เตรียมหารือปรับรูปแบบบูรณาการทำงานตามอำนาจ ม.53 อาจได้ผลดีกว่าคาดคิด
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า ตน และนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กพฐ. รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จะหารือกันในประเด็นมาตรา 53 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 2547 ตามคำสั่งที่ 19/2560 ข้อ 13 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ซึ่งเรื่องนี้ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องหลักของการบริหาร ระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) เพราะหลักการบริหารใช้การถ่วงดุลอยู่แล้ว คือ ผู้ปฏิบัติกับผู้คอยกำกับ
ดังนั้น การที่อำนาจตามมาตรา 53 ไปอยู่ที่ใครไม่ใช่เป้าหมายหลัก เพราะมาตรา 53 เป็นเพียงงานทางธุรการเท่านั้น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การใช้อำนาจของคณะกรรมการฯ เห็นชอบกับที่สำนักงานเขตพื้นที่ฯ เสนอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องย้ายเรื่องดี ความชอบ เรื่องวินัย ซึ่งเป็นอำนาจของ กศจ. ปกติก็ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียน หรือที่สำนักงานเขตพื้นที่ฯ อยู่แล้ว แต่อยู่ที่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ ส่วนที่ 2 คือ งานทางธุรการในการลงนาม ว่าจะให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) หรือ ผอ.โรงเรียนลงนาม เท่านั้น
ฉะนั้นไม่ว่าการลงนาม จะอยู่ที่ใครทุกคนต้องลงนามตามอำนาจที่มีอยู่ ก็คือเมื่อมีมติของ กศจ.ออกมา คนที่มีอำนาจลงนาม จะไม่ลงนามก็ได้ ถ้าคิดว่ามติออกมาโดยมิชอบ ดังนั้น มาตรา 53 หัวใจจริงๆ อยู่ที่ กศจ.อยู่แล้ว แต่ทว่าการลงนามในเรื่องของงานธุรการ ทางโรงเรียนอยากให้มีความคล่องตัว สะดวกขึ้น เช่น แต่งตั้งผู้รักษาการโรงเรียน เป็นต้น เพราะขณะนี้โรงเรียนต้องเสนอหลายขั้นตอน
“ถ้าอำนาจบางส่วนที่ ผอ.โรงเรียนหรือเขตพื้นที่มาสารถดำเนินการได้ ศธจ.ก็จะมีเวลาคิดเรื่องการพัฒนา ร่วมกับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และมีเวลาที่จะไปบูรณาการ แผนงานในพื้นที่จังหวัด ที่มีทั้ง สำนักงานการศึกษาเอกชน(สช)จังหวัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน. ) จังหวัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัด ได้ง่ายขึ้น”
นายบุญรักษ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) จะต้องเป็นเจ้าภาพหลัก ทำให้เกิดความเข้าใจ เกิดการบูรณาการในการทำงานร่วมกัน ถ้าได้มีการหารือและปรับรูปแบบการทำงานแล้วอาจจะเป็นผลดีกว่าที่คาดก็ได้
“เรื่องนี้ ผมและนายการุณ เป็นผู้บริหาร สพฐ.ด้วยกัน เรารู้ว่าอะไร ต้องปรับใหม่ในการทำงานร่วมกัน และเห็นว่าสิ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติอึดอัดนิดเดียว คือการสื่อสารผ่านช่องทางของการบังคับบัญชาเท่านั้นเอง” นายบุญรักษ์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ