สพฐ.รับฟังข้อเสนอ ส.บ.ม.ท.กรณีเรียกร้องให้ ก.ค.ศ.สอบบรรจุ ผอ.โรงเรียน แทนตำแหน่งว่าง 4,000 อัตราหวั่นเกิดสุญญากาศการบริหารจัดการ ขอพิจารณาข้อกฎหมายก่อนเสนอ รมว.ศึกษาฯ
ตามที่ สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) และผู้อำนวยการโรงเรียน เรียกร้องให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สอบบรรจุผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ แทนตำแหน่งว่าง ซึ่งมีมากกว่า 4,000 อัตรา ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ โดยเสนอให้สงวนตำแหน่งว่างที่มีผู้ยื่นคำร้องขอย้ายระหว่างวันที่ 1-15 ส.ค.2560 ไว้ก่อน รอจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับดังกล่าว ส่วนตำแหน่งว่างที่ไม่มีผู้ยื่นคำร้องขอย้ายในระหว่างวันที่ 1-15 ส.ค.2560 หรือตำแหน่งว่างที่เกิดขึ้นหลังจากการยื่นคำร้องขอย้ายตามคำสั่งให้ทุเลากรณี ให้ ก.ค.ศ. และมีมติให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ที่ส่งพร้อมหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ. 0206.4/ว9 ตามคำแนะนำของศาลปกครองอุบลราชธานี หรือปรับปรุงหลักเกณฑ์ย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใหม่โดยเร็วนั้น
ล่าสุดวันที่ 6 มี.ค.2561 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าว่า เรื่องนี้ต้องเสนอให้ ก.ค.ศ. พิจารณา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังไม่กล้าคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดได้จริง ๆ แต่จะรับมาพิจารณาความเป็นไปได้ โดยจะนำเข้าหารือในการประชุม ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)และผู้ที่เกี่ยวข้อง วันที่ 15-16 มี.ค.นี้
“สพฐ.รับฟังเรื่องนี้ ข้อเสนอของ ส.บ.ม.ท. เป็นเจตนาที่จะทำให้เกิดผลดี แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้หรือไม่ จะเกิดผลกระทบอะไรหรือไม่ ผมขอหารือกับตัวแทนผอ.สพท. และผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งในการประชุมวันดังกล่าว จะมีการหารือประเด็นปัญหาเชิงบริหารที่ติดขัดในหลายประเด็น ทั้งในส่วนของโรงเรียนและ สพท. เพื่อเสนอให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาแก้ปัญหาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการย้ายและการสอบบรรจุผู้อำนวยการโรงเรียน มีปัญหาติดขัดที่ข้อกฎหมาย ซึ่งจะบอกว่าเป็นปัญหาวิกฤตหรือไม่อยู่ที่มุมมอง หากมองในเชิงบริหารจัดการที่ สพฐ.ทำ ขณะนี้ยังไม่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียน ครบทุกแห่ง แต่ในเชิงคุณภาพก็อาจจะกระทบถึงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ บางโรงเรียนคนรักษาการ ไม่ใช่รองผู้อำนวยการโรงเรียน แต่เป็นครูอาจจะไม่กล้าตัดสินใจบางเรื่อง ทำให้งานช้าไป แต่ส่วนใหญ่แล้วคิดว่าถ้าจะสะดุดเชิงบริหาร โรงเรียนประถมศึกษา จะได้งบฯ ประจำเชิงรายหัว งบฯ เรียนฟรี ฉะนั้นเรื่องที่จะต้องมีการจัดซื้อจัดจ้าง โรงเรียนปกติไม่ได้มีทุกปี ถ้าถามว่าวิกฤตหรือไม่ ก็อยู่ที่มุมมอง เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำตามกฎหมาย“
นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่เรียกร้องให้มีการสอบบรรจุครูผู้ช่วย ในช่วงเดือนเม.ย. เช่นเดิมนั้น เรื่องนี้อยู่ที่นโยบาย ก.ค.ศ. ซึ่งข้อเสนอนี้ทาง สพฐ.และ ก.ค.ศ. อาจจะต้องร่วมกันคิด ว่าร่างหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยใหม่ จะสามารถดำเนินการได้เร็วแค่ไหน ซึ่ง สพฐ. ก็คิดเช่นเดียวกันว่าเรื่องนี้ต้องเร่งดำเนินการ แต่ก็ต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบต่าง ๆ ด้วย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ