นพ.พลเดช ปิ่นประทีป วุฒิสมาชิก โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “นพ.พลเดช ปิ่นประทีป” ใจความว่ารายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 126)“ปฏิรูปการศึกษาจากชายขอบ” โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป, 18 เม.ย. 2565
ในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) รู้สึกเป็นห่วงเป็นใยและมีความเห็นแยกกันเป็นหลายแนว คือ กรณีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน กำลังจะถูกยุบหรือควบรวม ซึ่งมีจำนวนมากถึง 15,000 แห่ง
แต่นั่นก็เป็นผลกระทบที่เกิดกับโรงเรียนในกระแสหลัก จากโครงสร้างประชากรและอัตราเกิดของเด็กไทยที่ลดลงแบบฮวบฮาบ ส่วนโรงเรียนการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษซึ่งตามปกติจะอยู่ในระดับชายขอบ ยังไม่เกิดผลกระทบ ตรงกันข้ามอาจมีบทบาทเป็นจุดเริ่มสำหรับการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้
ท่านผู้สนใจหรืออยู่ในแวดวงการศึกษาคงทราบดีว่า ภายในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ มีหน่วยงานหนึ่งที่ชื่อสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ (Special Education Bureau) เป็นหน่วยงานย่อยที่มีหน้าที่ดูแลกลุ่มโรงเรียนสำหรับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งกระจายตัวอยู่ในเกือบทุกจังหวัดของประเทศ
ประกอบด้วย โรงเรียนเฉพาะความพิการ 48 แห่ง โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 52 แห่ง และศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 ศูนย์ ในภาพรวม โรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ ล้วนเป็นมิใช่หน่วยจัดการศึกษา “กระแสหลัก” หากแต่เป็นส่วนที่อยู่ “ชายขอบ” ของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์
กล่าวสำหรับ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเด็กนักเรียนด้อยโอกาส 10 ประเภท ซึ่งหมายถึงเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาทางสังคม บกพร่องทางการเรียนรู้ พฤติกรรม และมีอุปสรรคต่อการได้รับบริการทางการศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ เช่น เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงาน เด็กเร่ร่อน เด็กที่อยู่ในธุรกิจบริการทางเพศ เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ เด็กยากจนมากเป็นพิเศษ เด็กในชนกลุ่มน้อย เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ เด็กในสถานพินิจและคุ้มครอง
ในปี 2505 คราวที่เกิดพายุโซนร้อนชื่อ “แฮเรียต” พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทย ยังความเสียหายให้เกิดแก่จังหวัดภาคใต้ถึง 12 จังหวัด พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์(ในพระบรมราชูปถัมภ์)ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยพิบัติโดยสร้างโรงเรียนให้ใหม่ และต่อมาได้ขยายไปสู่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ในพื้นที่อื่นๆ จึงมีชื่อเรียกขานว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ตามด้วยเลขหมายที่เรียงกันมาตามลำดับ จาก 1 ถึง 38
โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์
ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ มิถุนายน 2564) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ทั้ง 52 แห่ง มีนักเรียนรวมทั้งสิ้น 33,949 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนประจำ มีมากถึง 31,361 คน (92.4%) ที่เหลือเป็นนักเรียนแบบไปกลับ 2,588 คน (7.6%) ในด้านระดับการเรียนการสอนนั้น มีตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1-3 ประถมศึกษา 1-6 มัธยมศึกษา 1-6 และ ปวช.1-3 โดยในภาพรวมเด็กส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย และประถมศึกษาตามลำดับ
เด็กประเภทด้อยโอกาส มีจำนวนมากถึง 27,210 คน(88.1%) ไม่มีบัตรประชาชนเลข 13 หลักจำนวน 640 คน (1.9%) เป็นเด็กพิการ 4,029 คน(11.9%) ส่วนใหญ่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ บกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ บกพร่องทางสติปัญญา และออทิสติค ตามลำดับ
ร.ป.ค.15 ดิจิทัลทั้งระบบ
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 เป็นโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตัวอย่างที่สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างมั่นคงจนกลายเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาโรงเรียนหลักของอำเภอและกำลังเป็นโรงเรียนต้นแบบการปฏิรูปการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ เป็นแนวทางรูปธรรมสำหรับกระบวนการปฏิรูประบบการศึกษาและการออก พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่
เมื่อปี 2555 โรงเรียนได้ลงทุนจัดหาคอมพิวเตอร์จำนวน 150 เครื่อง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในสื่อโซเชียล แต่ด้วยการที่ใช้งบประมาณที่หามาได้เอง จากการระดมผู้บริจาคผ่าน “ผ้าป่าการศึกษา” จึงสามารถก้าวข้ามเหตุการณ์มาได้ นอกจากนั้นโรงเรียนยังได้ปรับหลักสูตรทุกชั้นเรียนเป็นดิจิทัลทั้งระบบ ลดการใช้กระดาษ มีแอพลิเกชั่นบันทึกข้อมูลพฤติกรรมและผลการเรียน
ในปี 2559 เด็กนักเรียนสามารถเรียนหนังสือได้โดยผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ โรงเรียนยอมจ่ายค่าเช่าสัญญาณโทรศัพท์เพิ่มเป็น 20,000 บาทต่อเดือนโดยไม่กลัวว่าเด็กจะใช้อินเตอร์เน็ทในทางที่ผิด เพราะมั่นใจว่าพวกเขาเป็นคนดี เป็นเด็กดี
จนกระทั่งเมื่อเกิดปัญหาโควิด 19 ในเวลาต่อมา ในขณะที่ส่วนกลางสั่งการให้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศใช้การเรียนการสอนระบบทางไกล “ออนไลน์ 100%” (Online 100%) แต่เมื่อ ร.ป.ค.15 พบปัญหาเด็กจำนวนมากไม่มีอุปกรณ์ในขณะที่ระบบดิจิทัลในโรงเรียนมีพร้อม จึงจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนตามปกติ “ออนไซท์ 100%” (Onsite 100%)
CR : เพจ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป