ล้มเกณฑ์ AP นิยามใหม่ครูขยันสอน-รูู้พัฒนาตนเอง
วันที่ 2 ก.พ.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการประชุมปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะและหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลอื่น ให้แก่ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าตนได้มอบนโยบายการประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ จะยึดพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยพิจารณาจาก 2 ส่วน คือ 1.การสอน มีปริมาณการสอนมากน้อยแค่ไหน ความยุ่งยากในการสอน เช่น สอนหลายวิชา สอนหลายชั้น หรือสอนเด็กจำนวนมาก เป็นต้น และ 2.การพัฒนาตนเองที่สะท้อนถึงความสามารถ เช่น การพัฒนาที่โรงเรียน การอบรมตามหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง ซึ่งในการพิจารณาจะดูแฟ้มสะสมผลงาน ที่ครูต้องจัดเก็บในระบบไอที
โดยจากนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. จะต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตามนิยามใหม่ พร้อมทั้งจัดประชุมโฟกัสกรุ๊ป เพื่อรับฟังความคิดเห็นนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
“ถือเป็นการปฏิวัติระบบการประเมินวิทยฐานะ รวมถึงจะนำมาใช้กับการประเมินขอคงวิทยฐานะตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ด้วย และขอให้มั่นใจว่าการใช้กระดาษทำผลงานวิชาการไม่มีอีกแล้ว นอกจากนี้ จะมีการทบทวนวิทยฐานะผู้บริหารการศึกษา โดยอาจจะออกกฎหมายใหม่ ให้เป็นเงินประจำตำแหน่งเท่านั้น เพราะปัจจุบันได้รับเงิน 2 เด้ง คือ เงินประจำตำแหน่งและเงินวิทยฐานะ ทั้งนี้ มีข้อมูลน่าสนใจว่า รัฐจ่ายเงินวิทยฐานะปีละ 35,000 ล้านบาทจากครูทั้งหมด เชื่อว่าหลักเกณฑ์ใหม่จะตอบแทนครูที่สอนทั้งมีปริมาณและมีคุณภาพได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การทำผลงานทางวิชาการนั้นยังคงเน้นอยู่ในวิทยฐานะเชี่ยวชาญและวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ.กล่าวว่า ผลงานที่ใช้ประเมินอยู่ในขณะนี้เหมาะสำหรับใช้ในการให้ความดี ความชอบ ให้โบนัส แต่แบบใหม่จะดูว่าครูรู้มากน้อยแค่ไหน ส่วนร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูฯ มีวิทยฐานะ หรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ พีเอ (Performance Agreement : PA) ที่สำนักงาน ก.ค.ศ.เสนอมาก็ถือว่าล้มไปเพราะไม่สอดคล้องกับนิยามใหม่
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ