นายกเมืองพัทยา แจงโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดพัทยา ศึกษาต่อยอดโครงการเสริมทรายขยายชายหาด ด้วยงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล พัฒนาเมืองพัทยา สู่ศูนย์กลาง EEC ย้ำอยากให้มองภาพรวม ยันต้นไม้เก่ายังอยู่ 75%
จากกรณีเมืองพัทยา ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดเมืองพัทยาระยะทาง 2.7 กม. โดยว่าจ้าง บริษัท นงนุชแลนด์สเคป แอนด์ การ์เด้นดีไซน์ จำกัด ด้วยงบประมาณกว่า 166 ล้านบาท โดยดำเนินการปรับพื้นที่เปิดหน้างาน ก่อนมีกระแสเรียกร้องให้หยุดและพิจารณาโครงการใหม่ เนื่องจากมองว่าเป็นการทำลายธรรมชาติ และอยากให้มองในส่วนของความจำเป็นในการนำงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น
วันที่ 17 ส.ค.64 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้เปิดห้องรับรองศาลาว่าการเมืองพัทยา เพื่อแถลงข่าวชี้แจงและสร้างความเข้าใจต่อโครงการพัฒนาดังกล่าวผ่านสื่อมวลชนว่า โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดเมืองพัทยาระยะทาง 2.7 กม.ตั้งแต่ชายหาดพัทยาเหนือถึงหาดพัทยาใต้ เป็นโครงการที่มีการศึกษาต่อยอดมาจากโครงการเสริมทรายขยายพื้นที่ชายหาดเมืองพัทยา ตามที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยได้ร่วมกับ กรมเจ้าท่า สำรวจข้อมูลการพัฒนาไปตั้งแต่ปี 2562
โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบอุดหนุนมาจากรัฐบาล ในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC โดยผลักดันให้เมืองพัทยาเป็นศูนย์กลางของ EEC ที่มีระบบการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน ซึ่งได้ทำการศึกษาต่อเนื่องไปจนถึงชายหาดจอมเทียน ที่จะมีการเสริมทรายขยายชายหาดและปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยเช่นกัน โดยได้ทำการสำรวจต้นไม้ทุกต้นที่มีอยู่ว่าอยู่ในจุดไหน บริเวณใด และได้มีการศึกษาออกแบบปรับแต่ง เคลื่อนย้าย และปลูกใหม่ เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามระยะเวลาที่ได้ศึกษาไว้
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่มีการรื้อถอนต้นหูกวางนั้น จะทราบกันดีในกลุ่มผู้ประกอบการชายหาดว่า ต้นหูกวางเป็นไม้เนื้ออ่อนที่ปลูกง่ายโตเร็ว ผู้ประกอบการจึงนำมาปลูกเพื่อให้ร่มเงา แต่ก็มีปัญหาในส่วนของต้นไม้ที่มีอายุมากขึ้น กิ่งไม้หักโค่นเวลาลมแรง ลูกและใบต้นหูกวางที่ผลัดลงมา รวมทั้งหนอนและวัชพืชเหล่านี้ ก็สร้างปัญหาในกลุ่มผู้ประกอบการเรื่อยมาเช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องปรับแต่งในส่วนที่หักโค่นและปลูกเพิ่ม เพื่อให้เกิดความงดงาม รวมทั้งให้ร่มเงา และพื้นที่ยังสามารถใช้จัดกิจกรรมได้ ซึ่งอยากให้ประชาชนมองภาพรวมในการพัฒนา
สิ่งสำคัญคือ การศึกษาออกแบบจะเน้นเรื่องการปรับภาพลักษณ์และทัศนียภาพให้เข้ากับบรรยากาศของชายทะเล ไม่ใช่ปลูกแต่ต้นปาล์มตามที่มีบางสื่อได้นำเสนอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยการดำเนินการโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดเมืองพัทยา จะรักษาต้นไม้เดิมไว้ไม่ต่ำกว่า 75% แต่มีการปรับปรุงให้มีความสวยงามและเหมาะสมในเรื่องของการใช้พื้นที่อย่างเกิดประโยชน์
นายกเมืองพัทยา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาได้มีการทำประชาพิจารณ์เรื่องดังกล่าวไปแล้ว ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ไม่สามารถจัดการประชุมให้ประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมได้ จึงจัดทำประชาพิจารณ์โดยตรงกับกลุ่มเป้าหมายตามรัศมีของการดำเนินโครงการ รูปแบบเดียวกับโครงการอาคารจอดรถนาเกลือ เป็นการสำรวจข้อมูลในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยตรงกับประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ
จากประเด็นในเรื่องของการช่วยเหลือในเรื่องของโควิด-19 นั้น ที่ผ่านมา เมืองพัทยาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนทางเลือก มาให้บริการประชาชนท้องถิ่นเมืองพัทยา การปฏิบัติงานเชิงรุกในการค้นหาผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในระบบ Hospitel การช่วยเหลือแจกจ่ายเยียวยา สนับสนุนถุงยังชีพ ให้ประชาชนตามบ้านเรือน รวมทั้งผู้ป่วยกักตัวไปแล้วนับหมื่นหลังคาเรือน
“อยากให้แยกมองว่าเป็นคนละส่วนกัน ระหว่างการพัฒนาและการควบคุมโรค ซึ่งหากประชาชนมีข้อข้องใจก็พร้อมจะตอบทุกคำถามเพื่อความกระจ่างชัด ขอยืนยันว่าเมืองพัทยา จะไม่ใช้จ่ายงบประมาณในเรื่องอื่นที่ไม่จำเป็น” นายกเมืองพัทยา ระบุ