นักวิทย์ทึ่ง! พบกบมีชีวิตมีเห็ดงอกบนตัวเป็นครั้งแรกของโลก การศึกษาธรรมชาติมีความมหัศจรรย์เสมอ
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
นักวิทยาศาสตร์ชีววิทยาชาวอินเดียได้มีการค้บพบ กบที่ยังมีชีวิตมีเห็ดขาดเล็กงอกออกมาจากบนลำตัวซึ่งการพบนี้ไม่เคยถูกบันทึกที่ไหนมาก่อนและถือเป็นการพบครั้งแรกของโลก ตอกย้ำการศึกษาธรรมชาติมีความมหัศจรรย์เสมอ
การพบเรื่องมหัศจรรย์ครั้งแรกของโลกครั้งนี้ ถูกค้นพบเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 จากการที่นักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตฝูงกบหลังทอง (Indosylvirana intermedia) ที่สระน้ำในเมืองกรณาฏกะ ประเทศอินเดีย และได้พบกบที่ยังมีชีวิตมีเห็ดงอกออกมาจากลำตัว ที่ดูคล้ายกับซีรีส์ The Last of Us ซึ่ง “เชื้อราคอร์ดีเซปส์” (Cordyceps) เปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นร่างไร้วิญญาณที่เคลื่อนไหวได้ และในโลกจริงเชื้อราชนิดนี้ ก็สามารถเปลี่ยนแมลงให้กลายเป็นร่างไร้วิญญาณที่เคลื่อนไหวได้เหมือนกัน
ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดีย กล่าวว่า ดูเหมือนว่าจุลินทรีย์เหล่านี้จะปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะที่ต่างออกไปจากเดิม เนื่องจากเชื้อราก็คือจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง
Lohit Y.T. ผู้เชี่ยวชาญด้านแม่น้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำของกองทุนสัตว์ป่าโลกแห่งอินเดียในเบงกาลูรู หนึ่งในผู้ค้นพบ กล่าวว่า
“ตอนที่ผมสังเกตเห็นกบพร้อมกับเห็ดครั้งแรก ผมรู้สึกทึ่งและสนใจกับภาพที่เห็นนี้”
แม้จะมีคำถามมากมาย แต่นี่ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญในโลกวิทยาศาสตร์ เนื่องจากปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่โลกวิทยาศาสตร์ไม่เคยบันทึกมาก่อน ทำให้ผู้ที่เห็นภาพกบตัวนี้ อาจคิดไปว่า เชื้อราเหล่านี้กำลังกลายพันธุ์เหมือนกับใน The Last of Us
ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่า จากการสังเกตรูปร่างและการเจริญเติบโตของเห็ด พบว่าเป็นเห็ดในสกุล Agaricaceae มันเติบโตบนหลังกบไม่หลุดหรือเปลี่ยนตำแหน่ง ไม่ว่ากบจะขยับตัวไปตรงไหนก็ตาม การที่เห็ดเหล่านี้เติบโตไปทั่วทั้งผิวหนังของกบหรือแทรกซึมเข้าไปในร่างกายของมัน อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เป็นแผลที่ผิวหนังหรือก้อนเนื้อคล้ายเนื้องอก และอาจอันตรายถึงขั้นทำให้กบตายได้
ดร. Alyssa Wetterau Kaganer จาก Cornell University School of Veterinary Medicine เชื่อว่า หากกบมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว มันก็จะสามารถทนต่อการเกาะตัวของเชื้อราบนผิวหนังได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของมัน
นอกจากนี้ นักชีววิทยาอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า เห็ดที่เติบโตบนกบเป็นเชื้อราประเภท saprophytic ซึ่งเป็นตัวย่อยสลายตามธรรมชาติที่ส่วนใหญ่เติบโตบนไม้ที่เน่าเปื่อย และสามารถเติบโตบนพืชที่มีชีวิต อีกทั้งยังสร้างความสัมพันธ์ทางชีวภาพของสัตว์อีกด้วย
กบหลังทองเป็นสัตว์ที่พบอยู่เป็นจำนวนมากในรัฐกรณาฏกะและเกรละทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย พวกมันมีขนาดเล็กและมีความยาวได้เพียง 7.4 เซนติเมตรเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : CNN , journals.ku
ภาพ : Maliye & Y.T., Reptil. amphib., 2024