คณะกรรมการอิสระฯ ระบุมีอิสระ 4 ด้าน แต่ไม่ได้ออกนอกระบบของรัฐ คาดจะเริ่มใน รร.ขนาดใหญ่ เช่น รร.ประจำจังหวัด
วันที่ 5 ก.ย.60 ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่าที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ การให้โรงเรียนมีเสรีภาพในการบริหารจัดการรูปแบบโรงเรียนนิติบุคคล ซึ่งมีความอิสระ 4 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการทั่วไป การบริหารงานบุคคล การบริหารการเงิน และการบริหารวิชาการ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอิสระฯ ได้รับฟังความคิดเห็นเรื่องนี้ในหลายเวทีซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยและอยากให้เป็นจริง เพราะเป็นเรื่องที่พูดกันมานาน โดยคณะกรรมการอิสระฯ จะต้องกลับมาพิจารณาหารูปแบบของโรงเรียนนิติบุคคลที่เหมาะสม เบื้องต้นพิจารณาเห็นว่าความเป็นนิติบุคคล ควรต้องมีความหลากหลาย คือมีหลักเกณฑ์สำหรับโรงเรียนที่มีความพร้อม ที่จะมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศ และโรงเรียนที่มีปัญหาก็จะใช้ความเป็นอิสระเข้าไปแก้ไข
“สิ่งสำคัญต้องทำความเข้าใจ คือการเป็นโรงเรียนนิติบุคคล ยังต้องมีเรื่องการกำกับดูแล ส่งเสริมและสนับสนุน ไม่ใช่หลุดออกจากระบบไปเลย และไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนจากโรงเรียนรัฐไปเป็นโรงเรียนเอกชน ไม่ใช่เรื่องการปลดคนหรือปรับบุคลากรของรัฐออกจากระบบราชการ ทุกเรื่องยังคงต้องมีเกณฑ์กลาง เช่น หลักสูตรแกนกลาง ยังต้องมีแต่เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเป็นแค่เกณฑ์ขั้นต่ำ ไม่ใช่เกณฑ์บังคับให้ทุกโรงเรียนต้องทำ เพราะหากโรงเรียนสามารถทำได้สูงกว่าเกณฑ์ ก็ต้องปล่อยให้ทำได้ ครั้งนี้จะเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ซึ่งปัญหาใหญ่ที่จะต้องเข้าไปแก้คือเรื่องคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ และประสิทธิภาพของระบบ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะให้ใครเป็นผู้รับผิดชอบเท่านั้น ดังนั้น การกระจายอำนาจไปให้ถึงโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและจะต้องมีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้สามารถดำเนินการได้”
ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าวและว่า การปฏิรูปครั้งนี้ นอกจาก พ.ร.บ.กองทุน ที่ต้องยกร่างเป็นกฎหมายให้ได้ภายใน 1 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดไว้แล้ว ยังมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการ เป็นนิติบุคคล ซึ่งเท่าที่ดูคาดว่าจะมีโรงเรียนมีความพร้อมบริหารจัดการ รูปแบบนิติบุคคล ได้ประมาณ 3,000-4,000 แห่ง เช่นโรงเรียนประจำจังหวัด เป็นต้น ถ้ารวมกับโรงเรียนที่มีปัญหาและจะใช้ความอิสระมาแก้ไข ก็คิดว่ารวมกันแล้วไม่ถึง 10,000 แต่ที่สุดแล้ว ไม่ใช่ว่าโรงเรียนทั้งหมดกว่า 30,000 โรงเรียนจะต้องเป็นนิติบุคคลทั้งหมด ยังคงต้องมีส่วนหนึ่งที่รัฐยังคงต้องดูแลให้การสนับสนุน เช่น โรงเรียนสำหรับผู้พิการ โรงสำหรับถิ่นทุรกันดารห่างไกล ส่วนที่หลายคนกังวลว่าถ้าโรงเรียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงขึ้น ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ แต่ทุกวันนี้ก็มีอยู่แล้ว การดำเนินการเช่นนี้เป็นการหยิบขึ้นมาทำให้ถูกต้องและเปิดเผย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ