Highlight
- พรรคเพื่อไทยจัดกิจกรรม “นิทรรศกี เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า” โดยจัดแสดงงานศิลปะจากศิลปินหญิง 3 คน พร้อมนำเสนอข้อมูลการศึกษาโครงการ “ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า” (Free Pads for All) สำหรับผู้มีประจำเดือนทุกคน
- ตลอดชีวิตของผู้มีประจำเดือนต้องแบกรับภาระค่า “ผ้าอนามัย” ราว 192,000 บาท ในขณะที่ผู้มีประจำเดือนเพียง 35.28% เท่านั้นที่สามาถเข้าถึงผ้าอนามัยได้
- อคติมายาคติต่อประจำเดือน มองว่าประจำเดือนเป็นของต่ำ และไม่ควรพูดถึง ทำให้คนในสังคม รวมไปถึงภาครัฐมองข้ามสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้มีประจำเดือนไป
- นโยบายแจกผ้าอนามัยฟรี ไม่ได้เป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณเพื่อคนบางกลุ่ม แต่ผู้มีประจำเดือนทุกคนจะได้รับประโยชน์ เช่นเดียวกับคนในสังคมที่จะมีความเข้าใจเรื่องประจำเดือนและร่างกายของผู้มีประจำเดือนมากยิ่งขึ้น
รู้ไหมว่าในช่วงชีวิตของ “ผู้มีประจำเดือน” ต้องเสียเงินจ่ายค่า “ผ้าอนามัย” ราว 192,000 บาท หรืออาจจะนับเป็นค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและเงินออมเกือบ 200,000 บาทตลอดชีวิต ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้มีประจำเดือนที่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้เพียง 35.28% เท่านั้น แปลว่าไม่ใช่ผู้มีประจำเดือนทุกคนจะสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ได้ และต้องยอมแลกสุขภาวะทางเพศของตัวเองกับภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ถูกมองว่าสำคัญกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่า “การเข้าไม่ถึงผ้าอนามัยเพราะความยากจน” (Period Poverty) ที่ทั่วโลกกำลังพยายามแก้ปัญหาอยู่
อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีการหยิบยกเอาเรื่อง “สวัสดิการผ้าอนามัยฟรี” ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ก็มักจะมีเสียงคัดค้านจากคนบางกลุ่มที่อ้างการใช้ทรัพยากรของประเทศกับคนเพียงกลุ่มเดียวซึ่งอาจจะ “ไม่แฟร์” นัก ด้วยเหตุนี้ พรรคเพื่อไทยจึงจัด “นิทรรศกี” ขึ้นเพื่อสื่อสารและทำความเข้าใจเรื่องประจำเดือน ผ้าอนามัยฟรี และหน้าที่ของภาครัฐ ในการส่งเสริมสุขภาวะทางเพศของผู้มีประจำเดือน ซึ่งถือเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ
- ทำไม “ผ้าอนามัย” แจกฟรีไม่ได้
- “ชานันท์ ยอดหงษ์” ความเท่าเทียมของอัตลักษณ์ที่หลากหลายในสังคมไทย
“นิทรรศกี” งานศิลปะเพื่อผู้มีประจำเดือน
กิจกรรม “นิทรรศกี เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า” เป็นนิทรรศการจากพรรคเพื่อไทยที่ต้องการสร้างความเข้าใจเรื่อง “ประจำเดือน” โดยจัดแสดงงานศิลปะของศิลปินหญิง 3 คน ได้แก่ Juli Baker and Summer, Prim Issaree และ Pyra พร้อมนำเสนอการศึกษาออกแบบโครงการ “ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า” (Free Pads for All) สำหรับผู้มีประจำเดือนทุกคน โดยมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคม
บรรยากาศภายในงาน
“สังคมมักจะมองข้ามประเด็นปัญหาของการมีเมนส์ คุณมีเมนส์เหรอ มันเป็นเรื่องส่วนตัวที่คุณต้องไปจัดการกันเอาเอง ซื้อผ้าอนามัยมาใช้เอง ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องที่สังคมหรือรัฐต้องมาคอยจัดการในสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้คิดว่าผ้าอนามัยจะเป็นสวัสดิการได้ เลยนำไปสู่นิทรรศกี ที่ให้ข้อมูลเรื่อง Period Poverty หรือข้อมูลของโครงการที่พรรคกำลังผลักดันอยู่ รวมไปถึงเรื่องของการเสริมพลังให้กับผู้ที่มีประจำเดือนด้วย” ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า พรรคเพื่อไทย เริ่มต้นเล่า
ชานันท์ ยอดหงษ์
“ตัวนโยบายเป็นข้อมูลเชิงเนื้อหาเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าจะทำอย่างไรให้มันใกล้ชิดกับคนมากขึ้น เป็นมิตรกับคนมากขึ้น ตัวศิลปะก็มาช่วยตรงนั้น เมื่อศิลปะมาจับกับเนื้อหาเล่าเรื่อง มันก็ย่อยง่าย” อริสา พลโยธา โปรดิวเซอร์ทีมสื่อสาร พรรคเพื่อไทย เล่าเสริม
อริสา พลโยธา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าประจำเดือนยังถูกตีตรา (Stigmatized) จากสังคม ซึ่งเกิดขึ้นจากการเลือกปฏิบัติจาก “อคติทางเพศ” ไม่ว่าจะเป็น มายาคติว่าประจำเดือนเป็นของต่ำ หรือการทำให้ผู้มีประจำเดือนอับอาย (Shaming) และไม่สามารถพูดเรื่องนี้ออกมาได้อย่างเปิดเผย ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ตั้งใจที่จะสื่อสารและทำลายอคติมายาคติเกี่ยวกับประจำเดือนเหล่านี้ ทั้งยังสอดคล้องกับธีม Break the Bias ของวันสตรีสากลปีนี้อีกด้วย
ประจำเดือน ผ้าอนามัย และความไม่เข้าใจของสังคม
นอกจากนิทรรศกีที่จัดแสดงงานศิลปะและข้อมูลเรื่องประจำเดือนกับผ้าอนามัยแล้ว พรรคเพื่อไทยยังได้จัดเสวนา ภายใต้ชื่อ “สวัสดิการผ้าอนามัยคือสิทธิมนุษยชน” ขึ้น เพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจประเด็นเรื่องประจำเดือน ซึ่งอคติและมายาคติทางเพศต่อเรื่องนี้ยังคงทำงานอย่างรุนแรงในสังคมไทย รวมไปถึงประเด็นสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศนี้จริงหรือเปล่า
ผู้ร่วมเสวนา
จิตติมา ภาณุเตชะ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ ระบุว่า การให้บริการผ้าอนามัยจะเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มองเห็นประเด็นเรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงได้อย่างชัดเจน โดยรัฐต้องมีนโยบายที่จะดูแล คุ้มครอง และส่งเสริมสุขภาวะอนามัยของผู้หญิง ซึ่งต้องคำนึงเรื่องเงื่อนไขและมิติทางด้านร่างกายของผู้หญิงที่แตกต่างจากผู้ชาย แต่สำหรับประเทศไทย การวางนโยบายส่วนใหญ่ยังอยู่บนฐานของการแก้ไขปัญหาเชิงการลดโรคระบาด การป้องกันการตั้งครรภ์ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปแบบของนโยบายถุงยางอนามัยฟรี แจกยาคุมกำเนิดฟรี แต่ไม่เคยมีการแจกผ้าอนามัยฟรีให้กับผู้มีประจำเดือน
“นโยบายของรัฐที่ผ่านมา ไม่มีการวางนโยบายจากรากของสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นธรรมในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์” (Reproductive Justice) แล้วมันคืออะไร ข้อแรกเราต้องรู้ว่ามนุษย์ผู้หญิงกับมนุษย์ผู้ชายมีภาระทางสุขภาพต่างกัน มนุษย์ผู้หญิงเกิดมาคู่กับมดลูก เต้านม รังไข่ ซึ่งเป็นสภาพที่ซับซ้อนและต้องการการดูแลเฉพาะด้าน แล้วนโยบายของรัฐมีไหม ข้อสองคือนโยบายสุขภาพส่วนใหญ่ต้องรับมือกับปัญหาซึ่งถูกต้องแล้ว แต่การมองว่ามนุษย์ผู้หญิงต้องการอะไร แล้วมีการส่งเสริมดูแล เรายังไม่มี ซึ่งเรื่องนี้มันส่งผลรากลึกต่อความเข้าใจในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง” จิตติมากล่าว
บรรยากาศภายในงาน
ด้านวรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าอนามัย Ira Concept ก็สะท้อนว่า สิ่งที่สังคมไทยต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ ทำลายการตีตราประจำเดือน (Period Stigma) เพราะนั่นคือสาเหตุหลักที่นำไปสู่การล้อเลียนหรือทำให้อับอาย และการตีตราประจำเดือนนี้เองก็นำไปสู่การทำความเข้าใจผู้หญิงผ่านงานวิจัยสุขภาพที่มีอยู่อย่างจำกัดในประเทศไทย และแสดงให้เห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศอีกรูปแบบหนึ่ง
“มันคือความเชื่อของสังคมที่ปลูกฝังเรามาว่า ประจำเดือนเป็นของต่ำ ประจำเดือนเป็นของที่ต้องซ่อน ประจำเดือนเป็นของที่ไม่ควรพูดถึง เป็นเรื่องของคุณที่คุณต้องจัดการมันเอง เลยไม่มีความเข้าใจตรงนี้ว่า ความจริงแล้วประจำเดือนคืออะไร จะจัดการกับมันอย่างไร แล้วจะมีใครมาสอนเราเรื่องนี้” วรางทิพย์ชี้
อย่างไรก็ตาม โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียนและเจ้าของเพจ “เจ้าแม่” ก็ระบุว่า แม้จะยังมีอคติทางเพศและการเลือกปฏิบัติปรากฏอยู่ในสังคมและสะท้อนออกมาในรูปแบบของนโยบายรัฐ แต่สายธารการเปลี่ยนแปลงเรื่องประจำเดือนเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ดังจะเห็นได้จากความเข้าใจของภาคประชาชนที่อาจจะนำหน้าภาครัฐ พรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งคนทำงานไปแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนและสร้างความเข้าใจเรื่องประจำเดือน
บรรยากาศภายในงาน
ทนทางสู่นโยบาย “ผ้าอนามัยฟรี”
ข้ออ้างหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เมื่อมีการพูดคุยเรื่องการแจกผ้าอนามัยฟรี คือ “งบประมาณ” ที่คนบางกลุ่มมองว่าจะเป็นการใช้เพื่อคนเพียงกลุ่มเดียว แต่ถ้าลองคิดคำนวนดูแล้ว การแจกผ้าอนามัยให้กับประชาชนอย่างน้อย 12.22 ล้านคนต่อเดือน จะต้องใช้งบประมาณอย่างน้อยที่สุด 19,576 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.6% ของงบประมาณปี 2565 ที่มีมากกว่า 33 ล้านล้านบาทเท่านั้น
“นโยบายผ้าอนามัยฟรี จะเป็นนโยบายสำหรับคนกลุ่มเดียว ไม่ใช่ เพราะคนที่จะได้ประโยชน์คือคนครึ่งประเทศ ผู้หญิงทุกคน เราอาจจะไม่ได้ยินเสียงความยากลำบากที่จะใช้ผ้าอนามัย เพราะเสียงเหล่านี้อยู่ไกลหูของเรา แต่เมื่อเราเป็นผู้ประสบปัญหานั้นเอง เราจะรู้สึกว่า ถ้าเราสามารถเดินเข้าไปที่ไหนก็ได้ แล้วได้ผ้าอนามัยฟรีมาสักแผ่น แต่ละเดือนเราได้มาตามโควต้าที่เหมาะสมกับเรา มันก็คงจะดี” ขัตติยา สวัสดิผล อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย สะท้อน
บรรยากาศภายในงาน
“ถ้าสังคมมีผ้าอนามัยแจกฟรี มันกำลังจะบอกอะไรเรา มันกำลังบอกว่าในฐานะพ่อ ในฐานะลุง ป้า น้า อา ว่าการเป็นเมนส์เป็นเรื่องปกติ เรากำลังเปลี่ยนความคิดสำคัญว่าเราอยู่ในรัฐที่เห็นความจำเป็นพื้นฐานของผู้หญิง ดังนั้น การตั้งประเด็นว่าทุกคนไม่ได้มีจิ๋ม ทำไมต้องมีนโยบายเรื่องผ้าอนามัย เป็นการตั้งคำถามที่ผิดทิศทางไปหน่อย” จิตติมาเสริม
ขณะที่วรางทิพย์ ระบุว่า การจะเกิดนโยบายผ้าอนามัยฟรีได้ ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน ทั้งด้านงานวิจัยที่จะเป็นแหล่งเพิ่มข้อมูลความรู้และความเข้าใจเรื่องประจำเดือนและร่างกายของผู้หญิง เช่นเดียวกับภาครัฐที่ต้องเข้ามาดูแลเรื่องกฎหมายสำหรับผ้าอนามัย รวมถึงภาคเอกชนที่ต้องออกมาแบ่งปันข้อมูลความรู้และรับฟังเสียงของประชาชน หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันจัดการและขับเคลื่อนปัญหาผ้าอนามัยแล้ว คนที่จะได้ประโยชน์สูงสุดก็คือประชาชนนั่นเอง
บรรยากาศภายในงาน
ประเด็นเรื่องผ้าอนามัยแจกฟรีจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเรื่องประจำเดือนให้กับสังคม แน่นอนว่าการตั้งคำถามเรื่องการใช้ภาษีกับคนเฉพาะกลุ่มจะยังผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่โชติรสก็ชี้ว่า ไม่ใช่ภาษีต้องเพื่อทุกคน แต่ประชาชนคือกลุ่มเปราะบางและมีความต้องการที่หลากหลาย แตกต่างกัน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่รัฐและนักการเมืองจะต้องให้การดูแลและสนับสนุน
“มันจะมีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่า มดลูกก็มดลูกมึง รังไข่ก็รังไข่มึง ทำไมจะผลักภาระให้เป็นของรัฐ คำถามคือ คิดว่ารัฐไม่ยุ่งกับเนื้อตัวร่างกายของเราเลยเหรอ ทางหนึ่งบอกว่ามดลูกรังไข่เป็นของพวกเธอ แต่อีกทางบอกว่าพอมีเมนส์ห้ามเข้าพระธาตุ พอจะมีลูก จะยุติการตั้งครรภ์ บอกว่าไม่ได้ ศีลธรรมอันดี ประเด็นคือ My Body My Choice ใช่ แต่เมนส์มันคือทางเลือกหรือเปล่า เราเลือกได้หรือเปล่าว่าวันนี้จะกลั้นเมนส์ เดือนนี้ไม่มีเมนส์แล้ว มันเลือกไม่ได้ เพราะฉะนั้น เส้นแบ่งที่ว่า ไหนพวกเฟมินิสต์ที่ต่อสู้บอกว่า My Body My Choice เมนส์ไม่ใช่ค่ะ เราทุกคนมีเลือดไหลออกจากจิ๋มทุกเดือน เป็นกลไกชีววิทยา แล้วนี่คือสุขอนามัยเจริญพันธุ์ขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับการดูแล และถูกต้องแล้วที่มันจะต้องเป็นสวัสดิการฟรี” โชติรสทิ้งท้าย
งานนิทรรศกี เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 – 18.00 น. ที่ร้านกาแฟ Think Lab ตึกไทยคู่ฟ้าพรรคเพื่อไทย พร้อม “กีบุ๊ก” ให้ดาวน์โหลดอ่านได้ ที่นี่
ภาพโดย: DITSAPONG K.