27 ก.พ.64 – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ปัญหาคาตาประชาชน กับ ปฏิรูปตำรวจ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,782 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 23 – 26 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา พบว่า จากการศึกษาปัญหาคาตาประชาชน พบว่า เกือบร้อยละร้อยคือร้อยละ 99.4 ระบุ ปัญหาคาตาประชาชนและรับรู้ คือ ยาเสพติดแพร่ระบาดหนักในชุมชน บ่อนพนัน ค้ามนุษย์ แรงงานต่างชาติ การซื้อขายตำแหน่ง และอื่น ๆ
ที่น่าเป็นห่วงของข้อเท็จจริงที่ค้นพบคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.1 ระบุ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ ปล่อยปละละเลย ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เกิดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ ร้อยละ 93.5 ระบุ ตำรวจระดับสูงพัวพัน เก็บเกี่ยวผลประโยชน์กับขบวนการค้ายาเสพติด บ่อนพนัน ขนแรงงานเถื่อน ค้ามนุษย์ และอื่น ๆ และร้อยละ 92.7 ระบุ ในองค์กรตำรวจ มีปัญหาเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย
ที่น่าพิจารณาคือ แนวทางการปฏิรูปตำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.1 ระบุว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บริหารระดับสูงภายในองค์กรตำรวจต้องออกมาปฏิรูปตำรวจให้ชัดเจนด้วยตนเอง อย่าปล่อยให้สังคมกดดันนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ นอกจากนี้ ร้อยละ 96.1 ระบุ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บริหารระดับสูงต้องยอมรับความจริง เรื่องการแทรกแซงการแต่งตั้ง โยกย้าย และร้อยละ 96.1 เช่นกันระบุ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรตำรวจ ต้องมีกฎหมายและกลไกทำให้ปลอดจากการแทรกแซงทุกรูปแบบใช้ระบบคุณธรรม ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในขณะที่ร้อยละ 96.0 ระบุ ควรนำข้อมูลเสียงเรียกร้องของประชาชนมาปฏิรูปตำรวจให้สำเร็จในรัฐบาลนี้ และร้อยละ 95.0 ระบุ ควรนำข้อมูลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ มาปฏิรูปตำรวจ
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.2 ต้องการเห็นตำรวจ เป็นตำรวจของประชาชน และร้อยละ 96.0 ต้องการเห็นตำรวจ เป็นตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ปฏิรูปตำรวจกระจายไปให้ถึงประชาชนระดับชุมชน ในขณะที่ร้อยละ 92.0 ระบุ พาม็อบคนลงถนนเพื่อปฏิรูปตำรวจ ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ทางออกที่ดี กลับซ้ำเติมวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจ ความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนมากยิ่งขึ้น
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า จากการเกาะติดเรื่อปฏิรูปตำรวจมาร่วม 15 ปีพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกยุคสมัยของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่วนเปลี่ยนกันขึ้นมาแต่องค์กรตำรวจหลังจากเปลี่ยนชื่อจากกรมตำรวจมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ยังไม่ทำให้ประชาชนทั้งประเทศเห็นได้ว่าปฏิรูปตำรวจได้สำเร็จ ผลที่ตามมาคือ ปัญหาและข้อเท็จจริงเรื่องการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากขบวนการค้ายาเสพติด บ่อนพนัน การค้ามนุษย์ แรงงานต่างชาติ และอื่น ๆ จึงอยู่ในการรับรู้ของประชาชนอย่างกว้างขวางทำลายความเชื่อมั่นศรัทธากระทบต่อเสาหลักของชาติ ทั้ง ๆ ที่ ตำรวจและทุกหน่วยงานของรัฐมีภารกิจสำคัญที่ต้องทำให้เสาหลักของชาติเป็นที่รักของประชาชน ดังนั้น “วิกฤตคือโอกาส” ที่ตำรวจต้องเร่งปฏิรูปให้ตำรวจเป็นตำรวจของประชาชน เป็นตำรวจผู้รับใช้ชุมชนเสริมสร้างความรักความศรัทธาต่อองค์กรตำรวจและสถาบันหลักของชาติ ไม่ใช่กลายเป็นต้นตอต้นเหตุของการทำลายความรักความศรัทธาของประชาชนต่อเสาหลักของชาติเสียเอง