นายกสมาคมลูกจ้างฯ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนตำแหน่ง “ภารโรง” ให้โรงเรียนชายขอบ เผยครูต้องแบกรับหน้าที่ทุกอย่าง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการสอนลดลงไปด้วย แถมไม่มีงบจากทางการ ต้องทอดผ้าป่าลงขันจ้างภารโรง!!
ถึงขั้นทอดผ้าป่าจ้างภารโรงกันเอง!?!
“บางโรงเรียนไม่มีงบจ้างภารโรง ครูก็ต้องเปลี่ยนเวรกัน ผอ.ก็ต้องมาปิด-เปิดหน้าต่าง ทำหมดครับ ครูก็ต้องไปส่งหนังสือแทน บางโรงเรียนมีนักเรียนอยู่ 50 คน บางทีเหลือครูคนเดียวก็มี มันเหนื่อยมากนะสภาพปัญหา บางโรงเรียน ชาวบ้านบอก ผอ.ไม่มีไม่เป็นไร แต่ขอให้มีภารโรง เพราะภารโรงก็ต้องดูแลลูกเขาด้วย ดูแลสถานที่”
“วิชาญ ชัยชมภู” นายกสมาคมลูกจ้างส่วนราชการการศึกษา เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live หลังจากที่เขาและทีมงาน เข้ายื่นหนังสือถึง ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องขอตำแหน่งภารโรงคืนให้สถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ในรูปแบบการจ้างเป็นพนักงานราชการ ชื่อตำแหน่งพนักงานบริการ โดยมี นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมารับหนังสือแทน
นายกสมาคมลูกจ้างส่วนราชการการศึกษา เล่าถึงเหตุผลของการมายื่นหนังสือในครั้งนี้ว่า การที่โรงเรียนขาดพนักงานบริการหรือภารโรงนั้น เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนานและส่งผลกระทบในหลายด้าน
“มีมติ ครม.เมื่อปี 48 ให้ยกเลิกตำแหน่งลูกจ้างประจำทุกสังกัดทั่วประเทศ โดยไม่ให้มีการบรรจุต่อ เกษียณ ลาออก ตาย หายไปหมดเลย
ช่วงใหม่ๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่ตอนหลังตำแหน่งมันยุบไปหมด สพฐ.ก็ไปของบประมาณจากสำนักงบประมาณมาจ้างเป็นอัตราจ้าง ค่าจ้าง 9,000 บาทต่อเดือน แต่ทีนี้ถ้าอัตราจ้างตรงนั้นลาออก สพฐ.ก็จะดึงตำแหน่งนั้นคืนไป งบก็หายไป ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อโรงเรียน
ถ้าโรงเรียนไหนไม่มีงบที่ สพฐ.ตัดไป โรงเรียนต้องไปทอดผ้าป่า ชาวบ้านก็ลงขันกัน หาเงินมาจ้างคนที่จะมาดูแลทำความสะอาดโรงเรียนทุกๆ อย่าง จ้าง 5,000 บ้าง 7,000 บ้าง
ทั้งที่เงินตรงนั้นน่าจะตกถึงนักเรียน ได้เป็นค่าอาหาร ค่านม ค่าพัฒนาโรงเรียน เกิดความลำบากมากครับ ผมสงสารโรงเรียน สงสารนักเรียน ในฐานะผมก็เป็นลูกจ้าประจำคนนึง อดีตก็เคยเป็นภารโรง ก็รู้บริบทตรงนี้”
เมื่อไม่มีผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ภารโรง ภาระหน้าที่ในส่วนนี้จึงตกไปอยู่ที่ครู โดยเฉพาะครูโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องทำทุกอย่างนอกเหนือจากการสอนหนังสือ และแน่นอนว่าย่อมส่งผลให้ประสิทธิภาพในการสอนลดลงไปด้วย ยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาอย่างชัดเจน
“ยิ่งโรงเรียนบ้านนอก โรงเรียนชายขอบ เวลากิจกรรมของหมู่บ้าน มีงานอะไรต่างๆ ถ้ามีภารโรง เขาจะส่งภารโรงเป็นตัวแทนเข้าไปช่วย อันนี้ต้องส่งครูไป ครูก็ทิ้งการเรียนของเด็กอีก
อย่างสังคมเมืองไม่มีปัญหาหรอก โรงเรียนใหญ่ๆ เขามีศักยภาพอยู่แล้ว แต่โรงเรียนเล็กๆ ที่มีนักเรียน 100-200 คน ไม่มีลูกจ้างนี่ตายเลยครับ ลองคิดดู ค่าอาหารเด็กรายหัว 23 บาท บนดอยก็ 23 ข้างล่างก็ 23 แต่ข้างล่างมันมีเงินอุดหนุนตัวอื่น
ผู้ใหญ่เขานั่งอยู่ในห้องแอร์ ผมอยากให้ขึ้นไปดูแม่อาย อมก๋อยต่างๆ ยิ่งหน้าฝนไม่ต้องพูดถึง ต้องใช้มอเตอร์ไซค์วิบากขึ้นไป ผมว่าผู้ใหญ่เขามองข้ามปัญหาตรงนี้ เรื่องระบบบริหารที่เพิ่มอัตราของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไปเรื่อยๆ บางหน่วยงานกองกันเต็ม C8 C9 แต่ทำไมไม่ถ่ายตรงนั้นให้เป็นอัตราของภารโรงคืนมา ผมไม่ได้โจมตีนะแต่ผมมองด้วยความเป็นจริง”
ภารโรง = รั้วของโรงเรียน
ทั้งนี้ นายกสมาคมลูกจ้างส่วนราชการการศึกษา ยังชี้ให้เห็นถึงผลของการมีพนักงานบริการในโรงเรียน ที่จะทำให้เกิดการจ้างงานคนในพื้นที่อีกด้วย
“ที่อยู่ได้ส่วนใหญ่เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ อยู่ได้เพราะเงินทอดผ้าป่าเป็นปีๆ ไป บางโรงเรียนภารโรงมีประสบการณ์ก็สอนวิชาลูกเสือ สอนเด็กปลูกผัก สอนได้หมดครับ
แล้วลักษณะการนอนเวร ถ้าเป็นครูต่างพื้นที่เขาก็จะมีบ้านพักอยู่ในโรงเรียน มีครูผู้หญิงผู้ชายคละกัน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง ภารโรงก็จะนอนอยู่ในโรงเรียน เหมือน รปภ.ในตัว ดูแลความปลอดภัยของครูด้วย ของนักเรียนด้วย
จ้าง 1 คนคุ้มที่สุดเลย เป็นเสารั้วหลักของโรงเรียน ไม่ต้องมี รปภ.เพราะเป็นคนในพื้นที่ ชาวบ้านนับหน้าถือตาด้วยว่าดูแลลูกเขา อาชีพตรงนี้ต้องกลับคืนมาให้ได้ กลับสู่โรงเรียนให้ได้”
วิชาญ หวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน และพิจารณาให้มีการบรรจุตำแหน่งพนักงานบริการขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่างยั่งยืน
“ที่ผมกราบเรียนประธานสภาฯ ก็อยากให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กรรมาธิการการศึกษา อยากให้สำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง กรมสวัสดิการ สพฐ. กระทรวงศึกษาฯ มานั่งถกกันเรื่องนี้ ว่าขอให้มีการบรรจุตำแหน่งนี้ ว่ากันมาเลยว่าปีนึงจะได้เท่าไหร่ จะเอางบตรงไหนมาอุด
ที่ไปขอตำแหน่งพนักงานราชการก็คือ ใช้งบประมาณไม่เยอะ เพราะที่ขอเป็นตำแหน่งพนักงานบริการ งบประมาณที่จะใช้ก็ไม่มาก ทยอยบรรจุไป อันดับแรกสำนักงบประมาณจัดสรรให้แล้ว 9,000 บาท ตำแหน่งนี้สูงสุดก็คงจะไม่เกิน 15,000
แต่มันมีความมั่นคงตรงที่ว่าเป็นตำแหน่งพนักงานราชการ เข้าประกันสังคมได้ อยู่ไปถึงเกษียณได้เลย เขาจะได้มีสวัสดิการ มีขวัญกำลังใจ ไม่มีการเปลี่ยนตัวบุคคลที่เข้ามาทำงาน ก็จะเกิดความรักองค์กร
มีบริบทการทำงานเหมือนภารโรงทุกอย่าง ทำความสะอาดสถานที่ อะไรสึกหรอเสียหายก็ซ่อมแซม คนในพื้นที่ก็จะเป็นคนของหมู่บ้าน เหมือนมีรั้วรักษาความปลอดภัยในตัว ชาวบ้านก็ให้ความไว้วางใจครับ”
สุดท้าย เขาในฐานะที่อยู่ในแวดวงการศึกษามายาวนาน ก็หวังว่าการยื่นหนังสือครั้งนี้จะเกิดเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี เพราะการศึกษาคือรากฐานสำคัญที่จะพาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
“ถ้าแก้ได้จะเป็นรากหญ้าของการศึกษา ตัวผมเองก็ยังอยู่ในระบบอยู่ ก็ยังต้องสู้ตรงนี้อยู่ ถึงจะเกษียณไปผมก็จะผลักดันให้ไปสู่ภาคการเมือง ขอให้มีพรรคใดพรรคหนึ่งกำหนดเป็นนโยบายเลย 1 ภารโรง 1 โรงเรียน
ปัญหามันเรื้อรัง ในสายผู้บริหารผมไม่ทราบนะว่าท่านจะดิ้นหรือไม่ดิ้น ในสายล่างผมสงสารโรงเรียน ในฐานะที่ปีนี้ผมก็เกษียณด้วย ก็อยากทำอะไรให้มันเกิดขึ้นเป็นมรรคเป็นผลต่อประเทศชาติบ้านเมือง ในมุมองคาพยพ ถ้าการศึกษามันดี ประเทศมันก็จะดีครับ”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก “วิชาญ ชัยชมภู”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **