ก.ค.ศ.ปรับปรุงเกณฑ์คัดเลือกผอ./รองผอ.สถานศึกษา ใหม่ เหตุต้องการผู้มีประสบการณ์บริหารโรงเรียนก้าวหน้า สอบผ่านอบรม 2 เดือน ตกประเมินเรียกตัวสำรองแทน ขึ้นบัญชี 2 ปี คาดประกาศสอบ ส.ค.59 นี้ กศจ.สัมภาษณ์เอง
วันที่ 28 ก.ค.59 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน การประชุม ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของผอ.สถานศึกษา และ รองผอ.สถานศึกษาใหม่ว่า ตามที่ตนได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือก ผอ.สถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งที่ผ่านมา ได้ผู้บริหารสถานศึกษาที่ขาดประสบการณ์ ทำให้การจัดการศึกษามีปัญหา
โดยนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.ได้นำเสนอร่างหลักเกณฑ์การคัดเลือกใหม่ มาให้พิจารณา แต่ตนได้ให้ไปปรับในรายละเอียด และกลับมาเสนออีกครั้ง และให้ผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ.รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ร่วมพิจารณาด้วย อาทิ ผอ.โรงเรียน และผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา เป็นต้น ส่วนผู้บริหารจะต้องไล่ประสบการณ์บริหารตั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาด ใหญ่หรือไม่นั้น ยังไม่ฟันธง แต่ตนเห็นว่าควรจะต้องมีประสบการณ์การบริหารสถานศึกษาด้วย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์ใหม่จะต้องให้ได้มาซึ่งผู้ที่มีความเหมาะสม ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิและประสบการณ์ ผ่านการเป็นครู และผู้บริหารการศึกษามาไม่น้อยกว่า 8-10 ปี ซึ่งผู้ที่สอบข้อเขียนผ่านเกณฑ์เข้าสู่ตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา โดยจะมีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกตามลำดับที่ และประกาศมากกว่าตำแหน่งที่ว่าง 10% เพื่อให้มีลำดับสำรอง ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดต้องเข้ารับการอบรม เป็นเวลา 2 เดือน และหลังการอบรมจะมีการประเมินผลอีกครั้ง หากใครไม่ผ่านการประเมิน ก็จะเลือนผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีในลำดับสำรองขึ้นมาแทนที โดยจะมีระยะเวลาการขึ้นบัญชี 2 ปี ตนตั้งเป้าไว้ว่าจะเริ่มใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ในการคัดเลือก ผอ.สถานศึกษา เพื่อบรรจุทดแทนอัตราเกษียณ ในวันที่ 1 ต.ค.60
“สำหรับการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อทดแทนตำแหน่งว่างจากการเกษียณอายุราชการ ซึ่งจะมี ผอ.สถานศึกษา เกษียณอายุราชการ จำนวน 2,038 คน และรอง ผอ.สถานศึกษา เกษียณ จำนวน 506 คน โดยคาดว่าจะประกาศปฏิทินการสอบได้ภายในเดือน ส.ค.59 นี้ เบื้องต้น จะใช้หลักเกณฑ์เดิม ให้ สพฐ.เป็นผู้ออกข้อสอบ และจัดสอบข้อเขียน ภาค ก ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไปและกฎหมาย ซึ่งความรู้ที่จะใช้สอบ ไม่วัดความรู้ทางวิชาการอย่างเดียว แต่จะใช้คำถามที่ทำให้คัดเลือกได้ ผอ.โรงเรียนได้ดีขึ้น ส่วนสอบภาค ข ความเหมาะสมกับตำแหน่ง ซึ่งจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงาน และการสอบสัมภาษณ์ ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้ออกข้อสอบและจัดสอบเอง และยังคงมีการจัดลำดับที่ คนที่ได้คะแนนมาก จะมีสิทธิ์เลือกสถานศึกษาก่อน ตามจังหวัดที่สอบ” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ