ปรับหลักสูตรอาชีวะนักเทคโนโลยีพันธุ์ใหม่ นำร่อง 7 หลักสูตรตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 / ด้านอุดมศึกษาต้องสร้างหลักสูตรเชื่อมต่อ บูรณาการมากกว่าหนึ่งศาสตร์ คาดรับผู้เรียนได้จากระบบทีแคส ปี 2561 รอบ 5 รับตรงอิสระ
นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลักการประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา( สกอ.) ผู้แทนกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มาหารือแนวทางการปฏิรูปอาชีวศึกษา ว่า
ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพระดับสูง เป็นหลักสูตรอาชีวะนักเทคโนโลยีพันธุ์ใหม่ ซึ่งในส่วนของอุดมศึกษาต้องปรับหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับอาชีวะ ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาศักยภาพคนไทย ทั้งบัณฑิตและคนวัยทำงานให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มการแข่งขันของประเทศ นำไปสู่การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) พร้อมที่จะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในเบื้องต้นคนวัยทำงานซึ่งเป็นแรงงานสำคัญ ที่ส่วนใหญ่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่ต้องพัฒนาศักยภาพแบบก้าวกระโดด ให้มีคุณภาพระดับนานาชาติ ในส่วนของอาชีวะ จะมีต้นแบบการพัฒนาคือ ประเทศญี่ปุ่น และเยอรมัน
นพ.อุดม กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอาชีวะจะเริ่มดำเนินการใน 7 หลักสูตร ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติมานำร่องพัฒนา คือ 1.ระบบการขนส่งทางราง สถานศึกษาที่พร้อมเข้าร่วม 2 แห่ง 2.ช่างอากาศยาน สถานศึกษาที่พร้อมเข้าร่วม 5 แห่ง 3.แมคคาทรอนิกส์ สถานศึกษาที่พร้อมเข้าร่วม 1 แห่ง 4. หุ่นยนต์อุตสาหกรรม สถานศึกษาที่พร้อมเข้าร่วม 6 แห่ง 5.เทคนิคพลังงาน สถานศึกษาที่พร้อมเข้าร่วม 4 แห่ง 6.การเทคโนโลยีการท่องเที่ยว มีสถานศึกษาที่พร้อมเข้าร่วม 6 แห่ง และ 7.โลจิสติกส์ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาความพร้อมของสถานศึกษา
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของสถานศึกษาที่มีความพร้อมดังกล่าวยังไม่ถือว่าสิ้นสุด เพราะต้องพิจารณาขีดความสามารถที่แท้จริงประกอบด้วย การดำเนินการจะไม่ทำปูพรมทั้งหมด จะคัดเลือกสถาบันอาชีวะที่มีความพร้อม หรือมีการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้วมานำร่องก่อน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณ จัดการศึกษารายหัว เช่นเดียวกับการผลิตแพทย์ โดยให้ สอศ.ไปคำนวนปริมาณความต้องการในแต่ละสาขา รวมทั้งให้คำนวณงบฯ สนับสนุน และงบฯ ต้นทุนการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรจากรัฐบาลต่อไป
“เราจะแบ่งการผลิตอาชีวะเป็นหลายระดับ ระดับแรก คือช่างที่มีความชำนาญแต่ละด้าน เช่น ช่างเชื่อม ที่ต้องเก่งและมีความชำนาญที่สุด อีกระดับ คือ ช่างที่มีแนวคิดเชิงวิศวกร แต่มีฝีมือแบบอาชีวะ ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ามีความต้องการพัฒนาให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น โดยให้ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) การันตีเงินเดือน เช่นเดียวกับกลุ่มแพทย์ ที่การันตีตามความเชี่ยวชาญและทักษะ ดังนั้น กระบวนการเรียนการสอนต้องปรับเน้นการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการ โดยร่วมมือกับภาคเอกชน ขณะที่อาจารย์ผู้สอนจะต้องตามไปดูวิเคราะห์จุดอ่อน ทำวิจัยเชิงลึก ขณะที่ภาคเอกชนจะต้องเปิดช่องทางให้เด็กเข้าไปเรียนและมีงานทำมากขึ้น ขณะที่อุดมศึกษาต้องทำหลักสูตรที่เชื่อมต่อ โดยคนที่มีประสบการณ์ทำงาน จะต้องใช้ประสบการณ์ทำงานเทียบโอนได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเรียนนาน ซึ่งทาง สกอ.ชี้แจงว่า การดำเนินการในส่วนนี้เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง”
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า ขณะที่ในส่วนของอุดมศึกษาชัดเจนว่าจะต้องเปิดสอนหลักสูตรแบบบูรณาการมากกว่าหนึ่งศาสตร์ ที่ตองโจทย์ประเทศสร้างบัณฑิตสายพันธุ์ใหม่ ที่สำคัญเราต้องการเน้นว่าจะต้องมีทักษะด้านภาษาอังกฤษ และทักษะด้านเทคโนโลยี ซึ่งต่อไปจะเป็นนโยบายที่สำคัญ ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าดำเนินการไม่อยาก แต่ สกอ.จะต้องไปปลดล็อกข้อกำหนดต่างๆ เช่นมาตรฐานหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่น เพราะเป็นโครงการนำร่องซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าจะต้องดำเนินการให้ได้ภายในปีการศึกษา 2561 หรือเดือน ส.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม จะสามารถเปิดรับผู้เรียนกลุ่มนี้จากระบบกลางหรือทีแคส ปีการศึกษา 2561 รอบที่ 5 การรับตรงอิสระ ซึ่งเริ่มดำเนินการเดือน มิ.ย. เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยต้องจัดทำหลักสูตรให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. เพื่อประกาศหลักสูตรนำร่องให้นักเรียน ผู้ปกครองรับทราบ จากนี้ทั้ง สอศ.และ สกอ.จะต้องจัดทำรายละเอียดเพื่อหารือร่วมกันอีกครั้ง” นพ.อุดม กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ