กอปศ.ชงรัฐปรับรายได้ผู้จบสายอาชีวะไม่น้อยหน้า ป.ตรี สร้างแรงจูงใจเด็กเรียนจบมีงานทำ ต่อยอดปริญญาก็ได้
ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษา ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯ มีแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปอาชีวศึกษาเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียนและยกระดับการอาชีวศึกษา โดยจะเสนอภาครัฐให้ปรับรายได้ของเด็กที่เรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้น ให้ต่างจากระดับปริญญาตรีไม่มากนัก เพราะการมีรายได้สูงจะทำให้เด็กสนใจเรียนเพื่อทำงานก่อนแทนที่จะเรียนต่อระดับสูงทันที
ขณะเดียวกันก็จะมีการส่งเสริมให้เด็กสามารถพัฒนาต่อได้ เช่นเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)แล้วสามารถเรียนต่อปริญญาตรีสายอาชีวะที่เน้นการปฏิบัติได้ และจบแล้วมีศักดิ์ศรีเหมือนคนที่จบจากมหาวิทยาลัย แต่มีความแตกต่างคือเก่งปฏิบัติและมีงานทำ ที่สำคัญที่จะเป็นแรงจูงใจอย่างสูงคือการได้เรียนฟรีจนถึงระดับ ปวส. ซึ่งจะทำให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองคลายกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนได้มาก
ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อไม่นานมานี้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ตามที่ กอปศ.เสนอ ซึ่งจะมีการจัดสรรเงินจำนวนหนึ่งเพื่อดูแลเด็กที่ยากจนแต่มีความประพฤติดีให้ได้เรียนต่อในระดับอาชีวศึกษาปีละประมาณ 5,000 คน เพราะฉะนั้นหากสามารถทำนำได้หลาย ๆ ทาง หลายวิธีเชื่อมั่นว่า จะเป็นหนทางที่จูงใจให้เด็กสนใจมาเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้นแน่นอน ขณะเดียวกันวิธีการที่จะทำให้เด็กที่เรียนอาชีวศึกษาเก่งปฏิบัติได้ก็คือการจับมือกับภาคเอกชนส่งเสริมให้เด็กได้ไปฝึกงานในสถานประกอบการในระบบทวิภาคี
และสิ่งที่เป็นความหวังอย่างยิ่งคือ ควรมีการจัดตั้งศูนย์การฝึกงานหรือศูนย์ฝึกอบรมแห่งชาติ (National Training Center)ที่จะกระจายไปตามภาคต่างๆทั่วประเทศ เนื่องจากเครื่องไม้เครื่องมือมีราคาแพง สถานศึกษาอาจไม่มีงบประมาณซื้อเพื่อมาสอนได้มากนัก ดังนั้นถ้าเรามีศูนย์ฝึกงานนี้กระจายไปทั่วประเทศสถานศึกษาอาชีวะทั้งรัฐและเอกชนจะสามารถเข้าไปใช้เครื่องมือนี้ได้
“ส่วนเรื่องการฝึกให้เด็กมีศักยภาพเป็นผู้ประกอบการนั้น ผมคิดว่านอกจากต้องมีความรู้ในแต่ละวิชาที่เรียนแล้ว เด็กอาชีวะทุกคนยังต้องมีอีกอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1.ความรู้เรื่องการทำธุรกิจ การตลาด การเงิน การลงทุนความคุ้มทุน เป็นต้น 2.ความรู้เรื่องดิจิทัลและไอที และ 3.ความรู้เรื่องภาษาที่สองต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญมาก ที่จะใช้ในการติดต่อสื่อสารกับนานาชาติ”
ดร.อนุสรณ์ กล่าวและว่า ถ้าเราพยายามทำตามแนวทางดังกล่าว และสภาการศึกษาช่วยสนับสนุนข้อมูลให้รัฐบาเห็น เชื่อว่าการปฏิรูปการอาชีวศึกษาประสบความสำเร็จได้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ