“นิด้าโพล” ชี้เหตุปชป.พ่ายเลือกตั้งซ่อมนครศรีฯ เหตุ ปชช.เบื่อหน่ายการเมืองแบบเดิมๆของประชาธิปัตย์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ทำไมพรรคประชาธิปัตย์พ่ายเลือกตั้งซ่อมนครศรีธรรมราช” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10 – 11 มีนาคม 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในภาคใต้ กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,317 ตัวอย่าง เกี่ยวกับสาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายเลือกตั้งซ่อมจังหวัดนครศรีธรรมราช การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล”
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช (7 มีนาคม 2564) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.62 ระบุว่า ประชาชนเบื่อ/ไม่ชอบวิธีการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมา ร้อยละ 18.53 ระบุว่า กระแส/ผลงานพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในภาคใต้ ทำให้พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้ง ร้อยละ 16.17 ระบุว่า กระแส/ผลงานนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในภาคใต้ ยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ ร้อยละ 13.59 ระบุว่า ประชาชนชอบวิธีการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐมากกว่า ร้อยละ 10.86 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐกำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียงได้ดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 9.72 ระบุว่า ประชาชนชอบผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐมากกว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 3.42 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐทุ่มเทในการหาเสียงมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 2.73 ระบุว่า พรรคกล้า แย่งฐานคะแนนเสียงไปจากพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.06 ระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นเวทีหาเสียงครั้งแรกทำให้พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้ง ร้อยละ 0.61 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงชนะการเลือกตั้ง และร้อยละ 2.28 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ควรทำเพื่อให้ภาคใต้ยังคงเป็นฐานเสียงหลักของพรรคฯ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.94 ระบุว่า ส.ส. อดีต ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคฯ ควรลงพื้นที่ดูแลประชาชนให้มากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 41.38 ระบุว่า ผู้บริหารพรรคฯ ควรทุ่มเทและแสดงผลงานให้เด่นชัดมากขึ้น ร้อยละ 33.86 ระบุว่า พรรคฯ ควรปรับวิธีการดำเนินงานและยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคฯ ร้อยละ 9.72 ระบุว่า ควรเปลี่ยนหัวหน้าพรรคฯ ร้อยละ 7.67 ระบุว่า ควรเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคฯ ร้อยละ 4.02 ระบุว่า พรรคฯ ควรไปเป็นฝ่ายค้าน สักระยะหนึ่งเพื่อเพิ่มบทบาททางการเมืองและสร้างผลงาน ร้อยละ 2.73 ระบุว่า ควรเปลี่ยนเลขาธิการพรรคฯ และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่