- ดิกเคนส์ โอเลเว
- บีบีซี นิวส์
หลายชาติในแอฟริกาไม่ได้อยู่ในกลุ่มชาติที่เรียกร้องให้จีนออกมายอมรับการปฏิบัติต่อประชากรชาวมุสลิมอุยกูร์ส่วนใหญ่ในภูมิภาคซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ความจริงแล้วนักการทูตแอฟริกาบางส่วนเพิ่งเข้าร่วมการประชุมในกรุงปักกิ่งและสนับสนุนนโยบายของจีนในภูมิภาคดังกล่าว
เชื่อว่า ชาวอุยกูร์อย่างน้อย 1 ล้านคน ถูกควบคุมตัวไว้ในซินเจียงในค่ายหลายแห่งที่กระจายอยู่ทั่วไป จีนเผชิญกับข้อกล่าวหาบังคับใช้แรงงาน บังคับทำหมัน ทรมาน และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งจีนปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
รัฐบาลจีนปกป้องค่ายกักกันเหล่านี้ โดยอ้างว่า ค่ายเหล่านี้เป็น “ศูนย์ให้การศึกษาใหม่” เพื่อการฝึกอาชีพ เป็นการต่อต้านการก่อการร้ายและความสุดโต่งทางศาสนา
“ชาติตะวันตกบางส่วนที่กำลังปลุกเร้าสิ่งที่เรียกว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับซินเจียง จริง ๆ แล้วกำลังโจมตีจีนโดยไม่ได้มีการยั่วยุใด ๆ เพื่อสนองตอบแรงจูงใจที่แอบแฝงซ่อนเร้นของตัวเอง” อาดามา คอมเปาเร ทูตบูร์กินาฟาโซ กล่าวในงานที่จัดขึ้นเมื่อเดือน มี.ค. ซึ่งมีชื่องานว่า ซินเจียงในสายตาของทูตแอฟริกาในจีน (Xinjiang in the Eyes of African Ambassadors to China)
งานดังกล่าวยังมีทูตของซูดานและสาธารณรัฐคองโกเข้าร่วมด้วย มีรายงานว่านายแดเนียล โอวาสซา ทูตของสาธารณรัฐคองโก กล่าวว่า เขาสนับสนุนสิ่งที่เรียกว่า ชุดมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาค โดยระบุว่า เขารู้สึกชื่นชนม “ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาหลาย ๆ ด้านในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในซินเจียง”
ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch–HRW) ระบุว่า การประชุมดังกล่าวเป็นตัวอย่างของการสงบปากสงบคำของแอฟริกาในเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกกังวล
“อาจเป็นการทูตที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่การที่รัฐบาลแอฟริกาชาติต่าง ๆ จงใจไม่ออกมาพูดเกี่ยวกับการกดขี่สิทธิของรัฐบาลจีนได้ทำให้เกิดผลกระทบขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง” คารีน คาเนซา นันทูเลีย ผู้อำนวยการที่ปรึกษาด้านแอฟริกาของ HRW ระบุในแถลงการณ์
“[ชาวแอฟริกัน] มักจะหาเหตุผลประณามความเมินเฉยของประเทศต่าง ๆ ต่อชะตากรรมของพวกเขา และต้องการให้ชาวโลกเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ยากของผู้คน” เธอกล่าวเพิ่มเติม
การเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่?
แต่เอเจไวโอเม โอโทโบ นักวิจัยรับเชิญที่สถาบันธรรมาภิบาลโลก (Global Governance Institute) ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม กล่าวว่า ผู้นำแอฟริกันและจีนมีความเข้าใจร่วมกันใน 3 ส่วนหลักคือ สิทธิมนุษยชน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการไม่แทรกแซงกิจการภายใน
จุดยืนสนับสนุนจีนของแอฟริกาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้แอฟริกาอยู่คนละฝ่ายกับชาติตะวันตก เมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน
ในการลงมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ในเดือน มิ.ย. 2020 ที่กรุงเจนีวา เกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่ใช้ในฮ่องกง ซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้แข็งข้อทางการเมืองและจะส่งผลให้การปกครองตนเองของฮ่องกงต้องสิ้นสุดลง ชาติในแอฟริกา 25 ประเทศ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มระดับทวีปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ลงมติสนับสนุนจีน
หลายเดือนต่อมาในเดือน ต.ค. ไม่มีชาติในแอฟริกาชาติใดเลยที่ร่วมลงนามประณามจีนอย่างเผ็ดร้อนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง, ฮ่องกง และทิเบต ขณะที่ชาติตะวันตกให้การสนับสนุนการประณามนี้
HRW กล่าวหาผู้นำแอฟริกาว่า ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากจีนโดยไม่แยแสต่อความกังวลของชาติอื่น ๆ ในโลก
กระนั้น เอริก ออร์ลันเดอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการแอฟริกาจีน (China Africa Project) กล่าวว่า สำหรับผู้กำหนดนโยบายของแอฟริกา การไม่ทำให้จีนโกรธ “เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกในด้านนโยบายต่างประเทศ”
“สิ่งที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่เข้าใจคือ ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศยากจน หลายชาติที่ติดหนี้จีนมหาศาล และพึ่งพาจีนในด้านการค้าอย่างมาก พวกเขาไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่จะต้านทานต่อผลสะท้อนกลับที่เกิดจากการทำให้จีนไม่พอใจ” เขากล่าวกับ บีบีซี
ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ที่ยาวนานหลายสิบปีที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1970 ในช่วงที่ชาติในแอฟริกามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้จีนได้เข้าร่วมองค์การสหประชาชาติท่ามกลางการประท้วงจากสหรัฐฯ
“นับจากนั้น ความสัมพันธ์ก็มีแต่แน่นแฟ้นขึ้น” คลิฟฟ์ มโบยา นักวิเคราะห์ด้านแอฟริกา-จีนที่อยู่ในเคนยา กล่าวกับบีบีซี
“เป็นเวลา 30 ปีแล้วในขณะนี้ที่จีนมีธรรมเนียมส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเยือนแอฟริกาเป็นแห่งแรกในทุก ๆ ปี นี่ไม่ใช่แค่ในเชิงสัญลักษณ์แต่เป็นการส่งสัญญาณว่า จีนรักษาความสัมพันธ์ระยะยาว และเรื่องนี้ได้สร้างความประทับใจให้แก่ชาวแอฟริกันมาก”
ชาวแอฟริกันรุ่นใหม่อาจจะไม่ประทับใจมากนัก จากการศึกษาของแอโฟรบารอมิเตอร์ (Afrobarometer) เมื่อไม่นานนี้ พบว่า พวกเขามีมุมมองที่ดีต่อสหรัฐฯ และรูปแบบการพัฒนาของสหรัฐฯ อย่างมาก
แต่คนรุ่นที่แก่กว่านี้และบรรดาผู้นำรัฐบาลคิดอีกแบบ และการตัดสินใจหันไปขอการสนับสนุนทางการเงินจากจีนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำทวีปแอฟริกามีภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเกิดขึ้นของถนนหลายสายที่ใช้เงินลงทุนมหาศาล, สะพาน, ทางรถไฟ, ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้แอฟริกาไม่กลายเป็นชาติที่ตกขบวนเศรษฐกิจแบบดิจิทัล
นายโอโทโบ กล่าวว่า โครงการเหล่านี้บางแห่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) มูลค่าหลายพันล้านของจีน ซึ่งชาติแอฟริกา 46 ชาติ ได้ลงนามเข้าร่วม
“แล้วชาติตะวันตกให้อะไรเทียบเท่าได้บ้าง” เขาตั้งคำถาม และกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องยากที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินเทียบเท่ากับที่จีนให้
นายออร์ลันเดอร์ กล่าวว่า การขาดความโปร่งใสในข้อตกลงต่าง ๆ ที่มีการลงนามเพื่อรับการสนับสนุนทางการเงินในโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ ทำให้เกิดความสงสัยว่า เป็นแผนการซ่อนเงื่อนที่ต้องการทำให้ทวีปแอฟริกาติดกับเงินกู้ที่ไม่สามารถชำระคืนได้ แต่ว่าทฤษฎี “กับดักหนี้” นี้ได้ถูกหักล้างไปแล้ว
การผ่อนคลายหนี้และการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ดูเหมือนจะเป็นสาระสำคัญในการประชุมว่าด้วยความร่วมมือจีน-แอฟริกา (Forum on China-Africa Co-operation–FOCAC) ซึ่งจัดขึ้น 3 ปีครั้ง และครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในเซเนกัลในปีนี้
การทูตวัคซีน
นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดใหญ่ขึ้น ธงชาติจีนปรากฏให้เห็นทั่วไปตามสนามบินต่าง ๆ ในแอฟริกา เป็นการบ่งบอกว่าของบริจาคที่สำคัญส่งมาถึงแล้ว อย่าง อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และในช่วงนี้ก็คือวัคซีนที่จีนผลิตขึ้น
สิ่งที่เรียกว่าการทูตวัคซีนของจีน เข้าถึงชาติต่าง ๆ ในแอฟริกาแล้ว 13 ชาติ ซึ่งรวมทั้งชาติที่ซื้อวัคซีนเหล่านี้และชาติที่ได้รับบริจาค
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีความช่วยเหลือโดยตรงจากทั้งสหราชอาณาจักรหรือสหรัฐฯ ยกเว้นโครงการโคแวกซ์ ที่จีนก็ให้การสนับสนุนเช่นกัน โคแวกซ์ได้จัดหาวัคซีนให้แก่ชาติในแอฟริกา 41 ชาติ แล้วจำนวน 18 ล้านโดส
ขณะนี้ ชาติมหาอำนาจต่าง ๆ กำลังแข่งกันใช้การเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นเครื่องมือในการขยายอิทธิพลทั่วโลก
ในเดือน มี.ค. นายโดมินิก ราบ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ขอให้ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ รอวัคซีน “ที่ได้มาตรฐานสากล” แทนที่จะใช้วัคซีนจากจีนและรัสเซีย
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐฯ ไม่ได้ถึงกับมองสถานการณ์นี้ว่า เป็นการแข่งขัน เขากล่าวกับนักศึกษาแอฟริกาเมื่อไม่นานนี้ว่า “เราไม่ได้ขอให้ใครเลือกระหว่างสหรัฐฯ หรือ จีน แต่ผมขอสนับสนุนให้คุณตั้งคำถามยากต่าง ๆ เพื่อขุดค้นให้ลึกลงไป เพื่อเรียกร้องความโปร่งใส และเพื่อทำให้ได้ทางเลือกที่มีข้อมูลหลายทางเลือก”
ชาติมหาอำนาจตะวันตกรู้ว่า พวกเขาไม่สามารถแข่งขันกับจีนในแง่ของการให้เงินกู้และโครงสร้างพื้นฐาน ยังไม่เคยมีมาตรการตอบโต้ชาติที่รับความช่วยเหลือจากจีน หรือฝักใฝ่รัฐบาลจีนมากจนเกินไป แต่พวกเขาเลือกที่จะใช้คาถาอย่าง การเรียกร้องประชาธิปไตย และขจัดการทุจริต
ด้วยเหตุผลนี้ เป็นไปได้ยากที่ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีชาติไหนในแอฟริกาที่จะฟ้องผู้นำจีนต่อศาลโลกจากกรณีการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ เหมือนเช่นที่ทำกับนางออง ซาน ซู จี ในปี 2019 เมื่อเธอยังเป็นผู้นำของเมียนมา โดยอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของแกมเบียได้ฟ้องเธอจากกรณีการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมา
นายอาบูบาคารร์ ตัมบาดู ได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation—OIC) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศมุสลิม 57 ประเทศ ในจำนวนนี้ 27 ประเทศมาจากแอฟริกา การทำเช่นที่ได้รับการชื่นชมจากชาติตะวันตก ได้ส่งผลให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) สั่งให้เมียนมาใช้มาตรการในการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
เรื่องที่คุณอาจสนใจ: