ด้วยสมองและสองมือ
ปัจจุบันการรณรงค์คัดแยกขยะประเภทต่างๆ ก่อนทิ้งลงถัง ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงทิ้งขยะผิดประเภท ทั้งยังปล่อยปละละเลยในการทิ้งขยะ มองไม่เห็นถึงประโยชน์ของการคัดแยกขยะและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ขาดแรงจูงใจในการแยกขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ปริมาณขยะมีปริมาณขึ้นทุกวัน
น้องๆทีมแมง “Mang” ประกอบด้วย นายธนกิตติ์ สาชาติ , นายสรายุทธ หล้าวิไลย์ และ นายบัณฑิต โหว นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ดร.ปวิตรา จิรวีรกูล นายสมศักดิ์ ธนาศรี และนายภูวเดช อินทร์ตะโคตร ช่วยเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบ การแก้ปัญหา และการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว
จึงคิดสร้างแรงจูงใจในการทิ้งขยะให้กับนักศึกษาในคณะ คนในมหาวิทยาลัยด้วยเทคโนโลยี “ตู้รับซื้อขยะ” (MU Smart Bin) กับ “เเอปพลิเคชั่น สำหรับรับเเต้มจากตู้รับขยะ” ( MU Recycle Application )
ผลงาน “MU Smart-Bin & MU-Recycle Application” นอกจากได้รับคัดเลือก จากโครงการประกวด Innovation for campus sustainability การประกวดนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 จากการเป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยไปนำเสนอผลงานในเวที The 4th Asian Conference on Campus Sustainability (ACCS) ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการเพื่อเผยแพร่นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในระดับเอเซียอีกด้วย
น้องๆ เล่าให้ฟังว่า เริ่มจากที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดโครงการประกวด Innovation for campus sustainability เป็นการประกวดนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้รวมทีมกันเพื่อส่งผลงานเข้าประกวด โดยเน้นการสร้างนิสัยการทิ้งขยะให้ถูกต้อง และสร้างแรงจูงใจในการทิ้งขยะของนักศึกษาและคนในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง จึงได้คิดค้น (MU Smart-Bin & MU-Recycle Application) “ตู้รับซื้อขยะ” พร้อมด้วย “เเอปพลิเคชั่น สำหรับรับเเต้มจากตู้รับขยะ”
วิธีการใช้งานก็ไม่ยาก เริ่มจากแสกน QR code ของถังขยะผ่านแอปพลิเคชั่น จากนั้นทิ้งขยะพร้อมแยกชนิดขยะ โดยถังขยะจะมีเซ็นเซอร์ที่ช่วยในการจำแนกขยะ โดยขั้นแรกเราเน้นแยกขยะประเภท ขวดพลาสติกและกระป๋องน้ำอัดลม เมื่อถังขยะแยกไซส์ของขวดได้จะส่งข้อมูลไปยัง แอปพลิเคชันผ่านบลูทูธ ซึ่งแอพพลิเคชันจะคำนวณ point และบันทึกประวัติผู้ทิ้งขยะในฐานข้อมูล
ผู้ทิ้งขยะจะได้รับเป็นค่าตอบแทน (MU Coin) ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ สามารถนำไปใช้จ่ายหรือเป็นส่วนลดกับร้านค้าต่างๆ ในมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งในอนาคตของเราอยากพัฒนาให้ตู้ขยะสามารถแยกขยะอื่นๆได้ เช่น ขวดพลาสติกสีขุ่น กระดาษ ฯลฯ และอาจพัฒนา smart bin ให้ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์สำหรับถังขยะที่วางไว้กลางแจ้ง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ