแสงวิทยา และว่าที่นายกสมาคมนิสิตเก่า คณะศึกษาศาสตร์ มก. กล่าวว่า ในฐานะผู้ใช้บัณฑิต มีความเห็นว่าจากประสบการณ์สอบสัมภาษณ์ครู มา 5 ปี พบว่า ครูภาษาไทยไม่เก่งภาษาไทย ครูภาษาอังกฤษไม่เก่งภาษาอังกฤษ โรงเรียนกวดวิชาต่างๆ ติวเตอร์ไม่ได้จบครู การเปิดสอบแบบนี้จะทำให้ สพฐ.มีคนเก่งมาสอบมากขึ้น แต่ก็เป็นน่าห่วงว่าโรงเรียนเอกชน จะได้ผลกระทบหนัก เพราะครูเอกชนจะไปสอบบรรจุกันหมด
/////////////////////////
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ