16 มกรา นายกฯ เป็นประธานเปิดงานวันครู เปรียบครูเหมือนแสงสว่าง ขอให้ครูเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ลั่นแก้หนี้ครูทั้งระบบ เผยรัชกาลที่ 10 ให้ความสำคัญกับการศึกษา
ที่หอประชุมคุรุสภา วันที่ 16 ม.ค.2560 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงานวันครู ครั้งที่ 61 ประจำปี 2560 ภายใต้หัวข้อ “พระผู้ทรงเป็นบูรพาจารย์แห่งแผ่นดิน” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบคำขวัญวันครู ปี 2560 ว่า “ชาติพัฒนา ด้วยครูดี มีคุณภาพ ศิษย์ซาบซึ้งในพระคุณครู” และมอบสารนายกฯ เนื่องในโอกาสวันครูด้วย
โดยบรรยากาศในช่วงเช้า เวลา 07.45 น.นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรหลัก ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบพิธีบูรพาจารย์ จากนั้นนายกมล ศิริบรรณ ครูอาวุโสนอกประจำการ นำสวดฉันท์ระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ทำนองสรภัญญะ นายสมบัติ แก้วสุจริต อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร นำสวดฉันท์เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 “พระผู้ทรงเป็นบูรพาจารย์แห่งแผ่นดิน” แต่งโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และพิธีปฏิญาณตน
จากนั้นเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ได้เดินทางถึงหอประชุมคุรุสภา ประกอบพิธีคารวะครูอาวุโส ซึ่งเป็นครูนายกรัฐมนตรี 2 ท่าน ได้แก่ พลตรีหญิงศรีสมร ทังสุบุตร สอนวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 5 และพลตรีหญิงอรพินท์ เพชรพลอย วิชาประวัติศาสตร์ยุโรป ชั้นปีที่ 3 และวิชาประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกไกล ชั้นปีที่ 4 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) และมอบรางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต), ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ, นายพะนอม แก้วกำเนิด, นายถนอม อินทรกำเนิด ,นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร และมูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ และมอบรางวัลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษารับรางวัลคุรุสภา 27 ราย
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมงานวันครู ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 61 มีโอกาศได้มาคารวะครูในสมัยที่เรียน อยู่ โรงเรียน จปร. ทำให้รู้สึกได้ว่า เวลาไม่เคยคอยใคร ตนทราบดีว่าครูเหนื่อยมาก เพราะแม่และภรรยาตนก็เป็นครู ครูสำคัญต่อเด็ก และเด็กต้องรู้ว่าครูสำคัญอย่างไร ดังนั้นทั้งสองฝ่ายต้องปรับตัวเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ครูเปรียบเสมือนแสงสว่าง เป็นพ่อแม่คนที่สองสอนศิษย์ให้เป็นคนดีของสังคม พัฒนาประเทศชาติ และที่สำคัญต้องสอนให้รู้จักความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา หากเราไม่พัฒนาก็จะตามใครไม่ทัน
ดังนั้นครู ไม่เพียงแต่จะให้วิชาความรู้ทางวิชาการเท่านั้นแต่ต้องให้ประสบการณ์ รู้ทุกอย่าง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยเองก็ต้องเตรียมพร้อม ให้สมกับศักยภาพที่เราเป็นศูนย์กลางของประเทศอาเซียน อยากให้ทุกคนได้ภูมิใจว่าเรามีทุกอย่างดี
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัส ว่าประเทศต้องอาศัยการพัฒนาทั้งแบบตะวันตกและตะวันออก ที่ผ่านมาเราเน้นพัฒนาทางตะวันตกมาก จนลืมการพัฒนาสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์มาปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่10 ทรงมีพระราชดำรัสให้น้อมนำพระราชดำรัสและพระราชดำริของพระบรมราชชนก มาใช้ในการพัฒนาการศึกษา อีกทั้งยังทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยเฉพาะความมีระเบียบวินัย ที่จะทำให้มีความอดทน ไม่สร้างความเดือดร้อน หรือทำการทุจริตอื่น ๆ ซึ่งเหล่านี้ครูต้องสอนให้เด็กเข้าใจและคิดให้ได้ ซึ่งแนวพระราชดำรัส ละพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 หลายเรื่องสามารถแก้ปัญหาให้ประเทศได้ อย่าล่าสุด รัฐบาลก็น้อมนำแนวทางพระราชดำรัสหลายเรื่องมาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้”
นายกฯ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าเวลาตนเขียนคำขวัญ จะมีคำว่า “ชาติ” อยู่เสมอ เพราะอยากให้คิดถึงประเทศชาติและส่วนรวม ซึ่งตนต้องการให้ครูเป็นผู้ที่จะดึงศักยภาพของเด็ก ครอบครัว และชุมชนออกมาให้มากที่สุด ทุกคนเป็นครูของแผ่นดิน วันนี้ต้องเปลี่ยนแปลง แต่ต้องไม่ลืมประวัติศาสตร์ที่ดี เราต้องช่วยกันทำให้บุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พัฒนาครูคู่กับนักเรียน ครูต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก อย่าให้เด็กใช้โซเชียลในทางที่ไม่ถูกต้อง ครูต้องตามเด็กให้ทัน ต้องนำสิ่งนี้มาเป็นโจทย์ปรับปรุงกระตุ้นการเรียนการสอน ต้องบ่มเพาะขัดเกลา เจียระไนลูกหลานให้เก่ง ดังนั้นครูต้องเก่งทั้งวิชาการ และวิธีการสอน ที่สำคัญคือ ต้องสอนให้ทุกคนมีคุณธรรม ทั้งนี้ตนฝากให้ครู ไปคิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาใน 2 อย่างคือ การปฏิรูปภายนอก ที่ต้องสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆร่วมกันคิด ร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็ก และปฏิรูปภายใน ซึ่งจะเป็นเรื่องปรับปรุงโครงสร้าง การแก้ไขหนี้สินครู เป็นต้น
นายกฯ ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลนี้มุ่งมั่นสนับสนุนครูและบุคลากรทางการศึกษา ปรับปรุงระบบการดูแลครูให้อยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี เรื่องปัญหาหนี้สินก็ต้องแก้ไข ทุกคนมีหนี้ ตนเองก็มีหนี้ รัฐบาลต้องทำทั้งระบบ การแก้ปัญหาหนี้สินครูอยู่ในใจตนอยู่แล้ว วันนี้มีหนี้หลายอย่างทั้งนอกระบบในระบบ ถ้าวันนี้รวมหนี้ทุกอย่างเข้าด้วยกัน มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหลายเท่า ดังนั้นจึงต้องมาคิดและแก้ปัญหากันทั้งระบบให้รอบคอบ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ