คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ”
งานวิจัยที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้ของเหลือใช้และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปในตัว
“ผลิตภัณฑ์อิฐบล็อคดินซีเมนต์แบบมาตรฐานจากส่วนผสมของเถ้าชานอ้อย” โดย ผศ.ดร.ณรงค์ชัย วิวัฒนาช่าง รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ
แนวคิดโครงการวิจัยนี้มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้ เถ้าชานอ้อยและช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลและการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคม
ผศ.ดร.ณรงค์ชัยว่า จากการศึกษาและประเมินประสิทธิภาพของเถ้าชานอ้อยในเบื้องต้นพบว่า มีคุณสมบัติทางกายภาพที่ดี ราคาถูก สามารถนำมาเป็นส่วนผสมคอนกรีตเพื่อผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างประเภทต่างๆ ได้
โดยเฉพาะเป็นอิฐบล็อค แทนใช้คอนกรีตบล็อคซึ่งมีจำหน่ายทั่วไป เนื่องจากจะช่วยให้อิฐบล็อคมีคุณภาพสูงขึ้น เช่น แข็งแรงไม่แตกหักง่าย ใช้เป็นฉนวนกันความร้อนได้ดีกว่า ทนทานสูงกว่า แต่ราคาใกล้เคียงกัน สามารถนำมาใช้ก่อเป็นผนังรับน้ำหนักสำหรับสร้างบ้านปกติ และถือเป็นเทคโนโลยีที่ใช้แรงงานคนเป็นหลักซึ่งเหมาะแก่ชุมชน
นับเป็นอีกทางเลือกพัฒนาชุมชนซึ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่น ผสานภูมิปัญญาชาวบ้าน
ผศ.ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า การนำเถ้าชานอ้อยจากเตาเผาโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้และถือเป็นปอซโซลานที่คุณภาพดีเมื่อพิจารณาตามมาตรฐาน ASTM C618 ผนวกกับใช้หินฝุ่น ซึ่งเป็นวัสดุที่ถูกคัดทิ้งจากขบวนการผลิตหิน
วัตถุดิบที่กล่าวมาทั้งหมด เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมของอิฐบล็อคร่วมกับสารเคมีผสมเพิ่มช่วยปรับปรุงคุณภาพของคอนกรีตได้นั้น งานวิจัยพบว่า สามารถนำมาพัฒนาอิฐบล็อคให้มีคุณภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ สามารถผลิตอิฐบล็อคคุณภาพดีจากส่วนผสมของ ดินซีเมนต์ (ดินคัดเลือก+ซีเมนต์)+ เถ้าชานอ้อย + หินฝุ่น ซึ่งการเลือกใช้วัตถุดิบดังกล่าวช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและอาจเพิ่มศักยภาพอิฐบล็อคให้มีคุณภาพสูงกว่าเดิมได้ ในขณะที่ราคาต่อหน่วยยังคงเดิม
จากการใช้วัสดุปอซโซลานแทนที่ปูนซีเมนต์ที่ใช้ผสมคอนกรีตบล็อคบางส่วน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของเถ้าชานอ้อยจากโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลและหินฝุ่น จากเดิมเป็นวัตถุดิบที่สร้างมลภาวะ-ไม่สามารถกำจัดทิ้งได้
นอกจากจะดีต่อชุมชนแล้ว อาจนำไปสู่ธุรกิจผลิตอิฐบล็อกที่มีประสิทธิภาพของภาคเอกชนได้ สามารถนำไปสู่การเผยแพร่บทความวิจัย การจดอนุสิทธิบัติ ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ตามภารกิจการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริง
งานวิจัยนี้เมื่อทดสอบอิฐบล็อกมาตรฐานที่ได้ผลิตขึ้นครบทุกขั้นตอนแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์ได้จริง ขั้นตอนสุดท้ายได้นำไปสร้างเป็นห้องจำลองขนาด 2.5×3.5 เมตร ใช้เป็นห้องกิจการนักศึกษา พบว่าวัสดุมีความสวยงาม ทนทาน กันความร้อนได้ดีกว่าอิฐบล็อคคอนกรีด เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกที่เป็นฉนวนกันความร้อน น้ำหนักเบา และราคาถูกกว่า ช่วยลดใช้พลังงาน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี 081-839-6772 โทรสาร 035-544-299
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ