14 กรกฎาคม 2564 | โดย ทีมข่าวคุณภาพชีวิต
58
ประเด็นการ ‘ฉีดวัคซีนไขว้’ ขณะนี้เป็นที่สนใจทั้งในไทยและต่างประเทศ แม้ ‘WHO’ จะออกมาบอกว่ายังไม่มีการรับรองและแนะนำให้ฉีดยี่ห้อเดียวกันทั้ง 2 เข็ม แต่กลับมีการวิจัยในหลายประเทศออกมาว่า การไขว้วัคซีนได้ผลดีขึ้น
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งพบสายพันธุ์เดลต้า ที่นับวันรุนแรงมากขึ้น และอยู่ในประเทศไทยเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่ง ขณะเดียวกัน หลายประเทศต่างหาวิธีรับมือกับโควิดและหนึ่งในนั้นคือ “วัคซีน” ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ประเด็นการ “ฉีดวัคซีนไขว้” เทคโนโลยี กลายเป็นความสนใจที่หลายประเทศกำลังศึกษารวมถึงไทย แม้ขณะนี้ WHO จะยังไม่รับรอง
- เดลต้า กระจายเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก
คำเตือนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ว่า ขณะนี้สายพันธุ์เดลต้า มีการกระจายไปเกือบร้อยประเทศ และกำลังเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดทั่วโลก การที่ระบาดเร็ว ติดเร็ว อาจทดแทนสายพันธุ์เดิม ขณะเดียวกัน ดร.แอนโทนี เฟาชี ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่รณรงค์เรื่องโควิด-19 ในสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนสหรัฐฯ ให้เฝ้าดู สหราชอาณาจักร ซึ่งตอนนี้ถูกทดแทนด้วยเดลต้ากว่า 95%
“วัคซีน” ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธต่อกรกับเชื้อโควิด-19 ในหลายประเทศ หลังจากการระบาดของเดลต้า พบว่า แม้จะยังพบการระบาดและผู้ป่วยรายใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน ผู้ป่วยใหม่มีสัดส่วนลดลง รวมถึงอัตราการเสียชีวิตไม่ได้มากขึ้น อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ
ในส่วนของประเทศไทย วัคซีน ถูกนำมาเป็นยุทธศาสตร์กลางน้ำ เพื่อต่อกรกับเชื้อโควิด -19 โดยเป้าหมายเพื่อลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิต ขณะเดียวกัน การเกิดขึ้นของสายพันธุ์เดลต้า ที่กระจายเร็วกว่าอัลฟ่า 1.4 เท่า ทำให้ระบบสาธารณสุขเริ่มจะรับไม่ไหว และส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น
- ไทยฉีดวัคซีน 12.9 ล้านคน
“ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการแถลงข่าว อัปเดตสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกและในประเทศไทย : ถอดบทเรียนเพื่อก้าวผ่านวิกฤติ โดยระบุว่า ข้อมูลล่าสุด วานนี้ (13 ก.ค. 64) ไทยฉีดไปแล้วกว่า 12.9 ล้านโดส ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเร่งฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 3-4 แสนโดส เพื่อให้ทันกับปลายปี ไทยมีประชากรกว่า 69 ล้านคน แปลว่า แต่ตอนนี้มีเพียงราว 13% ที่ได้รับวัคซีน 1 โดส และเพียง 5% ที่ได้รับครบโดส การฉีดวัคซีนค่อนข้างน้อย ทำให้การติดเชื้อกระจายเร็ว และการเสียชีวิตเร็วเพราะยังไม่เห็นผลของวัคซีนดีพอ
“ณ วันนี้เรามีตัวช่วย คือ “วัคซีน” มีการพูดกันเยอะถึงประสิทธิภาพวัคซีน แต่จำนวนไม่น้อยไปดูข้อมูลย้อนหลัง อย่าลืมว่า ตอนที่บริษัทต่างๆ มีการผลิตวัคซีนโควิด-19 การศึกษาในคนระยะ 1-3 เกิดขึ้นก่อนเดือนต.ค. 63 แทบทั้งสิ้น กระบวนการศึกษาระยะ 3 ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักสายพันธุ์เดลต้า มีเพียงอู่ฮั่น และ อัลฟ่า ดังนั้น เวลาติดตามข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนอย่าดูย้อนหลัง ต้องดูข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ด้วย เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดผลศึกษาฉีด’วัคซีนโควิด19สลับชนิด’ในไทยฉีดแล้ว1,200คน
- ปรับสูตร! ยกเลิกซิโนแวค 2 เข็ม หันฉีด เข็ม 1 ‘ซิโนแวค’ ต่อด้วย ‘แอสตร้าฯ’
- ‘ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’ ชี้ยังไม่มีนโยบายฉีดวัคซีน 2 เข็มต่างชนิดกัน
- ส่องผลลัพธ์ ‘วัคซีนโควิด-19’ เมื่อ ‘เดลต้า’ ระบาดเกือบทั่วโลก
- ‘นายกฯ’สั่งสธ.ศึกษาข้อมูลWHO-ก่อนเคาะฉีดไขว้วัคซีน
- วัคซีนรุ่น 2 ประสิทธิภาพดีขึ้น แต่มาปีหน้า
ทั้งนี้ เนื่องจาก โควิด-19 มีการกลายพันธุ์ ตอนนี้บริษัทที่ผลิตวัคซีนทั่วโลกกำลังเข้าสู่การผลิตวัคซีนรุ่นที่ 2 ซึ่งมี 2 กลุ่ม คือ วัคซีนใหม่ ที่อยู่ในระยะการศึกษาในคน และ วัคซีนเดิม ที่พัฒนาให้มีคุณสมบัติสำคัญมากขึ้น มุ่งเป้าประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้ครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์ และบางบริษัท ใช้เอไอเข้าไปช่วยดูว่าโควิด-19 จะกลายพันธุ์ที่จุดไหนได้อีก เพื่อพัฒนาวัคซีนให้ครอบคลุม
“หลักการใหญ่ๆ คือ ต่อไปวัคซีนราคาจะถูกลง การจัดเก็บไม่จำเป็นอุณหภูมิต่ำมาก ผลิตได้เยอะ ภูมิคุ้มกันจะอยู่นาน มีการออกแบบอย่างน้อยปีหนึ่ง บริษัทมองระยะยาวว่า ต่อไปจะต้องฉีดวัคซีนแบบนี้ปีละ 1 ครั้ง โดยวัคซีนโควิด-19 รุ่นสอง คาดว่าจะออกมาในต้นปีหน้า”
- ศึกษา ‘ฉีดไขว้วัคซีน’
ขณะเดียวกัน ระหว่างรุ่นที่ 2 ยังไม่ออกนั้น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เริ่มมีการศึกษาวัคซีนรุ่น 1 ว่าการฉีดวัคซีนต่างเทคโนโลยีกัน ต่างแพลตฟอร์ม ถ้าจับคู่ดีๆ ภูมิคุ้มกันดีขึ้นกว่าวัคซีนชนิดเดียวหรือไม่ เริ่มมีการศึกษาในคนที่ติดโควิด-19 และมีการจับคู่ต่างๆ เช่น เข็ม 1-2 ไม่เหมือนกัน ได้แก่ mRNA กับ ไวรัลเวคเตอร์ , ไวรัลเวคเตอร์ กับ วัคซีนเชื้อตาย และ วัคซีนเชื้อตาย กับ mRNA แต่องค์การอนามัยโลกยังไม่รับรอง
“ที่ WHO ยังไม่รับรอง เพราะงานวิจัยต่างๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในจำนวนคนไข้ไม่เยอะนัก ยังไม่มีใครศึกษาในคนไข้ที่จำนวนมากพอ แต่ WHO เฝ้าติดตาม เมื่อไหร่ที่งานวิจัยหลากหลายผลออกมาตรงกัน เชื่อว่าถึงจุดๆ หนึ่งที่ WHO อาจจะออกนโยบาย แต่ตอนนี้ WHO ยังคงแนะนำว่า เข็มหนึ่งฉีดแบบไหน เข็มสองฉีดแบบนั้น”
แต่สถานการณ์ในไทยที่ถูกจู่โจมด้วยเดลต้า ก็จะมีคำพูดเกิดขึ้นว่าตกลง เข็ม 1-2 ที่ฉีดจัดการเดลต้าอย่างไร หลายงานวิจัยที่มีการเทียบประสิทธิภาพเดลต้าเป็นอย่างไร พบว่า การฉีดเข็ม 1-2 ที่ไม่เหมือนกัน มีการจัดการเดลต้าได้ดีกว่า การฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน
- วัคซีนแต่ละตัว ทำหน้าที่อะไร
ระบบภูมิคุ้มกันในตัวเรา จะมีเซลล์ 2 กลุ่ม คือ เม็ดเลือดขาว บีเซลล์ และทีเซลล์ “บีเซลล์” จะจัดการเชื้อต่างๆ โดยการสร้างแอนติบอดีออกมาคอยจับเชื้อทำให้เชื้อไม่สามารถเข้าไปก่อเรื่องในเซลล์ทำให้เซลล์ไม่ติดเชื้อ โดยวัคซีน mRNA และเชื้อตาย จะทำงานตรงส่วนนี้ได้ดี ขณะที่ “ทีเซลล์” หน้าที่ คือ เมื่อไหร่มีการติดเชื้อ ทีเซลล์จะไปกำจัดการติดเชื้อ วัคซีนที่ทำให้ทีเซลล์ทำหน้าที่ได้ดี คือ กลุ่มไวรัลเวคเตอร์ ทำให้เซลล์ทำงานได้ดี
กรณีแบบนี้จะ พบว่า ทำไมวัคซีนในปัจจุบันมีการจับคู่กัน บ่อยครั้งที่มีการจับคู่วัคซีนที่เข็ม 1 กระตุ้น อย่างหนึ่ง เข็ม 2 กระตุ้นอีกอย่างหนึ่ง ในต่างประเทศก็มีการจับคู่และมีงานวิจัยออกมาเยอะ ระหว่าง mRNA และ ไวรัลเวคเตอร์ จะมีการจับคู่กันเยอะที่สุด ขณะเดียวกัน กลุ่มวัคซีนเชื้อตาย กับ ไวรัลเวคเตอร์ ก็มีการจับคู่เช่นกัน โดยหวังว่าจะทำให้มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งสองรูปแบบ
“ขณะนี้ในไทยมีการศึกษาอย่างน้อย 4 โรงเรียนแพทย์ ทำงานวิจัยเรื่องนี้อยู่ รพ.ศิริราช มีการศึกษาวัคซีนไขว้กันหลายคู่ อยู่ๆ เราจะไม่แนะนำเลย หากไม่มีงานวิจัยรองรับ ตอนนี้ตอบก่อนงานวิจัยไม่ได้ แต่หากผลออกมาคล้ายคลึงกัน เหมือนกับในต่างประเทศ อาจจะเป็นนโยบายรองรับการฉีดวัคซีน คาดว่าผลการวิจัยจะออกมาเร็วๆ นี้”
- ไม่แนะนำ รอเข็ม 2 วัคซีนทางเลือก
“กรณีคนที่รับวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวค และรอเข็มสองที่เป็นทางเลือก หรือโมเดอร์นา เวลาฉีดซิโนแวคเข็มเดียวภูมิคุ้มกันไม่พอ ช่วงที่รอวัคซีนทางเลือกก็มีความเสี่ยง เพราะหากถูกจู่โจมด้วยเดลตา ก็อาจไม่ทัน” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
- ศึกษาเข็ม 3 กระตุ้นภูมิ ทีเซลล์
ขณะเดียวกัน หากจะฉีดเข็ม 3 ในทางทฤษฎี น่าจะเป็นกลุ่มกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน “ทีเซลล์” แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้จีนกำลังศึกษาว่า เข็ม 3 ที่เป็นเชื้อตาย ทั้งหมดนี้ WHO ยังไม่ได้บอกว่ามีความจำเป็นในเข็ม 3 อยู่ในดุลยพินิจของแต่ละประเทศในการบริหารจัดการ เพราะการบริหารจัดการไม่ใช่แค่ฉีด แต่อยู่ที่ว่ามีวัคซีนหรือไม่ และมีการเก็บข้อมูลเพื่อจะได้รู้ว่ามีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เป็นต้น