การได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานอาสาสมัครเคลื่อนที่ทางด้านทันตกรรมกว่า 13 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ทำให้ ทพ.กฤษฎา ทิรานนท์ นิสิตเก่าคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พบปัญหาเครื่องมือทางการแพทย์ การเคลื่อนย้ายอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายจำนวนมากต่อครั้งในการเดินทางไปในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร
จึงริเริ่ม “โครงการหน่วยทันตกรรมอาสา ตามรอยพ่อ” เพื่อเข้าช่วยเหลือสุขภาพอนามัยทางช่องปากให้กับผู้อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง เช่น ผู้พิการ คนไร้ที่พึ่งในสถานสงเคราะห์ต่างๆ เยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครอง หน่วยงานของกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งสามเณรพระภิกษุในโรงเรียนพระปริยัติธรรม
ทีมงานทั้งหมดเป็นจิตอาสาประกอบด้วย ทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ทีมสนับสนุนฝ่ายดูแลเครื่องมือทางการแพทย์ โดยภารกิจหลัก คือเป็นหน่วยทันตกรรมที่ดูแลในพื้นที่ อย่างกทม. และปริมณฑล รวมทั้งเขตพื้นที่ไม่ไกลจากกทม.
“เราออกไปตามจังหวัดต่างๆ ที่เขาขอมา ปีละ 4 ครั้ง ครั้งละหลายวัน แต่ตามต่างจังหวัดมีหน่วยที่เข้าช่วยเหลือแบบนี้มากมายอยู่แล้ว เลยมองย้อนกลับมาว่ายังมีคนด้อยโอกาสในเขตเมืองอีกมาก ก็เลยคิดโครงการขึ้นมา”
ทพ.กฤษฎากล่าวว่า เพราะในพื้นที่เขตเมืองอย่างกทม.และปริมณฑล ก็ยังมีคนด้อยโอกาสและองค์กรที่อนุเคราะห์คนกลุ่มนี้จำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาและบริการด้านทันตกรรม อีกทั้งบุคลากรการแพทย์และอาสาสมัครมักจะว่างเว้นจากงานประจำเพียงวันหยุดเสาร์อาทิตย์เท่านั้น
และเนื่องจากมีผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากเลือกที่จะมารับบริการเฉพาะวันที่มีหน่วยเคลื่อนที่มารักษาส่งผลให้จำนวนคนรอรับบริการมากเกินกว่าที่กำหนด
การให้บริการรักษาด้านทันตกรรมเป็นที่ขาดแคลน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าบริการได้ เช่น ทัณฑสถานหญิงกลาง มีการสำรวจว่า จำนวนผู้ต้องขังประมาณ 6,000 คน ที่มีคำร้องให้ช่วยเหลือเบื้องต้นจากอาการปวดฟันประมาณ 2,000 คน โดยกรมราชทัณฑ์จะส่งทันตแพทย์ 1 คน เข้ามารักษาอาทิตย์ละหนึ่งวัน จึงรักษาได้เฉพาะผู้ที่เข้าข่ายจำเป็นเท่านั้น
“คนไข้ส่วนใหญ่ รอคิวถอนฟันมา 4 – 5 ปี ก่อนจะมาถึงมือผมและทีมงาน ผมก็มานั่งคิดว่าแล้วคนที่เหลือเขาจะทำยังไง เลยถามเข้าไปในกลุ่มที่เคยไปช่วยรักษาว่า ‘จะไปอีกไหม’ ทุกคนบอกว่า ‘อยากไปทำอีก’ เราจึงไปให้บริการทั้งเสาร์อาทิตย์ ทำได้เกือบๆ 1,000 คน ปีหน้ามีแผนจะเข้าไปทำอีก”
ทพ.กฤษฎาและทีมดัดแปลงเครื่องมือระบบฆ่าเชื้อที่ทำงานได้เร็วกว่าปกติสามเท่า ช่วยให้ฝ่ายจัดการรวมทั้งหมดประมาณ 70 คน สามารถให้การรักษา 300 – 400 คนต่อครั้ง
แต่ปัญหาสำคัญคือ การนำอุปกรณ์และเครื่องมือทันตกรรมเข้าไปให้การรักษา
“ตอนที่ผมทำในหน่วยใหญ่ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์หลายชิ้นมาประกอบกัน ขนย้ายยุ่งยากต้องใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ ต้องมีพื้นที่จัดเก็บมาก จากเดิมมีปัญหาอะไรในหน่วยใหญ่ ผมจะปรับปรุงภายในหน่วยนั้นให้สมบูรณ์แต่ก็ยังไม่ใช่เครื่องมือแบบที่อยากได้อยู่ดี”
ดังนั้น คุณหมอจึงทดลองปรับปรุงยูนิตเป็นแรงผลักดันให้คุณหมอคิดค้น “อุปกรณ์ทันตกรรมเคลื่อนที่แบบพับเก็บได้ (Portable mobile dental unit)” และจดสิทธิบัตร โดยได้เพื่อนสนิทนิสิตเก่าจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มาช่วยดูแลเรื่องการผลิต เป็นการรวมเอาระบบอุดฟันและขุดหินปูนรวมทั้งไฟส่องปากและชุดดูดน้ำลายพร้อมที่บ้วนปากคนไข้ที่สามารถระบายทิ้งโดยอัตโนมัติไว้ในชุดเดียวกัน
อุปกรณ์ทั้งหมดเก็บไว้ในกล่องโลหะเคลื่อนย้ายสะดวกแบบกระเป๋าเดินทาง เมื่อเอาอุปกรณ์มาติดตั้งจะกลายเป็นพื้นที่วางเครื่องมือที่ใช้รักษา
ทพ.กฤษฎากล่าวว่า “เครื่องมีองค์ประกอบใกล้เคียงกับอุปกรณ์ในคลินิก ต่างตรงที่แต่ละชุดสามารถต่อพ่วงกันได้ 2 – 10 ชุดระบบต่อกับปั๊มลม ถังน้ำ และไฟฟ้าที่ชุดแรกเท่านั้น ทำให้ประหยัดพื้นที่และจัดเก็บขนย้ายสะดวกมากขึ้น”
ทพ.กฤษฎากล่าวว่า “เครื่องมือตัวนี้ ใช้เพียงรถตู้คันเดียว ก็สามารถบรรจุอุปกรณ์ได้ 10 ตัว ให้ทันตแพทย์แต่ละคนมี “อุปกรณ์ทันตกรรมเคลื่อนที่แบบพับเก็บได้” เพื่อเป็นเครื่องมือสำรองกรณีที่เครื่องมือหลักเสียก็สามารถนำตัวนี้มาใช้ทดแทนได้ และถ้าทันตแพทย์ในจังหวัดนั้นต้องการออกหน่วยพิเศษสามารถนำยูนิตพกพาออกพื้นที่ได้ทันที
ถ้ามีทันตแพทย์มาทำแบบนี้ร่วมกัน หมอหนึ่งคนแพ็คเครื่องมือไป 20 ชุดได้คนไข้ 20 คน สมมติมีหมอ 10 คนก็ได้ 200 คนเข้าไปแล้ว พอเสร็จทุกคนก็เก็บของตัวเองกลับบ้าน ทำให้ทุกคนมีเครือข่ายกระจายความช่วยเหลือไปอย่างทั่วถึง เร็วกว่าและประหยัดงบประมาณต่างๆ ได้มากกว่าการรอความช่วยเหลือจากส่วนกลาง”
ทพ.กฤษฎาเผยถึงโครงการในอนาคตเมื่อระบบที่พัฒนานี้ปรับปรุงจนเสร็จสมบูรณ์ว่า ในแต่ละจังหวัดควรมีหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ของจังหวัด สร้างเครือข่ายหน่วยทันตกรรมขนาดเล็กภาคเอกชนให้ดูแลประชาชนในพื้นที่ตัวเองกระจายไปทั่วประเทศ และเกิดการระดมทุนเพื่อองค์กรการกุศลที่มีหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ได้รับอุปกรณ์ที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน
“เราต้องนำเสนอในการจัดตั้งหน่วยระดับย่อยๆ ในชุมชนก่อน เขาจะร่วมมือกันทั้งบุคลากรภาครัฐและนักลงทุนในจังหวัดเขาเอง”
ปัจจุบัน ทพ.กฤษฎาและทีมงานหน่วยทันตกรรมอาสาตามรอยพ่อ ยังเข้าร่วมกับหน่วยทันตกรรมในนาม มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ซึ่งเป็นโครงการพิเศษทุก 6 เดือนสำหรับมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีด้วย
“ตอนนี้ครอบครัวผมก็ลงตัวแล้ว ผมสามารถลงมาทำตรงนี้อย่างเต็มที่ อย่างคนที่เป็นทันตแพทย์เอกชน ปิดคลินิกแล้วไปกันถือเป็นการทำบุญ ทุกคนที่ได้ร่วมทำกับเราอิ่มใจทุกคน เห็นคนไข้เข้ามาทรมานมากพอได้ทำ ทำให้เรายิ้มรู้สึกสบายใจ บางคนไม่ได้เกี่ยวข้องทางการแพทย์เลยแต่เขามีจิตอาสา บางคนก็ให้เครื่องมือหรือทุนทรัพย์ ทุกคนมีหน้าที่ในการได้ช่วยเหลือผู้คน”
“ศูนย์สื่อสารองค์กรจุฬาฯ”
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ