ทปอ.รับเคลียริงเฮาส์ TCAS รอบ 3/2 ยังมีปัญหากั๊กที่นั่ง แต่เชื่อปัญหาจะลดลง แจงคัดเลือกเด็กตามลำดับไม่ได้ เพราะมหาวิทยาลัยมีเกณฑ์พิจารณาเอง ห่วงเด็กคะแนนสูงยังไม่รู้จักตัวตน เป้าหมายไม่ชัดเจนในการเลือกเรียน
วันที่ 30 พ.ค.2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีการประชุมหารือกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS รอบที่ 3 โดยเฉพาะกรณีการกั๊กที่นั่ง จนกระทั่งมีการนัดรวมตัวกันที่ี สกอ.ในวันที่ 31 พ.ค. 2561 ซึ่งมีผู้ปกครองบางส่วนเข้าร่วมหารือด้วยนั้น
ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการ ทปอ. แถลงภายหลังการประชุมว่า จากข้อกังวลและร้องเรียนเรื่องดังกล่าว ทปอ.จึงมีการหารือและแก้ไขปัญหาโดย เพิ่มการเคลียริงเฮาส์ TCAS รอบ 3 เป็น 2 รอบ โดยในรอบที่ 3/1 ตรงกับวันที่ 1-3 มิ.ย.2561 หลังจากยืนยันสิทธิ์แล้วจะนำที่นั่งที่ยังว่างส่งกลับคืนมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยคัดเลือกเด็กและส่งรายชื่อกลับคืนมา เพื่อเคลียริงเฮาส์รอบ 3/2 โดยให้มีการสอบสัมภาษณ์พร้อมกันวันที่ 10-11 มิ.ย.2561 โดยนักเรียนไม่ต้องสมัครใหม่หรือชำระเงิน เพราะจะใช้ 4 ตัวเลือกเดิมในการนำมาประมวลผล
ทั้งนี้ หากนักเรียนไม่ได้รับคัดเลือกในรอบ 3/1 ทั้ง 4 ตัวเลือกจะนำมาพิจารณาในรอบ 3/2 ทั้งหมด แต่หากได้รับการคัดเลือกแล้ว แต่พิจารณาแล้วว่าตัวเลือกอื่นที่ยังไม่ติด มีโอกาสที่จะติดในรอบ 3/2 ก็สามารถสละสิทธิ์ได้ แต่สาขาที่สละสิทธิ์นั้นเท่ากับสละสิทธิ์ไปเลย ไม่มีการนำมาพิจารณาใหม่ในรอบ 3/2
ต่อข้อถามถึงรอบ 3/2 ก็จะยังมีปัญหาการกั๊กที่ เพราะหากคะแนนถึงก็สามารถติดได้ทุกอันดับ ผศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า ในอดีตการวิ่งรอกสอบก็มีการกั๊กที่จำนวนมาก อาจจะมากกว่า 10 ที่ และทางมหาวิทยาลัยไม่ทราบเลยว่า เด็กสละสิทธิ์หรือไม่ ส่วนระบบ TCAS รอบ 3 จะทำให้การกั๊กที่น้อยลงจาก 10 กว่าที่เหลือเพียง 4 ที่ และพอมีรอบ 3/2 ก็จะทำให้การกั๊กที่น้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะนักเรียนที่สอบติดกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ซึ่งมีประมาณ 2,000 กว่าคนเท่านั้น ได้มีการยืนยันสิทธิ์ไปแล้ว
ดังนั้น การกั๊กที่จากเด็กกลุ่มนี้จะไม่เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าจะทำให้ปัญหาการกั๊กที่นั่งลดลง 70-90% แต่คงตอบไม่ได้ว่าจะหายไปทั้งหมด ทั้งนี้ ปัญหาการกั๊กที่นั่ง มองว่าจะเกิดในมหาวิทยาลัยดังที่เด็กทุกคนอยากเข้าเรียน เชื่อว่าจะเกิดกรณีรุนแรงไม่น่าจะเกิน 5 มหาวิทยาลัยดังที่เด็กอยากเข้าเท่านั้น
ต่อข้อถามถึงข้อเสนอให้ TCAS รอบ 3 มีการจัดลำดับในการเลือก เพื่อไม่ให้เกิดการกั๊กที่นั่ง ผศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า เรื่องนี้ ทปอ.ไม่สามารถทำได้ เพราะ TCAS รอบ 3 เป็นการรับตรงของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเกณฑ์ในการคัดเลือกแตกต่างกัน ทปอ.ทำหน้าที่เป็นเพียงหน่วยงานประสานเท่านั้น ไม่ได้มีเกณฑ์กลาง หรือเป็นผู้กำหนด ต่างจากรอบ 4 แอดมิสชั่นส์ ที่ ทปอ.สามารถจัดลำดับได้ เพราะมีเกณฑ์กลางในการคัดเลือกเด็ก ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่ามีผู้ยืนยันสิทธิ์ TCAS รอบที่ 1 และ 2 แล้วและไม่มีการสละสิทธิ์จำนวน ประมาณ 120,000 คน ส่วนรอบที่ 3 มีผู้สมัครจำนวน 106,000 คน แต่มีที่นั่งรองรับ 100,300 ที่นั่ง
“ขณะนี้สิ่งที่ผมเป็นห่วง ไม่ใช่ปัญหาเรื่องการกั๊กที่ แต่เป็นประเด็นที่เด็กกลุ่มได้คะแนนสูงเลือกทั้งคณะแพทย์ในส่วนของ กสพท. และยังไปเลือกคณะนิเทศศาสตร์ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กไม่มีความชัดเจนในเป้าหมายการเรียนและในชีวิต ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะเท่ากับเด็กไม่รู้จักตนเอง อาจจะส่งผลต่อการเรียนในอนาคต อีกทั้งสะท้อนให้เห็นว่าเด็กไม่สนใจเรียนในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ แต่มองว่าตัวเองคะแนนสูงจะเรียนในสาขาใดก็ได้ ดังนั้น ผมคิดว่าการที่จะมาคิดว่าการกั๊กที่เป็นเรื่องน่ากลัว เราควรจะกลัวอนาคตของประเทศก่อนดีหรือไม่ หากเด็กเลือกมหาวิทยาลัยจากคะแนนสูงอย่างเดียว”
ผศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวและว่า สำหรับประเด็นที่สังคมมองว่าการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยเพราะต้องเสียค่าสมัครนั้น ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยอาจจะมีรายได้จากการสมัครจริง เนื่องจากระบบการรับตรงอิสระมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้จัดสอบ กำหนดค่าสมัคร และเกณฑ์ต่างๆ เป็นไปตามมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ซึ่งทำให้เด็กวิ่งรอกสอบและต้องเสียค่าสมัครจำนวนมาก รวมถึงบางคนต้องเสียค่าเดินทาง ค่าที่พัก หรือบางมหาวิทยาลัยต้องเสียค่าเล่าเรียนเพื่อจองมหาวิทยาลัยไว้ และบางคนสามารถสมัครได้ถึง 10 มหาวิทยาลัย แต่ในระบบทีแคสรอบ 3 นี้ เป็นการแก้ปัญหาวิ่งรอกสอบและลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง ซึ่งนักเรียนจะเสียค่าสมัครตามที่นักเรียนเป็นคนเลือกเท่านั้น ซึ่งหากเลือก 4 อันดับ จะเสียค่าสมัครมากสุดเพียง 900 บาท เท่านั้น
“ทปอ.จะพัฒนาระบบให้ดีขึ้นแน่นอน ทั้งนี้ระบบ TCAS ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาที่มีในประเทศ ซึ่งยอมรับว่าอาจมีความไม่สมบูรณ์แบบ ถ้าเห็นก็ต้องแก้ไข หากทำให้น้องๆ รู้สึกกังวลใจเดือดร้อนเมื่อจัดการแล้วทำให้เกิดข้อกังวลใจเพิ่มขึ้นมาก็พร้อมขอโทษ ซึ่งระบบนี้คิดว่าพยายามสร้างสมดุลของระบบที่ไม่มีทางเลือกเลย และให้ทางเลือกสมดุลและลดความไม่เป็นธรรม” ผศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ