นิพิฏฐ์ตอกสโมสรนิสิตจุฬากรณีขอโทษเคยร่วม กปปส. ชี้ไม่ศึกษาอดีต เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กรณีองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบส) ออกแถลงการณ์ ขอโทษที่เคยสนับสนุนการชุมนุมของ กปปส. เมื่อปี 2556 มีเนื้อหาดังนี้
“อย่าใช้เหตุผลของคนในปัจจุบัน ตัดสินการกระทำของคนในอดีต
-ผมอ่านข่าวองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบส) ออกแถลงการณ์ ขอโทษที่เคยสนับสนุนการชุมนุมของ กปปส.เมื่อปี 2556 โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ เมื่อปี 2556 ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศแก่สถาบัน
-หากย้อนกลับไป เมื่อปี 2556 กล่าวได้ว่าสถาบันการศึกษา”เกือบทุกแห่ง”ในประเทศสนับสนุนการชุมนุมของกปปส. เหตุใดสถาบันการศึกษาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว สนับสนุนการชุมนุมของกปปส. คงต้องถามองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯในสมัยนั้นว่า เกิดอะไรขึ้น
-ผมคิดว่า นักศึกษาที่ออกแถลงการณ์ขอโทษการกระทำของรุ่นพี่ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตอนนั้น น่าจะกำลังเรียนมัธยมต้น หรือ อย่างดีก็น่าจะมัธยมปลาย จะจำได้หรือเปล่าว่า เมื่อปี 2556-2557 เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ปัญหาของประเทศไทย คือ คนรุ่นใหม่ไม่ศึกษาและไม่จดจำอดีต เมื่อ 2-3 วันมานี้ก็ทำนองเดียวกัน คือ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ออกมาโพสต์ข้อความว่า “พฤษภาทมิฬ คือการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หรือ พ่อของ “แดง” อดีตผบ.ทบ. เจ้าน้ำตา ปัจจุบันได้รับหน้าที่เป็นถึงองคมนตรี” กล่าวคือ สับสนไปหมด จับแพะ ชนแกะ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไปไกลถึงขนาดจำผิดว่า พลเอกสุจินดา เป็นพ่อของพลเอกอภิรัชต์ ไปโน่น
-ปี 2556-2557 มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้น 2 เรื่อง ที่นำไปสู่การชุมนุมของกปปส. คือ การที่รัฐบาลชุดนั้นจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่เรียกว่าฉบับสุดซอย โดยนิรโทษกรรมความผิดทุกชนิดรวมทั้งการทุจริตของนักการเมืองด้วยและ รัฐบาลสมัยนั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สว.กลับมาดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย
-ผมเกี่ยวข้องโดยตรง กับทั้ง 2 เหตุการณ์นั้น คือ เป็นกรรมการปรองดองและสมานฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎรที่คัดค้านการนิรโทษกรรมคดีทุจริต และเป็นพยานต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย
-ผมว่า การชุมนุมคัดค้านการนิรโทษกรรมการทุจริตของนักการเมือง ไม่ว่า จะเป็นการชุมนุม ในปี 2556 หรือ ปี 2564 ก็เป็นการชุมนุมที่ควรสนับสนุนทั้งสิ้น
-ส่วนการชุมนุมที่เลยเถิดไปจนมีการยึดอำนาจนั้น เป็นคนละตอนกัน ขาดออกจากกันแล้ว ช่วงที่มีการยึดอำนาจ เมื่อ 22 พค.2557 ผมก็อยู่ในเหตุการณ์และผมก็ถูกควบคุมตัวไปขังด้วย ทั้งๆ ที่ผมไปร่วมประชุมเพื่อคลี่คลายสถานการณ์แท้ๆ แต่เอาเถอะ ถือว่า เป็นการถูกขังเพื่อชาติก็แล้วกัน
-ที่เขียนเล่ามาให้อ่านทั้งหมดนี่ เพราะเห็นว่า องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ เมื่อปี 2556 ได้เขียนประวัติศาสตร์ด้วยมือ แต่ครั้นปี 2564 ประวัติศาสตร์ได้ถูกลบด้วยเท้า จึงเป็นเรื่องการใช้เหตุผลของคนในยุคปัจจุบัน ตัดสินการกระทำของคนในอดีต อย่างนี้ แหละประวัติศาสตร์เมืองไทยจึงซ้ำรอยเดิมเสมอ เพราะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจและไม่จดจำอดีต”