โลกในยุค 4.0 ที่ทุกอย่างกำลังแปรเปลี่ยนสู่จักรกลอัตโนมัติ วิชาชีพหลายแขนงล้วนปรับตัวเพื่อก้าวทันกับความเป็นดิจิทัล โดยเฉพาะแวดวงสถาบันการศึกษา ในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ตลาดแรงงานและสอดรับกับความต้องการของผู้เรียนมากที่สุด
‘เกษตร’ หนึ่งในวิชาชีพสำคัญ และมีความท้าทายหลายด้าน ทั้งจำนวนผู้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ความเป็นเทคโนโลยี และสื่อสังคมออนไลน์ที่รวดเร็ว เข้าถึงง่ายและกลายเป็นทางเลือกสำคัญในการป้อนความรู้ให้ผู้เรียนอย่างไม่จำกัด
…ล่าสุดได้พูดคุยกับนักศึกษา ‘รั้วบัวสวรรค์’ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่สะท้อนความคิดคุณค่าหัวใจคนเกษตรได้อย่างน่าสนใจ
เริ่มด้วยหนุ่มหน้าใส “โอ๊ต” ภูริต กีรติกำจร ชั้นปี 3 สาขาวิชาสัตวศาสตร์ ว่า “คนไทยเราโชคดีที่มีพื้นที่ทำเลทอง ในการผลิตอาหารเพื่อปากท้อง หล่อเลี้ยงและจุนเจือผู้คนบนโลกใบนี้ได้” และเกษตร…ยังเป็นวิชาชีพแห่งชีวิต ที่ต้องใช้ความทุ่มเทศึกษาและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถประสบความสำเร็จต่อไปได้
จากความชอบเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่เด็ก จึงคลุกคลีและได้เรียนรู้พัฒนาการ พฤติกรรมและลักษณะของสัตว์ด้วยตนเองและจากกลุ่มผู้เลี้ยง เริ่มตั้งแต่ปลา สุนัข อีกัวน่า กิ้งก่าและงู
“ความเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ทำให้หลงใหลและเกิดเป็นความรัก” จึงเลือกเรียนสัตวศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โดยการเรียนจะมุ่งเน้นการผลิตสัตว์เศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ทำปศุสัตว์ในเนื้อที่จำกัด ไม่มีพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ แต่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้คุ้มค่า รวมถึงการบริหารจัดการและวิจัย
“สัตวศาสตร์จะเรียนทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป มีหลายครั้งก็เรียนปฏิบัติมากกว่าด้วย ความสนุกจึงอยู่ที่ได้ออกไปสัมผัสสิ่งมีชีวิตจริง” ในปัจจุบันการเกษตร มีตัวช่วยสำคัญที่มาเสริม เติมคุณภาพและช่วยในการผลิตนั่นคือความเป็นเทคโนโลยี
“กระบวนการผลิตสัตว์ มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการลดระยะเวลาผลิต การเก็บรักษาผลผลิต การหาวิธีการต่างๆ ที่จะเสริมการทำงานเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในที่สุด” และไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวกระโดดไปเพียงใด มนุษย์ก็ยังต้องการอาหาร อาหารก็มาจากการเกษตรเป็นหลัก จึงอยากให้ทุกคนให้เกียรติและยกย่องวิชาชีพการเกษตร
อีกหนึ่งหนุ่มจากสาขาวิชาประมง “ดั๊มพ์” นันทวัฒน์ แก้วเซือง ชั้นปี 3 ดีกรีประธานสาขาวิชาประมง บอกว่า“เรียนประมง…ไม่ได้เรียนเพื่อไปเป็นชาวประมง” แต่มีรายละเอียดเชิงลึกกว่านั้นมากมาย เรียนพื้นฐานจนถึงเชิงลึกตั้งแต่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การอนุบาลสัตว์ ปรับปรุงสายพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะพันธุ์ปลาที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์
“คณะเทคโนโลยีการเกษตร” ผู้เรียนต้องพยายาม ทุ่มเทและอดทน มีหัวใจพร้อมลุยงาน และตนได้ไปฝึกงานกว่า 2 เดือน ที่ศูนย์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 7 จ.ชลบุรี ได้เรียนรู้การเพาะพันธุ์ปลาชะโอน
“การไปฝึกงาน จะช่วยเติมเต็มและสร้างประสบการณ์ที่ดี ก่อนจะก้าวสู่โลกการทำงาน ได้เห็นทิศทางของสาขาวิชาชีพ ทำให้สามารถเตรียมพร้อมและกระตุ้นให้เราพัฒนาตนเองได้มากกว่าแค่ในห้องเรียน” และมองว่าจุดแข็งสาขาวิชาประมงมทร.ธัญบุรี อยู่ที่การส่งเสริมกระตุ้นให้เป็นบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ เรียนของจริง ปฏิบัติจริง
“ขิง” ธันยภรณ์ พิมเสน ชั้นปี 2 สาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ ขยายความว่าเทคโนโลยีภูมิทัศน์ ได้เรียนเกี่ยวกับต้นไม้ พืชพันธุ์และการออกแบบ เพื่อจัดวางต้นไม้ในตำแหน่งที่เหมาะสม สามารถสร้างบรรยากาศได้สอดคล้องกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อม
“การออกไปเรียนรู้หน้างาน ลงมือทำงานจริง ๆ จะช่วยสร้างและเติมเต็มความเป็นนักภูมิทัศน์ที่ดีได้” และเห็นว่าสาขาวิชาคณะเทคโนโลยีการเกษตรมีความหลากหลาย ผู้เรียนจะต้องเลือกเรียนตามความสนใจและความถนัด จึงจะเรียนอย่างมีความสุข และการร่วมกิจกรรมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย จะทำให้มีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น มีเพื่อนและมีเครือข่ายมากขึ้นด้วย
ปิดท้ายที่ “มิลค์” อนามิกา ทองเหลา สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ชั้นปี 3 ร่วมแจมไอเดียว่า ส่วนตัวชอบเรียนวิทยาศาสตร์ สนใจเรื่องอาหาร จึงเลือกเรียนสาขานี้ ตั้งเป้าจะเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพอาหารในโรงงานอุตสาหกรรม และวิจัยอาหาร “ทุกสาขาวิชาชีพมีคุณค่า และมีความน่าสนใจเฉพาะตัว”
สำหรับคนที่จะเข้ามาเรียนในสาขา Food Science. ต้องมีพื้นฐานสายวิทย์คณิต ที่แน่นพอสมควร รู้จักอัพเดตความรู้ด้วยตนเองสม่ำเสมอ จะทำให้เรียนได้อย่างราบรื่น ภายใต้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นี่เป็นตัวอย่างรุ่นพี่ ที่สะท้อนคุณค่าความเป็นเกษตรในยุค 4.0 ที่ตั้งใจและฝากไปยังน้องมัธยมฯในการเลือกเรียนคณะเทคโนโลยีการเกษตร…ที่สำคัญ อย่ามองข้ามอาชีพเกษตรฯ ที่ขับเคลื่อนและหล่อเลี้ยงผู้คนในโลกใบนี้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ