“ไข่เยี่ยวม้าสีทอง” ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของอาหารหมักของไทยที่มีการพัฒนากระบวนการผลิตเชิงบูรณาการร่วมกันระหว่างอาหารหมักดองพื้นบ้านและแนวคิดในการพัฒนาทางด้านอาหารที่มีความปลอดภัย เพื่อการบริโภค
เนื่องจากปัจจุบันได้พบปัญหาไข่เยี่ยวม้ามีการปนเปื้อนของสารตะกั่วมากขึ้นโดยผู้ผลิตมีการเติมสารตะกั่วเพื่อเร่งให้ไข่มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเร็วขึ้น สีที่ใช้พ่นหรือเคลือบผิวเปลือกไข่มักจะเป็นสีที่ไม่ปลอดภัยในการใช้สำหรับอาหาร จึงส่งผลให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภค
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผศ.ดร.ชุตินุช สุจริต อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง จึงมีแนวคิดในการผลิตไข่เยี่ยวม้าที่มีการเลือกใช้วัสดุส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ เพื่อลดคอเรสเตอรอลในไข่แดง ไม่มีสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค สามารถเก็บรักษาได้ยาวนานมากกว่า 6 เดือน จึงเป็นการยืดอายุในการตลาดเพื่อการค้า
การพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมบริโภคจึงเน้นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพตามแนวคิดในเรื่อง 3 รักษ์ กล่าวคือ รักษ์สุขภาพ ใช้สารเคมีที่ปลอดภัย รักษ์ความเป็นไทย สีในการย้อมเปลือกไข่เยี่ยวม้าใช้ทองคำเปลวมาปิดเพื่อเพิ่มความสวยงามและเป็นมิตรกับสุขภาพ เนื่องจากทองคำเปลวเป็นสมุนไพรที่เป็นธาตุโลหะ ไม่เป็นพิษกับร่างกาย เพื่อความสวยงาม และมีคุณค่าทางจิตใจ
รักษ์สิ่งแวดล้อม คือวัตถุดิบในการหมักดองไข่เยี่ยวม้า นำมาจากวัสดุทางธรรมชาติ ตัวหลักสำคัญคือ ปูนขาว ได้จากเปลือกหอยตลับ ซึ่งเป็นวัสดุเศษเหลือ ถือว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มในชาวบ้าน
ผศ.ดร.ชุตินุช กล่าวว่า ไข่เยี่ยวม้าเคลือบทองคำเปลว เป็นนวัตกรรมใหม่ของอาหารหมักดองพื้นบ้านของไทยที่มีการพัฒนาเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยมีการพัฒนากระบวนการผลิตและคุณภาพผลิตภัณฑ์ไข่เยี่ยวม้าสีทอง สามารถลดใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ตะกั่วออกไซด์
ใช้ปูนขาวจากเปลือยหอยตลับ (วัสดุเศษเหลือ) สมุนไพรในการทำให้ไข่มีสีสวยและปลอดภัยต่อการบริโภคและสีที่ใช้เคลือบผิวเปลือกไข่เยี่ยวม้า เพื่อยืดอายุในการเก็บรักษาให้ยาวนาน โดยใช้แผ่นทองคำเปลวเคลือบผิวเปลือกไข่ เพื่อเป็นการสร้างลวดลายที่สวยงามบนเปลือกไข่และมีความปลอดภัยในการบริโภค
ไข่เยี่ยวม้าเคลือบทองคำเปลว สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลางและผลิตจำหน่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศได้ เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนชาวประมงที่ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นในกระบวนการผลิต สามารถนำไปใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ไข่เยี่ยวม้าทรงเครื่อง ผัดไข่เยี่ยวม้ากะเพรากรอบ ยำไข่เยี่ยวม้า หรือรับประทานสด จึงเป็นอาหารยอดนิยมที่เหมาะสมสำหรับผู้บริโภคทุกเพศและทุกวัย เป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.ชุตินุช สุจริต สาขาอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์ประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง (มทร.ศรีวิชัย) โทรศัพท์ 095 – 504-1954
ปิยวรรณ มากสง นักประชาสัมพันธ์ มทร.ศรีวิชัย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ