“ศธ.-สสวท.-สพฐ-สกศ.” จับมือ OECD จัดเวทีสัมมนา “ยกระดับการเรียนรู้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่ากระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) จัดสัมมนาเรื่อง “การยกระดับการเรียนรู้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” : ประสบการณ์จาก PISA 61 (Raising Learning Outcomes in Southeast Asia : Insights from PISA) ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ย. ณ โรงแรมเดอ สุโกศล พญาไท กรุงเทพฯ โดยการสัมมนาครั้งนี้มี Mr.Andreas Schlicher,Director,Directorate of Education and Skills,OECD เข้าร่วมพร้อมด้วยผู้บริหารและนักการศึกษาจาก 7 ประเทศ ประกอบด้วยบรูไน อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายและนักการศึกษาในภูมิภาคอาเซียนได้นำเสนอนโยบายด้านการศึกษาที่เป็นผลสืบเนื่องจากการประเมิน PISA รวมทั้งประเด็นที่น่าสนใจ เชื่อมโยงหลักสูตรการเรียนการสอนกับการประเมินผล สนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันโดยมีกรณีศึกษาจากประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งร่วมกันหาแนวทางพัฒนาประสิทธิภาพครูและผู้นำโรงเรียนในการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษารองรับศตวรรษที่ 21 ด้วย
PISA หรือ Programme for International Student Assessment เป็นโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ ริเริ่มโดย OECD มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลง โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ปัจจุบันนี้มีประทศจากทั่วโลกเข้าร่วมโครงการมากกว่า 70 ประเทศ
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเนื่องจากประธาน OECD พร้อมทีมงานได้มาร่วมประชุม โดยมีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจเพื่อประเมินระบบการศึกษาทั่วโลก ผ่านการทดสอบทักษะและความรู้ความสามารถของนักเรียน หรือ PISA ที่ผ่านมานั้น มีบางฝ่ายออกมาโจมตีระบบการศึกษาไทยและวิเคราะห์ไปในทางที่ไม่ดี ซึ่ง OECD แจ้งว่า ไม่ควรนำ PISA มาวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษา เพราะการประเมินดังกล่าวเป็นการออกแบบเพื่อนำข้อบกพร่องไปปรับปรุงแก้ไขและไม่ควรเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ เพราะแต่ละประเทศมีบริบทต่างกัน อาทิ ประเทศไทยมีโรงเรียนทุกประเภทเข้าร่วม ในขณะที่เวียดนามเข้าร่วมบางกลุ่ม และคะแนนของเด็กไทยอยู่ในเกณฑ์ดี มีโรงเรียนกลุ่มวิทยาศาสตร์ได้คะแนนอันดับที่สองของโลก ซึ่งเด็กไทยมีศักยภาพแม้ว่ามีโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ขาดอุปกรณ์การเรียน แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ อีกทั้งเรายังมีหลายปัจจัยที่ยังไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ ซึ่งต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ สสวท. จัดประชุมระดับภูมิภาคและระดับโลกโดยมีการเตรียมการเรื่อง PISA อย่างต่อเนื่อง การประชุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กับหน่วยงานที่ออกข้อสอบและประเมินผล ทำให้รู้ถึงมาตรฐานโลกว่าประเมินผลอย่างไรและนำมาช่วยในการดำเนินการของเราเพราะไม่ใช่เด็กไทยไม่เก่งหรือระบบการศึกษาไทยแย่ แต่ต้องรู้แนวทางการประเมิน ซึ่ง OECD พร้อมให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการศึกษาต้องช่วยกันแก้ไขอย่างสร้างสรรค์มากกว่าโจมตี จึงจะทำให้ประเทศชาติพัฒนาอย่างแท้จริง การสัมมนาวันนี้ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์และความรู้เต็มที่ การประเมินผลวัดมาตรฐานการศึกษา สามารถทำได้หลายรูปแบบ ซึ่ง PISA เป็นรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้จะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ เช่น จีน สิงคโปร์ ซึ่งมีการพัฒนาอันดับต้นๆของโลก รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนอื่นๆ
ด้านนายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า การเรียนการสอนเป็นหลักสูตรการดำเนินการ และPISA เป็นเรื่องของผลการดำเนินงาน ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดอื่นๆ กล่าวคือ คะแนนประเภทไหนที่ดีแล้ว คะแนนประเภทไหนที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเร่งด่วน นอกจากนี้การประชุมครั้งนี้ สามารถส่งเสริมความรู้ระหว่างประเทศต่างๆ เช่น คะแนนด้านไหนมีผลต่อการพัฒนาอย่างไร โดยเฉพาะ OECD ตั้งใจสนับสนุนภูมิภาคของเราเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่ Mr.Andreas Schleicher, Director, Directorate of Education and Skills OECD กล่าวว่า สิ่งที่เห็นมาตลอดคือ ประเทศไทยมีการวางรากฐานการศึกษาที่ดี วันนี้จะบอกให้ประเทศไทยทำอะไรอย่างไรคงไม่ได้ แต่เป็นการศึกษาว่าประเทศที่ทำได้ดีเป็นอย่างไร มั่นใจว่าระบบการศึกษาและการทดสอบตามโปรแกรม PISA ของไทยจะทำได้ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาและเรียนรู้ร่วมกัน ปัญหาการศึกษาของไทยมีบางจุดที่ยังท้าทายให้ต้องปรับปรุงแก้ไข ในขณะเดียวกันมีหลายจุดที่ดีระดับโลกแม้อยู่ในถิ่นห่างไกล ซึ่งน่าสนใจว่าทำได้อย่างไร และหาแนวทางเพื่อให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ประเทศไทยไม่ใช่สมาชิก OECD แต่สมัครเข้าร่วมโครงการในฐานะประเทศร่วมโครงการ (Partner countries) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 (PISA 2000) เพื่อตรวจสอบคุณภาพของระบบการศึกษาและสมรรถนะของนักเรียนวัยจบการศึกษาภาคบังคับของชาติ เกี่ยวกับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต โดยใช้มาตรฐานของประเทศพัฒนาแล้วเป็นเกณฑ์ชี้วัดผลสัมฤทธิ์จากการทำแบบทดสอบและแบบสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน รวมทั้งนโยบาย การบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนจากผู้บริหารของโรงเรียนทำให้ได้ข้อมูลคุณภาพการศึกษาของประเทศ เพื่อนำไปสู่การประเมินและพัฒนานโยบายการศึกษา หลักสูตร พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งจัดการเรียนการสอนของประเทศให้มีคุณภาพทัดเทียมกับนานาชาติต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมโครงการ PISA มากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ และดำเนินการต่อเนื่องมาใน PISA 2003, PISA 2006, PISA 2009, PISA 2012, PISA 2015 และ PISA 2018 โดยจัดการประเมินต่อเนื่องทุกสามปี ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินงานโครงการ PISA 2021
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ