‘มหิงสา’ หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนาม ‘ควายป่า’ (Wild Water Buffalo) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bubalus arnee รูปร่างผิวเผินอาจดูคล้ายคลึงกับควายบ้าน แต่ควายป่ามีขนาดตัวที่ใหญ่กว่า กำยำล่ำสำ สูงได้ถึง 1.5 – 2 เมตร มีความยาวลำตัวขนาด 2.5 – 3 เมตร และหนักได้ถึง 800 – 1,200 กิโลกรัม ในขณะที่ควายบ้านส่วนใหญ่หนักไม่ถึง 500 กิโลกรัม
เขาควายป่ามีขนาดใหญ่และเป็นวงกว้างคล้ายเสี้ยวพระจันทร์ เขาของตัวเมียมักจะยาวและโค้งมากกว่าตัวผู้ แต่ตัวผู้จะมีเขาที่หนากว่าตัวเมีย ซึ่งมีความยาวถึง 150 – 180 เซนติเมตร (วัดตามความโค้งด้านนอกของเขา) ส่วนควายบ้านจะมีเขาขนาดเล็กกว่าควายป่า
ลำตัวสีเทาหรือสีน้ำตาลดำ ขาทั้ง 4 มีสีขาวแต้มคล้ายสวมถุงเท้า และท่อนล่างลำตัวเป็นลายสีขาวรูปตัววี (V) ซึ่งต่างจากควายบ้านชัดเจนที่จะมีสีเทาถึงดำ และสีจะสม่ำเสมอทั่วทั้งตัว
ควายป่าจะมีนิสัยดุร้ายกว่าควายบ้าน ไม่กลัวคน และมักอยู่รวมกันเป็นฝูงจำนวนสมาชิกตั้งแต่ 10 ตัวขึ้นไป
การกระจายพันธุ์ของควายป่าในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าควายป่ามีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนจะกระจายพันธุ์ไปทั่วภูมิภาคเอเชีย ในช่วงยุคน้ำแข็ง ระดับน้ำทะเลลดลงอย่างมาก ทำให้ควายป่าสามารถกระจายพันธุ์ได้ไกลขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงอินเดียและจีน
ตัวอย่างฟอสซิลควายป่าที่พบในหลายพื้นที่ของประเทศไทย สนับสนุนสมมติฐานดังกล่าว เช่น ฟอสซิลที่พบในลุ่มเจ้าพระยา ลุ่มน้ำปิง-น่าน ถ้ำวิมานนาคินทร์ และลุ่มน้ำมูล โคกสูง พิมาย จากงานวิจัยพบว่าฟอสซิลเหล่านี้มีอายุตั้งแต่ล้านปีไปจนถึงไม่กี่พันปีก่อน ชี้ให้เห็นว่าควายป่ามีวิวัฒนาการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว
จุดกำเนิดของควายป่าในอินเดีย อ้างอิงจากฟอสซิลควายป่าในสกุล Bubalus ที่พบในลุ่มแม่น้ำคงคาและลุ่มแม่น้ำยมนา มีอายุประมาณ 10 ล้านปี จากฟอสซิลเหล่านี้สันนิษฐานได้ว่าควายป่าอาจมีวิวัฒนาการในอินเดียมาก่อน และต่อมาจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากงานวิจัยนี้ จึงสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า ควายป่ามีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนจะกระจายพันธุ์ไปทั่วภูมิภาคเอเชีย และควายป่าในประเทศไทยยังเคยพบได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ แต่ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเท่านั้น
การศึกษาวิจัยระหว่างควายป่ากับควายบ้าน จากข้อมูลการสำรวจรอยตีน มูลสัตว์ และร่องรอยการอยู่อาศัย พบว่า
ควายป่าและควายบ้านมักพบอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และอาจจะใช้ประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนกัน แต่ควายป่าจะพบในพื้นที่ราบที่มีหญ้าและน้ำอุดมสมบูรณ์ ส่วนควายบ้านจะพบในพื้นที่ที่มีแหล่งอาหารและน้ำเพียงพอ จากการใช้พื้นที่ทับซ้อนกันอาจนำมาสู่ปัญหามาการแย่งพื้นที่และแหล่งอาหารได้ นอกจากนี้ ควายป่าและควายบ้านอาจผสมพันธุ์กัน ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการเกิดเลือดชิด (Inbreeding) ส่งผลต่อการลดจำนวนประชากรควายป่าได้ในอนาคต
ควายป่าและควายบ้านมีพฤติกรรมการหากินคล้ายคลึงกัน โดยมักหากินในเวลากลางวันและนอนพักในเวลากลางคืน
และในอนาคตจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างควายป่าและควายบ้าน และการเฝ้าระวัง ติดตามการเปลี่ยนแปลงของประชากรควายป่าอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์ควายป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการอนุรักษ์ควายป่า อาทิ การปกป้องพื้นที่ป่า ลดการล่า ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน
การปกป้องพื้นที่ป่าเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดในการอนุรักษ์ควายป่า เนื่องจากจะช่วยป้องกันการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของควายป่าจากการถูกบุกรุก การลดการล่าสามารถทำได้โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับโทษของการล่าสัตว์ป่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน ลดแรงจูงใจในการล่าสัตว์ป่า และการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนจะช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ควายป่า
การอนุรักษ์ควายป่า ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ทุกคนต้องตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ควายป่า และร่วมกันหาแนวทางการฟื้นฟูประชากรควายป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เพื่อให้ควายป่าได้กลับมาอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง
- รศ.ดร. นริศ ภูมิภาคพันธ์ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- การประชุมเรื่องแนวทางการฟื้นฟูประชากรควายป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุมศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์
ผู้เขียน