“หมอธี” เชื่อมือกรรมการอิสระ-แก้ปัญหาความขัดแย้ง กศจ.ได้
ในการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งมี ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำโดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เมื่อเร็ว ๆ นี้
โดย ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่เป็นห่วงคือความคาดหวังจากคณะกรรมการอิสระฯ ทั้ง 25 คน ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามา เพราะอนาคตของชาติขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการศึกษา และคณะกรรมการฯ ทั้ง 25 คน ซึ่งเป็นยิ่งกว่าคณะที่เรียกว่า อรหันต์ เพราะกรรมการทั้งหลายเป็นผู้ที่มีความรู้ ความคิด และประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย ดังนั้น จึงต้องทำงานให้สำเร็จ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้คณะกรรมการอิสระฯ มีระยะเวลาปฏิบัติงาน 2 ปีเท่านั้น
ซึ่งใน 2 ปีนี้จะต้องทำภาระงานทั้ง 5 ด้าน คือ 1.วางแนวทางและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฐมวัย 2.เสนอแนะกลไกระบบการผลิตคัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู 3.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดการเรียนการสอนทุกระดับ 4.ศึกษาแนวทางหลักเกณฑ์และวิธีการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 5.ร่างกฎหมายจัดตั้งกองทุน เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และพัฒนาคุณภาพประสิทธิภาพครู ซึ่งคณะกรรมการอิสระฯ จะพยายามทำให้ไปถึงจุดที่ใช้ประโยชน์และปฏิบัติจริงให้ได้
ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าวต่อไปว่า จากนี้ไปตนจะแบ่งกลุ่มคณะกรรมการที่มีอยู่อย่างหลากหลายให้ไปทำงานตามความถนัด แล้วนำความเห็นมารวมกัน เพื่อจัดทำข้อเสนอต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งอาจมีหลายเรื่องมีความสลับซับซ้อนและคำตอบมีหลายมิติ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นปัญหาหนักที่สุด เป็นเรื่องคุณภาพการศึกษา ถัดลงมาคือ ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายสูงสูดในการแก้ปัญหา
ดังนั้น วิธีการทำงานของคณะกรรมการอิสระฯ จะศึกษาข้อมูล ความคิดเห็นจากรายงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้น ต้องดูว่ามีนวัตกรรมใดในการศึกษาที่จะคิดค้นได้ และการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาก็ยังไปไม่ถึงประเทศไทยดูจะถดถอยลงด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ว่าเราจะแก้ไขได้อย่างไร แต่ทั้งนี้ในศาสตร์พระราชา ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ ก็มีคำตอบมากมาย ถ้าเราสามารถนำไปปฏิบัติได้ประเทศไทยก็จะก้าวหน้าไปมาก
ด้าน นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ศธ.มีการปรับโครงสร้างการบริหารราชการในส่วนภูมิภาค โดยมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) สำนักงานศึกษาธิการภาค(ศธภ.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) มีการเกลี่ยบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆใน ศธ.มาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทำให้เกิดความโกลาหลพอสมควร มีความขัดแย้งในส่วนของคน ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับสำนักงานปลัด ศธ.ในแง่ความไม่เข้าใจคิดว่ามีการแย่งอำนาจและบทบาทหน้าที่
ดังนั้น หากคณะกรรมการอิสระฯ จะเสนอปรับเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาของประเทศ ให้สามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่เกิดการทะเลาะและโกลาหลได้ ซึ่งตนค่อนข้างตั้งความหวังกับกรรมการฯชุดนี้ เพราะไม่มีคนใน ศธ.และไม่มีทหารร่วมเป็นกรรมการฯ และไม่ห่วงอะไรแล้วขอให้คณะกรรมการอิสระฯ ทำงานอย่างเต็มที่
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ