2 ก.ค.2565 – นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก “เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค”ว่า ดิ่น ท่าราบ หรือ พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม คือใคร
พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นคุณตาของ พล.อ.สุรยุทธิ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี
ดิ่น ท่าราบ เกิดในครอบครัวคหบดีชาวสวน จังหวัดเพชรบุรี เรียนจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ด้วยการสอบได้ที่ 1 จึงได้ทุนการศึกษาไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกเยอรมัน ร่วมรุ่นเดียวกับ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) โดยทั้ง 3 สนิทสนมกันมาก จนได้รับฉายาจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฏ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ ว่าเป็น “สามทหารเสือ”
พระยาศรีสิทธิสงคราม ได้ศึกษาที่ประเทศเยอรมันนานถึง 10 ปี ก่อนจะเดินทางกลับมายังประเทศไทย มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการอย่างรวดเร็ว โดยได้รับยศเป็น พันเอก ตั้งแต่อายุ 37 ปี และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยา เมื่ออายุได้ 40 ปี ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 นั้น พระยาศรีสิทธิสงครามได้ถูกชักชวนให้เข้าร่วมกับคณะราษฎร์ด้วย แต่พระยาศรีสิทธิสงครามปฏิเสธไม่ขอเข้าร่วม เนื่องจากยึดมั่นในคำถวายสัตย์ แต่ก็ไม่กล้าต่อต้าน
………………………………………………………………
“กบฏบวรเดช” เวลาได้ยินคำว่ากบฏ เราจะตีความทันทีว่าเป็นฝ่ายไม่ดี แต่ความจริงคือ ผู้ที่ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารไม่สำเร็จ จะถูกเรียกว่า กบฏ โดยไม่สนใจว่าจะเป็นฝ่ายดีหรือเลว กบฏบวรเดช ถูกเรียกขึ้นตามพระนามของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ผู้ที่ปฏิวัติรัฐประหารไม่สำเร็จ
กบฏบวรเดช เกิดขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 สาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ จากข้อโต้แย้งในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เสนอ และถูกมองว่าเป็น ระบอบสังคมนิยม” หรือ ที่เรียกว่า”คอมมิวนิสต์” รวมทั้งต้องการคืนพระราชอำนาจในกับในหลวง แต่ด้วยเพราะปฏิวัติไม่สำเร็จเลยกลายเป็นกบฏ
ในขณะที่คณะราษฏร์ที่ปฏิวัติสำเร็จโดยยึดอำนาจไปจากในหลวง และในหลวงไม่คิดจะต่อสู้เพราะไม่อยากให้คนไทยรบกันเอง กลับไม่ได้เป็นกบฏ
“ผู้ดีกลายเป็นผู้ร้าย และผู้ร้ายกลายเป็นผู้ดี” มีให้เห็นในประวัติศาสตร์การเมืองเสมอ
………………………………………………………………
“เหตุการณ์กบฏบวรเดช” เกิดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารนำกำลังทหารจากหัวเมืองภาคอีสานล้มล้างการปกครองของรัฐบาล เนื่องจากไม่พอใจที่นายถวัติ ฤทธิเดช ได้ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เนื่องจากกรณีที่ที่พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยคัดค้านแผนพัฒนาเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ที่เรียกกันว่า “สมุดปกเหลือง” โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจของนายปรีดีนี้มีแนวทางการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่คล้ายกับการปกครองในระบบสังคมนิยม
ขณะที่ฝ่ายคณะราษฎรเองก็แตกแยกทางความคิด กระทั่งนำไปสู่การเปิดอภิปรายวิจารณ์ในรัฐสภาเป็นเหตุให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ต้องถุกกดดันให้ไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสชั่วคราว เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ทำให้คณะราษฎรหลายท่านไม่พอใจพระเจ้าอยู่หัวและพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยเฉพาะฝ่ายทหารและนำไปสู่การก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดารัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
หลังจากการรัฐประหารพระยาพหลพลพยุหเสนาผู้นำคณะรัฐประหารได้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีการล้างมลทินให้หลวงประดิษฐมนูธรรม ความวุ่นวายทางการเมืองทั้งหลายมีส่วนทำให้พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช บรรดานายพล และ นายทหารอื่นๆ ที่โดนปลดหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ไม่พอใจรัฐบาลเป็นอันมาก จึงเริ่มก่อกบฏขึ้น โดยนำทหารโคราช ทหารเพชรบุรี ทหารอุบลราชธานี เข้ารบ โดยหวังให้ทหารกรุงเทพที่สนิทกับพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามไม่ร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาล แต่ทหารกรุงเทพกลับหันไปร่วมมือกับรัฐบาลเนื่องจากฝ่ายทหารโคราชยืนยันเอาพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นหัวหน้า ซึ่งผิดเงื่อนไขที่ทหารกรุงเทพต้องการ เนื่องจากทหารกรุงเทพนับถือพันเอก พระยาศรีสิทธิสงครามมากกว่า พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
จนเมื่อทางฝ่ายกบฏเพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาล ในเวลาพลบค่ำของวันที่ 23 ตุลาคม ปีเดียวกัน พระยาศรีสิทธิสงครามได้เป็นผู้เดินไปเจรจากับทหารฝ่ายรัฐบาล เพื่อขอให้หยุดยิง แต่ปรากฏว่า พระยาศรีสิทธิสงครามได้ถูกยิงเสียชีวิต ที่สถานีรถไฟหินลับ จังหวัดสระบุรี โดยร้อยโท ตุ๊ จารุเสถียร (ประภาส จารุเสถียร)
จากนั้นร่างของพระยาศรีสิทธิสงครามได้ถูกส่งกลับกรุงเทพมหานคร โดยทำการฌาปนกิจอย่างเร่งด่วนที่วัดอภัยทายาราม หรือวัดมะกอก โดยที่ทางครอบครัวไม่ได้รับรู้มาก่อนเลย และกว่าจะได้อัฐิกลับคืนก็เป็นเวลาล่วงไป 3-4 ปีแล้ว อีกทั้งยังถูกคุกคามต่างๆ นานา ตลอดสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
………………………………………………………………..
ดิ่น ท่าราบ หรือ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นบิดาของนางอัมโภช ท่าราบ ต่อมาสมรสกับ พ.ท.พโยม จุลานนท์ และมีบุตรด้วยกัน ซึ่งคนไทยรู้จักเป็นอย่างดี นั้นคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ดิ่น ท่าราบ หรือ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม คือคุณตาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
………………………………………………………………
จากประวัติศาสตร์หน้านี้ เราจะเห็นได้ว่า เหตุการณ์กบฏบวรเดช นั้นก่อการเนื่องจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชไม่พอใจคณะราษฏร์ โดยเฉพาะความเหิมเกริมของคณะราษฏร์ที่ปล่อยให้นายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แต่เพราะก่อการไม่สำเร็จ จึงถูกตราหน้าว่ากบฏ และทำให้พ.ท.พโยม จุลานนท์ บิดาของ พล.อ.สุรยุทธิ์ จุลานนท์ ถูกตราหน้าว่าเป็นเขยกบฏ
การเมืองสามารถทำให้ “ผู้ดีกลายเป็นผู้ร้าย และผู้ร้ายกลายเป็นผู้ดี” ประวัติศาสตร์มีโอกาสบิดเบือนได้บ้างในบางเหตุการณ์ ต้องศึกษาและใช้วิจารณญาณ
………………………………………………………………
(หมายเหตุ เนื้อหารวบรวม เรียบเรียง มาจากที่มาหลายที่และหลายต้นฉบับ ซึ่งผมเขียนเพิ่มเติมบางส่วน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการศึกษาเท่านั้น)