รองอธิการฯ สายวิชาการ เรียกความเชื่อมั่น 50 ปีแห่งคุณภาพ ยันประกาศของ สกอ.ไม่กระทบต่อผู้เรียน หรือบัณฑิตที่จบไปแล้ว
รศ.ดร.นิตย์ เพ็ชรรักษ์ รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านการดำเนินการตามเกณฑ์การประกันคุณภาพภายใน ปีการศึกษา 2558 และ 2559 โดยมีรายชื่อหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จำนวน 16 หลักสูตร ซึ่งมีจำนวน 11 หลักสูตรมีสถานะ “ปิดหลักสูตร” ว่า เรื่องนี้ทางมหาวิทยาลัยได้เป็นฝ่ายแจ้งกับทาง สกอ. เองว่าต้องการปิดหลักสูตร เนื่องจากหลักสูตรที่ต้องการปิดนั้นไม่ใช่จุดเน้นและไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย
ส่วนหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต และหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ที่มีสถานะ “รอปรับปรุง” นั้น เป็นผลจากการประเมินคุณภาพภายในด้านองค์ประกอบเกี่ยวกับอาจารย์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงแก้ไขให้เป็นตามเกณฑ์ของ สกอ. เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในช่วงรอเวลาในการตรวจประเมินคุณภาพภายใน รอบปีการศึกษา 2560 ดังนั้น ประกาศจาก สกอ.จึงไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ และบัณฑิตที่สำเร็จจากมหาวิทยาลัย ขอให้เชื่อมั่นในคุณภาพของหลักสูตรและการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ
“ตลอดระยะเวลา 50 ปี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้มุ่งเน้นถึงคุณภาพในทุกๆ หลักสูตร ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งทุกหลักสูตรได้รับความเห็นชอบจาก สกอ. ให้เปิดดำเนินการ โดยคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิและคุณภาพจำนวนมาก และมีการพัฒนาคุณภาพคณาจารย์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังคงพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัย ให้สอดคล้องต่อความต้องการของประเทศในอนาคตได้อย่างมีคุณภาพ” รศ.ดร.นิตย์ กล่าว
——————–
อนึ่ง วันที่ 18 ม.ค.2561 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ออกแถลงการณ์ต่อกรณี สกอ.ประกาศรายชื่อหลักสูตรไม่ผ่านเกณฑ์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้มีประกาศ หลักสูตรที่ไม่ผ่านการดำเนินการตามเกณฑ์การประกันคุณภาพภายใน ปีการศึกษา 2558 และ 2559 เบื้องต้นนั้น มีรายชื่อหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จำนวน 16 หลักสูตร ที่ไม่ผ่านการดำเนินการตามเกณฑ์ฯ จนได้มีการปรับแก้ลดลงเหลือ 4 หลักสูตรที่รอการปรับปรุงในภายหลัง
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงขอชี้แจงให้เห็นถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการประกาศในครั้งนี้ ดังนี้
1.ปัญหาความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในเรื่อง การเปิดเผยผลการประเมินคุณภาพ ที่อ้างว่า หลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน
สำหรับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีหลักสูตรที่ปรากฏในรายงานฯ จำนวน 16 หลักสูตร โดยไม่แยกแยะว่า 16 หลักสูตรนั้น ที่มา และ สาเหตุ เป็นอย่างไร ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้ขอดำเนินการปิดหลักสูตรเอง ถึง 12 หลักสูตร และได้ทำการปิดหลักสูตร หรือ งดรับนักศึกษาไปก่อนการตรวจประเมินคุณภาพปี 2559 แล้วด้วย ตามวิสัยทัศน์ใหม่ของมหาวิทยาลัยฯ แต่ สกอ.ก็ไม่ได้ใส่รายละเอียดอันเป็นสาระสำคัญนี้ในการประกาศฯ ครั้งแรก
ในส่วนหลักสูตรที่เหลืออีก 4 หลักสูตรที่ถูกระบุว่า “รอปรับปรุง” นั้นก็เป็นหลักสูตรที่ทำการปรับปรุงแล้วเสร็จ รอเข้ารับการตรวจประเมินในรอบปี 2560 ซึ่ง สกอ.ควรพิจารณาดำเนินการนำเสนอรายละเอียดที่เป็นสถานะปัจจุบันลงในการประกาศฯ ด้วย เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตามความเป็นจริงในปัจจุบันและลดความสับสนในสังคม อันเกิดจากการดำเนินการโดยมิได้พิจารณาอย่างรอบด้านของ สกอ.
2.ปัญหาจากการที่ สกอ.ดำเนินการโดยไม่ได้แยกแยะมาตรการ
การใช้มาตรการการประกาศแบบนี้ สกอ.ดำเนินการโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่ละหลักสูตรมีเหตุผลและสภาพการณ์ที่ต่างกัน การดำเนินการเช่นนี้เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม เป็นการใช้ข้อมูลที่มีมานำเสนอในรูปแบบที่ไม่มีความละเอียดรอบคอบ ทั้งๆที่การใช้มาตรการแบบนี้ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง เพราะมีผลกระทบในวงกว้าง
3.ปัญหาจากถ้อยคำที่ สกอ. แถลง มีความคลุมเครือ สร้างความสับสนให้แก่สังคม
ประกาศในครั้งแรกของ สกอ. นั้น ไม่ระบุสถานะของแต่ละหลักสูตร ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าทุกหลักสูตรไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา
ส่วนประกาศที่แก้ไขแล้ว ก็ยังมีการใช้คำคลุมเครือเช่น คำว่า “ปิดหลักสูตร” ทำให้คนเข้าใจไปว่า สกอ. สั่งปิด ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง มหาวิทยาลัยฯ เป็นฝ่ายดำเนินการปิดหลักสูตรเอง เพื่อผลประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการการศึกษาไทย ให้มีหลักสูตรที่ทันสมัยส่วนคำว่า “รอปรับปรุง” ก็ทำให้คนทั่วไปเข้าใจไปว่า การปรับปรุงยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยฯ ได้ทำการแก้ไขแล้วเสร็จแล้ว จนทำให้คนเข้าใจผิดต่อสถานะหลักสูตร และ คำว่า “งดรับนักศึกษา” คนทั่วไปเข้าใจไปว่า สกอ.เป็นผู้สั่งให้งดรับนักศึกษา ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการงดรับนักศึกษาเองแล้วทั้งสิ้น
ดังนั้น ผลจากการประกาศ ของ สกอ. อันเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล มาประกาศข้อความที่มีลักษณะคลุมเครือเช่นนี้ ได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างยิ่งต่อมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยฯ ที่รักษาคุณภาพตามเกณฑ์มาโดยตลอดอย่างเคร่งครัด จนได้รางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณมหาวิทยาลัยที่มีระบบประกันคุณภาพการศึกษา มาตรฐานประเภทดีเลิศ มาแล้ว ต้องมาได้รับผลกระทบทางลบจากปัญหาเหล่านี้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ