นายกฯ มั่นใจ ‘ทักษิณ’ ไม่หนี พร้อมสู้คดี แจงตั้ง ‘วิษณุ’ ไม่ใช่มือ กม.เพื่อไทยไม่เก่ง รอดูผลงาน ชี้สัญญาใจกับ ‘วิษณุ’ เป็นเรื่องคนสองคน ปัดตอบเพื่อไทยเปลี่ยนท่าที่ ดัน ‘ร่าง กม.นิรโทษกรรม’ มติ ครม.เก็บ VAT สินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท กระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง บิลค่าที่พัก –แพกเกจทัวร์ หักภาษี 1.5 – 2 เท่า เร่งออก กม.สถานบันเทิงครบวงจร คาดปีแรกเก็บภาษีทะลุ 12,000 ล้าน จัดงบฯกลางปี’67 วงเงิน 1.22 แสนล้าน แจก ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ
โชว์ผลงานรัฐบาล 6 เดือน
ผู้สื่อข่าวถามถึงผลงานในรอบ 6 เดือนของรัฐบาล ว่าอะไรคือผลงานที่โดดเด่นที่สุดในสายตาของนายกฯ หลังโพลของรัฐบาล โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าเรตติ้งดี โดย นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนได้อ่านผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเช่นกัน และมองผลงานเด่น ๆ เช่น เรื่องการเกษตร พืชผลเกษตร ราคาพืชผล ราคาอาหาร และหนี้เกษตรกร การแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งได้มีการจับเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า
“แต่เรียนตามตรงว่ายังไม่เพียงพอ เพราะยังทำได้อีก เนื่องจากราคายาบ้าต่อเม็ดยังไม่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ตนได้ประสานให้มีการลดดอกเบี้ยในธนาคารหลัก 0.25% ก็ถือได้ว่าช่วยแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนได้” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวถึงการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ว่า รัฐบาลได้มีการอายัดทรัพย์ไปได้แล้วถึงกว่า 6 พันล้านบาท เป็นเรื่องที่เราพอใจ แต่ยังมีกรณีที่ต้องทำอีกมาก
“เรายังให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีความหลากหลายและผลักดันตามร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องบีโอไอและผู้แทนการค้าไทยได้ไปเจรจาเอานักลงทุนเข้ามาก็ยังมีการทำอย่างต่อเนื่อง” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงปัญหาอื่นๆว่า การศึกษาเป็นปัญหาของประเทศไทย และรัฐบาลก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหนี้ครัวเรือนก็พยายามต้องหาทางลดกันต่อไป ถือเป็นภาระหลัก อีกทั้งเรื่องปัญหา Capacity Utilization กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในโรงงานต่างๆ ซึ่งทำได้น้อยลง ปัจจุบันใช้อยู่แค่ 57% เท่านั้นเอง หน้าที่ของเราก็คือต้องพยายามกระตุกให้มีการผลิตเกิดขึ้น เพื่อให้มีการจ้างงาน ซื้อ Material (วัสดุ) ใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นการเปิดตลาดใหม่ ๆ ในเวทีโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ
แจงตั้ง ‘วิษณุ’ ไม่ใช่ทีม กม.เพื่อไทยไม่เก่ง รอดูผลงาน
เมื่อถามว่า การแต่งตั้งนายวิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษานายกฯ จะชี้แจง-อธิบาย หรือทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคเพื่อไทยอย่างไร นายเศรษฐา ตอบว่า “พูดไปเยอะแล้ว อย่างที่บอกเรื่องวาทกรรมทางด้านการเมือง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราปฏิเสธไม่ได้ถ้าเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยจะไม่เก่ง”
“ผมเชื่อว่าที่เราประสบปัญหากันมา ทั้งรัฐบาล พี่น้องประชาชน และปัญหาทั่ว ๆไปในประเทศ จริงๆ แล้วเราต้องการคนเก่งเข้ามาช่วย ส่วนจะเป็นสีเสื้อ คนละขั้ว หรือ อะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราคำนึงถึงพี่น้องประชาชนเป็นหลัก และคำนึงถึงการขับเคลื่อนนโยบายหลักของรัฐบาลว่าทำอย่างไรจะเป็นไปด้วยความรอบคอบ เชื่อว่าเพื่อน ส.ส. ในพรรคเพื่อไทยน่าจะมีความเข้าใจในส่วนนี้” นายเศรษฐา กล่าว
ถามต่อว่า การดึงนายวิษณุเข้ามาช่วยงานด้านกฎหมาย สมาชิกพรรคเพื่อไทยควรต้องเคารพการตัดสินใจของนายกฯ จะขอให้สมาชิกพรรคที่เห็นต่างหยุดแสดงความเห็นหรือไม่ เพราะนายวิษณุไม่ได้ แค่มาช่วยรัฐบาลนี้ แต่ช่วยมาตั้งแต่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร
นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมเชื่อว่าประวัติศาสตร์มันชัดเจน และถูกเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะอธิบายให้มันเยอะกว่านี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าเรามาดูที่ผลงาน มาดูความตั้งใจของท่านดีกว่า ตอนนี้ที่ทำงานร่วมกันและต่อไปในอนาคตดีกว่า และเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นที่ประจักษ์ดีกับทุกๆ ฝ่ายอยู่แล้ว ก็ไม่อยากจะต้องพูดย้ำไปย้ำมา เพราะทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้ว“
ย้ำจุดยืนรัฐบาลชุดนี้ ‘ไม่มีสีเสื้อ’ แล้ว
เมื่อถามเรื่องสีเสื้อต่างๆ ว่าควรจะยุติได้แล้วหรือไม่ ในยุครัฐบาลนี้ นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอ วันนี้เราไม่มีสีเสื้อแล้ว ก็เป็นเรื่องของการพูด แต่เหนือสิ่งอื่นใดอยู่ที่การกระทำมากกว่า เรื่องการลงพื้นที่ก็ไม่ได้ไปแต่พื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยมี ส.ส. เยอะ คือภาคอีสาน…ไปภาคใต้ และทำงานให้ทุกๆ ภาค ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจน”
“การที่เรามาทำตรงนี้ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนในภาคใดภาคหนึ่ง หลายๆ รัฐมนตรีเองก็มีความเข้าใจถึงปัญหาที่รัฐบาลประสบมา ทั้งในปัจจุบันและในอดีต เรื่องปัญหาทะเลาะเบาะแว้งเป็นเรื่องที่เราไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้น ฉะนั้นการแสดงออกของรัฐมนตรีหรือการทำงานของรัฐบาลนี้ ได้เน้นย้ำตลอด เรื่องการทำแต่เขตของตัวเองหรือ พรรคพวกของตัวเอง ไม่อยากให้มี แต่เวลาพูดก็พูดไป แต่เชื่อว่าการกระทำจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ก็ขอให้ดูกันต่อไป ผมเชื่อว่าผมได้แสดงออกอย่างเต็มที่แล้วว่าเราไม่มีสีเสื้อ และพยายามที่จะเดินหน้ากันต่อไป” นายเศรษฐา กล่าว
“แต่ก็เข้าใจถึงความเจ็บปวดในอดีตที่เคยมีมาก็ต้องบริหารเรื่องความคาดหวัง เรื่องสภาพจิตใจของทุกๆ ฝ่าย ไม่ได้บอกว่าเป็นหน้าใหม่ พรรคการเมืองเข้ามาได้แค่ 2-3 ปี แล้วจะพยายามจะดึงทุกอย่าง แต่เวลาจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาจิตใจของทุกๆ ฝ่าย และเชื่อว่าการที่เราตั้งใจมาทำงานตรงนี้และพยายามที่จะขจัดปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เป็นสัญญาณที่ดีจากทุกๆ ฝ่าย ความรุนแรง ความร้อนแรงทางด้านการเมืองก็หวังว่าจะมีการลดลงไปได้” นายเศรษฐากล่าว
ถามต่อว่า สมาชิกพรรคเพื่อไทยอาจหันไปสนับสนุนพรรคที่เป็นคู่แข่ง ทำให้ นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมเชื่อว่าการที่พี่น้องประชาชนจะเลือกพรรคใด เรื่องการทำงานของรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญ การขจัดปัญหาที่เขาประสบอยู่ ปัญหาความยากจน หนี้นอกระบบ ราคาสินค้าเกษตร เป็นเรื่องสำคัญซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา”
“อย่างที่บอกงบประมาณเพิ่งใช้ได้ในต้นเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งได้อนุมัติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ขอให้ใช้เวลาแล้วกัน เลือกตั้งมันจบไปแล้ว มั่นใจว่ารัฐบาลนี้ รัฐมนตรีทุกคนทุกพรรคมาทำงานแบบน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” นายเศรษฐา กล่าว
ถามต่อว่า ในที่ประชุมเพื่อไทยวันนี้ มีข่าวว่าจะเคลียร์ใจเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมไม่ทราบเลย ติดภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลตลอด คงเข้าไปไม่ได้ มีคนเข้ามาเจอเยอะมากในหลายๆ เรื่อง”
ปัดตอบเพื่อไทยกลับลำ ดัน ‘ร่าง กม.นิรโทษกรรม’
เมื่อถามถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่พยายามผลักดัน ‘ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม’ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงล้างความผิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีมาตรา 112 โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ตามที่บอกไปแล้ว ได้พูดไปแล้ว เรียบร้อยแล้ว ไม่อยากพูดอีกในเรื่องนี้”
ผู้สื่อข่าวเสริมว่า นายทักษิณ อยู่ระหว่างการดำเนินคดีดังกล่าวอยู่ นายเศรษฐา จึงบอกว่า “ได้พูดไปเยอะแล้ว ขอไม่พูดเรื่องนี้ ขอคำถามต่อไป”
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า คณะกรรมาธิการ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของสภา ได้มีการพิจารณาว่าเข้าข่ายความผิดทางการเมืองหรือไม่ เพราะสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยมีเรื่องนี้แล้วต้องสูญเสียอำนาจไป โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “จุดยืนชัดเจนแล้วครับ ผมพูดไปแล้วเรื่องนี้”
ชี้สัญญาใจกับ ‘วิษณุ’ เป็นเรื่องคนสองคน
ผู้สื่อข่าว ย้อนกลับไปถามประเด็นนายวิษณุ เครืองาม ว่า มี ‘สัญญาใจ’ อะไร บอกได้หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “เวลาพูดถึงสัญญาใจกัน ก็เป็นเรื่องของคนสองคน ต้องขอความกรุณาด้วยครับ”
ถามต่อว่า นายวิษณุจะมาแค่ชั่วคราวใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “เชื่อว่าการที่อยู่ด้วยกันก็ต้องค่อย ๆ ทำงานไปด้วยกัน รู้จักกับท่านมานาน แต่ก็ไม่เคยทำงานด้วยกัน คิดว่าเป็นเรื่องที่เราต้องพัฒนาความสัมพันธ์กันไป มั่นใจว่า ถ้าสามารถทำให้ท่านมีความสุขได้ เราก็พยายามจะอยู่กันไปนานๆ”
เสมือนน้ำไม่เต็มแก้ว พร้อมรับฟังความเห็นอดีตนายกฯ
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังถามเรื่อง ‘สัญญาใจ’ ระหว่างนายกฯ และนายทักษิณ ชินวัตร ทำให้ นายเศรษฐา หัวเราะเบาๆ และบอกว่า “ไม่มี ไม่มีสัญญาใจ สำหรับผู้นำในอดีตทุกท่าน หรือ หลาย ๆ ท่าน ซึ่งเรามาตรงนี้เรามาช่วยกันดูแลประเทศ ใครมีข้อเสนอแนะอะไรดีๆ ยินดีน้อมรับ เพราะผมก็ไม่เคยที่จะไม่รับฟังความคิดเห็นของทุกคน แต่ในขีดจำกัดของการเป็นนายกฯ ในวันนี้กับเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา มันก็มีขีดจำกัดที่แตกต่างกันไป และ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ก็แตกต่างกันไป การพูดเรื่องต่างๆ ก็ต่างกัน”
“เหนือสิ่งอื่นใดผมเชื่อว่าคนเราต้องทำตัวให้เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ถ้าใครมีข้อแนะนำดีๆ ใครมีข้อติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เราควรจะฟังคือเรื่องข้อติมากกว่า มันจะต้องได้ยินเสียงที่ไม่อยากจะได้ยินตลอดก็มีการพัฒนา โดยส่วนตัวผมเองที่มาอยู่ตรงนี้ได้ เพราะผมทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว และไม่ได้เลือกได้ยินแต่เสียงที่ตัวเองอยากได้ยิน” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า “ผมพูดตลอดในหลายเวที จริงๆ แล้วเสียงที่เราไม่อยากได้ยิน อาจจะเป็นเสียงที่ประเสริฐที่สุด และต้องนำมาพัฒนาแก้ไขปรับปรุง จะมาจากท่านนายกฯ ทักษิณ นายกฯ อานันท์ (อานันท์ ปันยารชุน) นายกฯ ชวน (นายชวน หลีกภัย) ถ้าเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ผมก็น้อมรับที่จะไปแก้ไขปรับปรุง”
ยอมรับบริหารงานต่างจาก ‘บิ๊กตู่’ แต่ปรารถนาดีต่อชาติเหมือนกัน
ส่วน ‘สัญญาใจ’ ระหว่างนายกฯ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมเชื่อว่าเรื่องของใจต่อใจที่ผมมีกับนายกฯประยุทธ์ชัดเจน จุดมุ่งหมายเราจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพราะท่านฝากบ้านเมืองไว้ให้ผมในฐานะนายกฯคนที่ 30 ต่อจากท่านคนที่ 29 ก็พยายามดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด”
“วิธีการทำงานแน่นอนครับ แบ็กกราวด์ของแต่ละท่านก็แตกต่างกันไป ผมมาจากภาคธุรกิจ ท่านมาจากฝ่ายความมั่นคง แต่ผมเชื่อว่าวิธีการหรือแนวทางอาจจะต่างกัน แต่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ผมเชื่อและมีความมั่นใจว่าท่านเองก็มีความปรารถนาดีกับบ้านเมือง อย่างที่บอกเรื่องวิธีการทำงานเราอาจจะแตกต่างกันไป แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือจุดมุ่งหมาย” นายเศรษฐา กล่าว
มั่นใจ ‘ทักษิณ’ ไม่หนี พร้อมสู้คดี
เมื่อถามว่า นายกฯ ช่วยดับกระแสข่าวลือได้หรือไม่ว่า นายทักษิณยังอยู่ในประเทศ ไม่ได้หนีออกไปต่างประเทศ และได้มีการติดต่อกันหรือไม่ ทำให้ นายเศรษฐา กล่าวพร้อมหัวเราะว่า “ตนได้เจอคุณอุ๊งอิ๊ง (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ในงานเมื่อเช้าวันเดียวกันนี้ และได้ถามถึงคุณพ่อ ซึ่งคุณอุ๊งอิ๊งได้บอกว่าพ่อสบายดี ทำให้ตนมั่นใจว่า นายทักษิณไม่ได้ออกนอกประเทศ”
“ผมคิดว่าท่านพร้อมสู้ เพราะไปอยู่ต่างประเทศมา 17 ปีแล้ว มันนานพอแล้ว และเชื่อว่าวันนี้ท่านก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นขวากหนามที่มันต้องเข้ามา มันก็ต้องว่ากันไป แต่ผมพูดแทนท่านไม่ได้ แต่ก็คิดว่าท่านคงไม่ได้คิดจะไปไหนหรอกครับ” นายเศรษฐา กล่าว
เร่งออก กม.สถานบันเทิงครบวงจร คาดปีแรกเก็บภาษีทะลุ 12,000 ล้าน
ด้านนายชัย รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ ได้ติดตามการดำเนินการเรื่องสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) โดยสั่งการให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้โดยละเอียด และให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เร่งดำเนินการ เพื่อให้มีแนวทางในการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมต่อไป
นายชัย กล่าวต่อว่า นายกญ มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณายกร่างกฎหมายพระราชบัญญัติสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … โดยนำร่าง พ.ร.บ. ฉบับกรรมาธิการมาพิจารณาประกอบกับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติ ครม. (9 เมษายน 2567) พร้อมจัดทำแผนการออกกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอให้ ครม. พิจารณาในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ให้เป็นไปตามขั้นตอนการเสนอ กม. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
“Entertainment Complex สถานบันเทิงครบวงจร มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เพราะว่าสถานบริการครบวงจร ถ้าพูดถึงมูลค่าของธุรกิจ Entertainment Complex ทั่วโลก ปี 65 มีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เอา 36 คูณเข้าไป ตก 54 ล้านล้านบาท และคาดว่าปี 71 มูลค่าของธุรกิจสถานบริการครบวงจร จะเติบโตกระโดดจาก 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 79 ล้านล้านบาท” นายชัย กล่าว
นายชัย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศหรือเขตปกครองที่มีธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรมูลค่าใหญ่ที่สุดคือ มาเก๊า ซึ่งเป็นเขตปกครองที่มีประชากร 6.95 แสนคน ทำยอดธุรกิจ 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณเกือบ 1.2 ล้านล้านบาท รองลงมาเป็นลาสเวกัส 30,000 ล้านเหรียฐสหรัฐ, สิงคโปร์ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 432,000 ล้านบาทต่อปี, เกาหลีใต้ 324,000 ล้าน เหรียญสหรัฐ, ฟิลิปปินส์ 246,000 ล้านเหรียญสหรัฐ, เวียดนาม 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ, อินโดนีเซีย 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ประเทศไทย 0 บาท จะเห็นว่าประเทศในเอเชีย ประเทศรอบข้างเราเขาเดินหน้าไปไกลกว่าเราเยอะ คณะกรรมมาธิการฯ คาดว่าถ้าประเทศไทยมีสถานบันเทิงครบวงจร ในปีแรกจะเก็บภาษีไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท” นายชัย กล่าว
สั่ง ‘คลัง-แรงงาน’ หามาตรการกระตุ้น ศก. – เยียวยาแรงงาน
นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายพิชัย ชุณหวชิร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาแรงงาน เนื่องจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตเท่าที่ควร จึงเกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ รวมถึงโรงงานทั่วประเทศที่จะต้องมีการปิดตัวลง หรือเลิกจ้างงาน โดยให้หามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานอย่างเหมาะสม และให้นำมารายงานต่อ ครม. ในครั้งต่อไป
“สถานภาพการจ้างงานที่เมืองไทย เขาจะดูที่สัญญาณเตือนภัยด้านแรงงาน ซึ่งมี 3 ระดับ สีเขียว เหลือง แดง สัญญาณเตือนภัยจะคำนวณมาจากดัชนีทางเศรษฐกิจ 26 ตัว 0 – 1.1 ถือว่ายังอยู่สีเขียว 1.1 – 1.5 สีเหลือง และเกิน 1.5 คือสีแดง” นายชัย กล่าว
นายชัย กล่าวต่อว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีค่าดัชนีที่ 0.03 ยังค่อนข้างต่ำ แต่นายกฯ ไม่รอให้สถานการณ์มันเลยสีเขียว แม้สภาพการจ้างงาน 12 เดือนข้างหน้ายังปกติ แต่นายกฯ ให้ไปดูว่าจะดูแลอย่างไร”
มอบ CEA จัดนิทรรศการแลกเปลี่ยนความรู้
นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานในต่างประเทศ เกี่ยวกับการจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน และขอให้รายงานผลการดำเนินการต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร) เพื่อมานำเสนอต่อ ครม. หรือผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
สั่ง ทส.เร่งฟื้นฟูที่ดินรับวันสิ่งแวดล้อมโลก
นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้กับทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการฟื้นฟูที่ดิน ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน ช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความยากจน และสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังจะช่วยเพิ่มพื้นที่เก็บกักคาร์บอน และลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนลดการเกิดภัยแล้ง
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยปีนี้กำหนดหัวข้อ (theme) ในการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่อง Land Restoration, Desertification and Drought resilience โดยมุ่งเน้นในเรื่องการฟื้นฟูที่ดิน การแปรสภาพเป็นทะเลทราย และการฟื้นตัวจากภัยแล้ง
มติ ครม. มีดังนี้
จัดงบฯกลางปี’67 วงเงิน 1.22 แสนล้าน แจก ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็น งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการเพิ่มเติม จำนวน 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เห็นชอบในหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยใช้จ่ายจาก 3 แหล่งเงิน ได้แก่ (1) การบริหารงบฯ ปี 67 จำนวน 175,000 ล้านบาท (2) การดำเนินการผ่านหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และ (3) งบฯ ปี 68 จำนวน 152,700 ล้านบาท และมีมติเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 68-71) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ประกอบกับตามปฏิทินงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 กำหนดให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบายงบฯ วงเงินงบฯ และโครงสร้างงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 ในวันที่ 4 มิถุนายน 2567
สำนักงบประมาณได้ประชุมหารือเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยกำหนดวงเงินงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สำหรับการดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล โดยที่ประชุมได้กำหนดงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็นงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้จำนวน 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท
การดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องลงทะเบียนผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการให้ทันภายในปีงบฯ 2567 เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 ได้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 และสอดคล้องตาม มาตรา 21 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการทันภายในปีงบฯ 2567 จึงอาจพิจารณาผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการที่เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.98 ล้านคน ตามขั้นตอนในโอกาสแรกก่อน
ทั้งนี้ วงเงินงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบฯ ปี 2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,602,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบฯ 2566 จำนวน 417,000 ล้านบาท (ร้อยละ 13.1) ซึ่งเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 2568-71) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 และสำหรับงบลงทุนฯ และงบฯ ชำระคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
ผู้สื่อข่าวถามโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า วันนี้กระทรวงการคลังนำเสนอเรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำ 1,500 บาทหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า “กระทรวงการคลังมีการนำเสนอเรื่องนี้เข้ามา แต่ประชุม ครม.มีมติว่ายังแถลงรายละเอียดไม่ได้ จนกว่าเรื่องนี้จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 15 วัน เรื่องนี้รัฐบาลดูแลแน่นอน และก็มีการพูดคุยใน ครม.อดใจรอนิดให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีการพูดคุยและลงมติไปแล้ว แต่ผมไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้”
เห็นชอบกรอบความร่วมมือ ‘อินโด-แปซิฟิก’ 3 ฉบับ
นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการเข้าร่วมกิจกรรมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) และการรับรองถ้อยแถลงระดับผู้นำฯ และเห็นชอบต่อร่างความตกลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Agreement on the Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity Agreement Relating to a Clean Economy) และร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิพิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity Agreement Relating to a Fair Economy)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สหรัฐอเมริกาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่สำคัญ โดยที่ประชุมได้รับทราบพัฒนาการของการเจรจาและแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป ตลอดจนการจัดทำข้อริเริ่มและการดำเนินโครงการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมที่สำคัญอื่น ๆ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมกับผู้นำ IPEF รับรองถ้อยแถลงระดับผู้นำฯ ซึ่งโดยสรุปกล่าวถึงพัฒนาการที่สำคัญใน IPEF โดยเฉพาะการลงนามร่างความตกลงสำหรับเสาความร่วมมือที่ 2 ด้านห่วงโซ่อุปทาน เมื่อวันที่ 14 พฤจิกายน 2566 และการสรุปผลการเจรจาร่างความตกลงสำหรับเสาความร่วมมือที่ 3 ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเสาความร่วมมือที่ 4 ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม พร้อมทั้งจะสานต่อการเจรจาร่างความตกลงสำหรับเสาความร่วมมือที่ 1 ด้านการค้า ตลอดจนแสวงหาข้อริเริ่มความร่วมมือเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน
ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Agreement on the Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) มีสาระสำคัญเพื่อจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนและติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือ IPEF ในระดับรัฐมนตรี
ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อน (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity Agreement Relating to a Clean Economy) ประกอบด้วย 9 หมวด รวม 38 ข้อ โดยมีสาระสำคัญเพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ กรอบการระดมทุน นโยบาย มาตรการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุนที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำจัดคาร์บอน และเพิ่มการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสาขาต่าง ๆ และ
3. ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (indo-Pacific Economic Framework for Prosperity Agreement Relating to a Fair Economy) ประกอบด้วย 4 หมวด รวม 35 ข้อ โดยมีสาระสำคัญเพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการด้านการต่อต้านการทุจริตและการบริหารจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ ข้างต้นทั้ง 3 ฉบับเป็นไปตามกรอบการเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก และกรอบการเจรจา (เพิ่มเติม) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีด้วยแล้วเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ตามลำดับ
โดยประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสาขาต่างๆ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการระดมทุนเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และช่วยเสริมสร้างศักยภาพของคนไทยไปสู่การยกระดับมาตรฐานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักธรรมาภิบาล
วุฒิสภาแนะจัด ‘Fast Track’ ดึงคนเก่งเข้าสู่ระบบการศึกษา
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษารูปแบบ Fast Track สำหรับบุคคลที่มีสมรรถนะสูง ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ดังนี้
- 1. ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษารูปแบบ Fast Track สำหรับบุคคลที่มีสรรถนะสูง ได้แก่ 1) ควรมีหลักการในการจัดทำกรอบคุณวุฒิทางการศึกษาโดยกำหนดให้สมรรถนะเป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ (Learning Outcomes) 2) ควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มสำหรับผู้มีสมรรถนะสูง และคนไทยทุกระดับให้เข้ารับการพัฒนาและเทียบระดับสมรรถนะ โดยมีการออกแบบเพื่อให้คนไทย Up-Skill และ Re-Skill ได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2. ข้อเสนอเชิงนโยบายการเทียบระดับการศึกษา จัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ (Online) เพื่อแก้ไขสภาพปัญหาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีสมรรถนะสูงสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่องทุกที่ทุกเวลา
นายคารม กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษารูปแบบ Fast Track สำหรับบุคคลที่มีสมรรถนะ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาศึกษาการดำเนินงานประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของผู้เรียนการศึกษานอกโรงเรียน และการเทียบประสบการณ์บุคคลที่มีสมรรถนะสูงสู่การศึกษาระบบ Fast Track ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้ว สรุปผลการพิจารณาว่า กรอบคุณวุฒิแห่งชาติครอบคลุมกรอบคุณวุฒิการศึกษาที่เน้นการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ ตามสมรรถนะของบุคคลทั้งคุณวุฒิทางการศึกษา และมาตรฐานอาชีพ และกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการจัดทำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (ฉบับปรับปรุง) เพื่อใช้เป็นกลไกในการเชื่อมโยงระบบการเรียนรู้ของภาคการศึกษา ให้ยึดโยงกับมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ตลาดแรงงานยอมรับ และได้จัดแผนปฏิบัติการด้านการผลิต และพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. 2562 – 2565 เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมอันจะนำไปสู่การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ รวมถึงได้ทดลองนำร่องจัดตั้งธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อสร้างระบบการสะสมและการเทียบโอนหน่วยการเรียน ทั้งการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบ ให้มีความยืดหยุ่นหลากหลายในช่วงวัยเรียน และวัยทำงาน โดยจะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับได้อย่างสะดวก และง่ายต่อการดำเนินการ
รับทราบผลงาน กสศ.ปี’66
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานประจำปี 2566 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่ง กสศ. ได้ดำเนินภารกิจโดยมุ่งเน้นการ “ร่วมคิด ร่วมสร้าง และร่วมเป็นเจ้าของ” กับภาคีทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคเอกชน ซึ่งสอดคล้องตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 และแผนกลยุทธ์ของ กสศ. (ปี 2565 – 2567) โดยมีกลุ่มผู้รับประโยชน์สามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและได้รับการพัฒนาทักษะตนเองตามศักยภาพ รวม 2,909,960 คน-ครั้ง มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ 2 ภารกิจ ดังนี้
1. ภารกิจสนับสนุนให้เข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ เป็นการค้นหาแนวทางจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน และประชากรวัยแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาหรือการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่เหมาะสม ดังนี้ กลุ่มผู้รับประโยชน์ ได้แก่
- 1) เด็กปฐมวัยและเด็กในช่วงชั้นการศึกษา ภาคบังคับ (อายุ 3 – 14 ปี) การดำเนินงาน กสศ. ร่วมกับ 6 หน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษา ประกอบด้วย (1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (3) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) (4) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (5) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการ์ศึกษาเอกชน และ (6) สำนักการศึกษกรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา (การจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค) เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้เด็กและเยาวชนกลุ่มยากจนพิเศษสามารถเข้าถึงและคงอยู่ในระบบการศึกษาทั้งนี้ ได้มีการสนับสนุนและส่งเสริมเด็กและเยาวชนในระดับชั้นอนุบาลจนถึงการศึกษาภาคบังคับ (อนุบาล 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3) ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส โดยจัดสรรเงินอุดหนุน ให้แก่นักเรียน จำนวน 2,839,253 คน – ครั้ง ทั้งนี้ ในภาคเรียนที่ 2/2565 พบว่า เด็กร้อยละ 95.95 ยังคงอยู่ในระบบการศึกษานอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนำร่องใน 28 เขตพื้นที่การศึกษา
2) เยาวชนในระบบการศึกษาระดับชั้นสูงกว่าภาคบังคับ (อายุ 15 – 24 ปี) การดำเนินงาน มีการช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนกลุ่มเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้ศึกษาต่อในระดับสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับและส่งเสริมการมีงานทำเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยเป็นการให้ทุนการศึกษา 3 ประเภท ได้แก่ (1) ทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนที่เรียนดีมีฝีมือได้ศึกษาต่อและมีงานทำทันทีหลังสำเร็จการศึกษา (2) ทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพหรือทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนที่เรียนดีระดับประเทศได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ (3) ทุนครูรัก(ษ์) ถิ่น ระดับปริญญาตรี เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในเขตพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน โดยมีผู้ได้รับทุนสะสมรวมทั้ง 3 ประเภท 9,991 คน นอกจากนี้ มีการพัฒนาต้นแบบสถาบันอาชีวศึกษา 105 แห่ง ใน 50 จังหวัด การเตรียมความพร้อมโรงเรียนปลายทางที่บัณฑิตครูรัก(ษ์) ถิ่นจะไปบรรจุเป็นครู 1,269 แห่ง ในพื้นที่ 62 จังหวัด และการพัฒนาต้นแบบสถาบันผลิตและพัฒนาครู 19 แห่ง ให้ตรงตามความต้องการของบริบทพื้นที่
3) เยาวชนนอกระบบการศึกษา และประชากรวัยแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส (อายุ 15 – 64 ปี)การดำเนินงาน มีการยกระดับทักษะให้แก่กลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ และมีการขยายผลการดำเนินงานโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้ขยายการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไปยังศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน จำนวน 21 แห่ง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาระบบดูแลเยาวชนนอกระบบการศึกษากรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการได้พัฒนารูปแบบการสร้างทักษะเรียนรู้สำหรับกลุ่มคนพิการ
2. ภารกิจมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลง เป็นการพัฒนาตัวแบบหรือต้นแบบในการพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ รวมทั้งรูปแบบกลไกการทำงานในระดับพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม เพื่อลดความเสมอภาคทางการศึกษา ดังนี้
- 1) การพัฒนาครู โรงเรียน และสถานศึกษา มีการดำเนินโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองและการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง โดยได้พัฒนาครู นักจัดการเรียนรู้และบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 19,050 คน จากโรงเรียน 1,270 แห่ง และมีนักเรียนในโรงเรียนได้รับประโยชน์ 127,000 คน นอกจากนี้ ได้ขยายผลการดำเนินงานโดยภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต้นสังกัด ส่งผลให้มีเขตพื้นที่ต้นแบบทางการศึกษาจำนวน 21 เขต และต้นแบบโรงเรียนพัฒนาตนเองใน 10 จังหวัด อีกทั้งได้พัฒนาสมรรถนะครู 685 คน ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนร่วมกับ บช.ตชด. เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ
2) การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มีการพัฒนาตัวแบบการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพื่อให้การจัดการศึกษามีความสอดคล้องกับปัญหาและบริบทของพื้นที่ ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ดำเนินการมาแล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น สุรินทร์ ระยอง สมุทรสงคราม สุราษฎร์ธานี สงขลา และปัตตานี และเพิ่มเติมอีก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย นครพนม และยะลา รวมทั้งได้พัฒนาตัวแบบระดับเทศบาล 5 แห่ง ได้แก่ (1) เทศบาลนครยะลา (2) เทศบาลนครตรัง (3) เทศบาลนครอุดรธานี (4) เทศบาลเมืองลำพูน และ (5) กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้
3) การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีการจัดทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จำนวน 22 ชิ้นงาน เพื่อตอบโจทย์เขิงนโยบายที่สำคัญของประเทศและมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบรวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น (1) การฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนจากภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด – 19 (2) “ห้องเรียนผู้ประกอบการ” นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตทักษะอาชีพร่วมกันระหว่างเครือข่ายโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนนานาชาติ (3) ข้อเสนอแนวทางการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการด้านการศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคของการจัดสรรทรัพยากรไปยังโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกัน
4) การเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ได้ส่งต่อข้อมูลผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ร่วมทั้งร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสถาบันอุดมศึกษาสนับสนุนทุนกาศึกษาหรือการช่วยเหลืออื่น ๆ แก่นักศึกษา จำนวน 1,780 คน และร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกแบบและพัฒนาระบบแจ้งเตือนเหตุทางสังคม ESS Help Me (Emergency Social Services) เพื่อส่งต่อข้อมูลและความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด
มอบ รมว.แรงงานให้สัตยาบัน ILO
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้ 1. การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ.1976 2. ให้กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการจัดทำสัตยาบันสารเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ และ 3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดำเนินการมอบสัตยาบันสารให้กับผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ในฐานะผู้เก็บรักษาอนุสัญญา โดยมีกำหนดการเดินทางไปมอบสัตยาบันสารให้กับผู้อำนวยการใหญ่ ILO ในระหว่างการประชุมใหญ่ประจำปี ILO สมัยที่ 112 ระหว่างวันที่ 11 – 15 มิถุนายน 2567 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
สำหรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ.1976 เป็นหนึ่งในอนุสัญญาธรรมาภิบาลของ ILO มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้รัฐสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ดำเนินกระบวนการปรึกษาหารือไตรภาคี (ระหว่างตัวแทนของรัฐบาล ตัวแทนของนายจ้าง และตัวแทนของลูกจ้าง) ในประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยมีการกำหนดหน้าที่รัฐสมาชิกต้องปฏิบัติ และมีการใช้ถ้อยคำที่มุ่งหมายให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมาย ระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยกระบวนการปรึกษาหารือไตรภาคีดังกล่าว ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมการเจรจาทางสังคมในระดับประเทศและการมีส่วนร่วมของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ทั้งประเด็นด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ปัจจุบันมีรัฐสมาชิก ILO ที่ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 144 แล้ว จำนวน 157 ประเทศ จาก 187 ประเทศ โดยเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียน จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
กระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง บิลค่าที่พัก – แพกเกจทัวร์ หักภาษี 1.5 – 2 เท่า
นางรัดเกล้า อินวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) และมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) ซึ่งคือระหว่างเดือนพฤษภาคม 2567 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2567
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด – 19 และ ผลกระทบจากปัญหาเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของจีน ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ทั้ง 2 มาตรการนี้จะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับระบบเศรษฐกิจของไทย เพราะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงานอีกด้วย
โดยทั้ง 2 มาตรการ มีระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567- 30 พฤศจิกายน 2567
มาตรการแรก “มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล)”
กลุ่มเป้าหมาย – บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
สิทธิประโยชน์ทางภาษี – ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าวที่จ่ายไปตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 – 30 พฤศจิกายน 2567 โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น ทั้งนี้ สำหรับค่าขนส่ง สามารถจ่ายให้ผู้ที่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ซึ่งจะต้องมีใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยทำผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
รายละเอียดของการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการหักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้
- (1) หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด (พื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก)
(2) หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่ไม่ได้จัดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดฯ (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก)
(3) ให้หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ในกรณีที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด
พื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์ จังหวัดท่องเที่ยวรอง โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทั้งจังหวัด 55 จังหวัด และพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก 15 จังหวัด (หักรายจ่ายได้ 2 เท่า) และพื้นที่อื่น (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก) (หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า)
มาตรการที่สอง “มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา)”
กลุ่มเป้าหมาย – ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สิทธิประโยชน์ทางภาษี – ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักลดหย่อนค่าบริการได้ ดังนี้ (1) ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว (2) ค่าที่พักในโรงแรม (3) ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย (4) ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น
พื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์ จังหวัดท่องเที่ยวรองเท่านั้น
ทั้งนี้ ทั้ง 2 มาตรการดังกล่าว จะรวมอยู่ในการดำเนินการออกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … จำนวน 1 ฉบับ
กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,200 ล้านบาท ในขณะที่ มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 581.25 ล้านบาท
ในการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าขอให้ทางกฤษฎีกาเร่งดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้น ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่แต่ละเขต แต่ละจังหวัด ดูแลพื้นที่ตัวเองอย่างใกล้ชิด โดยขอให้ประสานงานกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองรองอย่างมีประสิทธิภาพ
“มาตรการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” นางรัดเกล้า กล่าวย้ำ
ให้ จนท.EU ใช้ ‘แลสเซ – ปาสเซ’ เป็นหนังสือเดินทางได้
นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในความเดิมนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 เห็นชอบความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสหภาพยุโรปว่าด้วยการยอมรับ “แลสเซ – ปาสเซ” (Laissez-Passer) ซึ่งคือการยอมรับเอกสารการเดินทางที่ออกโดยสหภาพยุโรป (EU) ให้เป็นเอกสารการเดินทางของเจ้าหน้าที่ EU ที่สมบูรณ์เทียบเท่ากับหนังสือเดินทางสำหรับการเดินทางเข้ามาในไทย โดยผู้ที่ถือแลสเซ-ปาสเซ เข้ามาในไทยจะต้องเคารพกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่มีผลใช้บังคับในไทย ซึ่งหลังจากผลมติ ครม. ได้มีการมอบหมายให้ กต. และกระทรวงมหาดไทย (มท.) พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ และระเบียบในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับความตกลงฯ ในโอกาสแรก โดยต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 รัฐบาลไทยและสหภาพยุโรปได้ลงนามในความตกลงฯ โดยร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการยอมรับแลสเซ-ปาสเซ ดังกล่าว
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ทาง กต. และ มท. จึงได้ร่วมกันยกร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฯ โดยปรับเพิ่มเฉพาะถ้อยคำว่า “หรือหนังสือเดินทางสหภาพยุโรป” และ “หรือหน่วยงานสหภาพยุโรป” เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงฯ เช่น ในข้อ 3 วรรคสอง “ทั้งนี้ ให้ผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติที่เทียบเท่าหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางสหภาพยุโรปยื่นขอรับการตรวจลงตรา ต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย พร้อมกับหนังสือขอรับการตรวจลงตราสำหรับผู้นั้นจากกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูต หรือสถานกงสุลของประเทศผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หรือองค์การหรือหน่วยงานสหประชาชาติ หรือหน่วยงานสหภาพยุโรป แล้วแต่กรณี”
ทั้งนี้ ผู้ถือหนังสือเดินทางสหภาพยุโรปสามารถยื่นขอรับการตรวจลงตรา ตามบทบาทหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการพำนักในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภททูต ประเภทราชการ และ ประเภทอัธยาศัยไมตรี โดยจะบังคับใช้กับบุคคลในครอบครัวที่ถือหนังสือเดินทางสหภาพยุโรปด้วย
รับทราบมาตรการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปี’67
นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยรายงานให้ กนช. ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กนช. รายงานว่า ตามปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ให้หน่วยงานนำไปใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงาน สำหรับช่วงฤดูฝน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม และสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี (ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน และสิ้นสุด วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ของทุกปี) ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ (1) ช่วงก่อนฤดูฝน เป็นการเตรียมการและสร้างการรับรู้ (2) ช่วงระหว่างฤดู เป็นการวิเคราะห์ ติดตาม ประเมินสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยและการให้ความช่วยเหลือ และ (3) ช่วงสิ้นสุดฤดู เป็นการประเมินผลเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล ซึ่งในช่วงก่อนฤดูกาลของทุกปีจะมีการจัดทำมาตรการรับมือฤดูฝน
ในครั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับทุกภาคส่วนประชุมหารือกำหนดมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 จำนวน 10 มาตรการ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที รวมทั้งได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2567/2568 โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
“มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567” มีจำนวน 10 มาตรการ ดังนี้
- มาตรการที่ 1 – คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง (เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป)
มาตรการที่ 2 – ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 3 – เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงและศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 4 – ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 5 – เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 6 – ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 7 – เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน (ภายในเดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน 2567)
มาตรการที่ 8 – สร้างความเข้มเข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 9 – การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 10 – ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน)
“โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูใน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568” ระยะเวลาดำเนินการ 120 วันนับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ โดยแบ่งไว้ทั้งหมด 5 กิจกรรม ดังนี้
- การซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์
- การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา
- การขุดลอกคูคลอง
- การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และ
- การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง
ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่าตอนนี้ทางรัฐบาลโฟกัสในเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อตอบโจทย์ด้านการเกษตร ด้านการปกป้องดูแลระบบนิเวศ และด้านการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม อีกสิ่งสำคัญคือ ตอนนี้นโยบายของรัฐคือ การเชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลกให้มาประกอบธุรกิจในไทย การมีระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีนั้น จะทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ
นอกจากนี้ วันนี้ ครม. มีมติรับทราบแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนออีกด้วย ซึ่ง แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นเป้าหมาย ของแผนปฏิบัติฯ คือการเพิ่มความจุกักเก็บน้ำ 1,544.86 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ 7.5 ล้านไร่ และมีประชาชนได้รับประโยชน์ 5,623,955 ครัวเรือน รวมถึงมีพื้นที่ได้รับการป้องกัน 5.97 ล้านไร่ และมีเขื่อนป้องกันตลิ่งความยาว 552,817 เมตร โดยจะใช้งบประมาณทั้งประเทศ จำนวน 440,431.2 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
ไฟเขียว กฟผ.ใช้งบฯค้างท่อ 418 ล้าน สร้างสาธารณูปโภค 5 หมู่บ้าน อ.แม่เมาะ
นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่รองรับการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน (เพิ่มเติม) จำนวน 7 รายการ ได้แก่
- (1) งานก่อสร้างโรงเรียนวัดหัวฝาย (เพิ่มเติม)
(2) การขยายเขตระบบไฟฟ้าเป็น 2 ข้างทาง
(3) งานก่อสร้างฌาปนสถาน หมู่ที่ 7 สำหรับบ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านดง
(4) งานปรับปรุงลานคอนกรีต โรงจอดรถ และสาธารณูปโภค ห้องน้ำ ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณตลาดกลาง และอื่น ๆ
(5) งานก่อสร้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แห่งใหม่ (ทดแทนของเดิม) งานปรับปรุงภูมิทัศน์ งานจัดสร้างบ่อน้ำพุ และระบบไฟฟ้า
(6) โรงจอดรถดับเพลิง 4 คัน พร้อมอาคารสำนักงาน (ทดแทนของเดิม)
(7) งานจัดหาปริมาณน้ำใช้เพิ่มเติม สำหรับพื้นที่รองรับการอพยพบ้านห้วยคิง
โดยใช้งบประมาณจำนวน 82.58 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติในหลักการไว้แล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 (เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาราษฎร 5 หมู่บ้าน ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ร้องเรียนขออพยพ) จำนวน 2,970.50 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) ค่ารื้อย้าย/ค่าชดเชย อพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน จำนวน 2,138.00 ล้านบาท และ (2) ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่รองรับการอพยพราษฎร จำนวน 832.50 ล้านบาท โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าจะมีค่ารื้อย้าย/ค่าชดเชย เกิดขึ้นจริง จำนวน 1,719.04 ล้านบาท (ซึ่งครอบคลุมเพียงพอกับการจ่ายค่ารื้อย้าย/ค่าชดเชยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว) และมีงบประมาณคงเหลือ จำนวน 418.96 ล้านบาท
2. กรณีในอนาคต หากงบประมาณการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่รองรับการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน ไม่เพียงพอ เห็นควรให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสามารถพิจารณาอนุมัติการใช้งบประมาณคงเหลือจากงบประมาณค่ารื้อย้าย/ค่าชดเชยดังกล่าว เพื่อใช้สำหรับงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่รองรับการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน (เพิ่มเติม) เป็นรายกรณีตามความจำเป็น โดยไม่กระทบต่องบประมาณที่ได้รับอนุมัติในหลักการไว้แล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556
ทั้งนี้ กฟผ. ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคที่ได้รับจัดสรรไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี (15 ตุลาคม 2556) จำนวน 832.50 ล้านบาท แล้ว พบว่า งบประมาณคงเหลือในส่วนดังกล่าวไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น กฟผ. จึงจำเป็นต้องนำเงินในส่วนของค่ารื้อย้าย/ค่าชดเชย ซึ่งคงเหลือจำนวน 418.96 ล้านบาท มาใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการดังกล่าว
อย่างไรก็ดี การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่รองรับการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน (เพิ่มเติม) จำนวน 7 รายการ จะส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค และมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้าปริมาณ 19,000 ล้านหน่วยต่อปี (ประมาณร้อยละ 10 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ) และเป็นโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของรัฐ ซึ่งใช้ถ่านหินลิกไนต์ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาต่ำในการผลิตไฟฟ้าสามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้อย่างเป็นปกติ โดบไม่เกิดปัญหาการชุมนุมประท้วงของกลุ่มราษฎรผู้อพยพ
ตั้ง ‘สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา’ กุนซือ รมช.คลัง
นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ การแต่งตั้งข้าราชการการเมืองมีรายละเอียดดังนี้
1. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอการแต่งตั้ง นายดุสิต เมนะพันธุ์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป
2. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอการแต่งตั้ง นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล)] โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 4 มิถุนายน 2567 เพิ่มเติม