น้อมนำพระราชดำริ”ร.9″สู่กองทุนการศึกษาเท่าเทียม
ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่า
คณะกรรมการอิสระฯ ได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ให้ราษฎรที่ด้อยโอกาสไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม มาเป็นหลักในการยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.(…)
ซึ่งขณะนี้ทางคณะอนุกรรมการกองทุนฯ ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมเผยแพร่แก่ประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นและจะนำเอาเสียงสะท้อนจากประชาชนและหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องมาปรับแก้ร่างพ.ร.บ.อีกครั้งก่อนเสนอแก่คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป
ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะอนุกรรมการกองทุนฯ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯ ฉบับนี้มุ่งหวังจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียม รวมทั้งการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนไทย และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยในวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ มาตรา 5 และมาตรา 8 ตั้งเป้าว่าภายใน 10 ปี กองทุนนี้จะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และวิสาหกิจ เพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมความเสมอภาคของโอกาสในการศึกษาขั้นสูงของผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ จาก 4 กลุ่ม
ขณะเดียวกันในมาตรา 10 ยังกำหนดให้กองทุนฯ นี้เป็นกลไกต่อการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใหม่ จากเดิมที่รัฐจัดสรรเงินเพียง 50 สตางค์จากทุก 100 บาท เป็นเงิน 3,000 ล้านบาท ของงบฯ การศึกษา เพื่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยกองทุนฯ นี้จะผลักดันให้ประเทศไทย ลงทุนเงินทุก5 บาทแรก เป็นเงินราว 20,000 ล้านบาท จากงบฯ การศึกษาของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเสนอความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.กองทุนฯ ในเว็บไซต์ กอปศ. www.ThaiEdReform.org ซึ่งตั้งเป้าว่าจะนำร่างกฎหมายเสนอให้ ครม.ได้ภายในเดือน พ.ย. เพื่อประกาศใช้ในเดือน เม.ย.2561
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ