ก่อนการระบาดของ COVID-19 “การศึกษาไทย” จัดการเรียนการสอน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 แบ่งการจัดการเรียนการสอน ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
การศึกษาขั้นพื้นฐาน อนุบาล (3ขวบ)- มัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) ส่วนมัธยมศึกษาตอนปลาย ( ม.4-6) และอาชีวะศึกษา ( ปวช.-ปวส.)
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก ในจัดการศึกษา ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)
จากวิกฤตการณ์การระบาดของ COVID-19 ภาคการศึกษาถูกเร่งด้วยปัจจัยกระตุ้นหลายด้าน นำไปสู่รูปแบบการเรียนรู้ในรูปแบบ “เรียนออนไลน์” และ “เรียนทางไกล” มากยิ่งขึ้น ส่งผล “การศึกษาไทย” ต้องมีการปรับตัวไปด้วย มีการจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบใหม่ หลายรูปแบบ ในช่วงการระบาดของ COVID-19
ในช่วงปีแรก กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนที่เรียกว่า ON-AIR หรือการเรียนการสอนระบบทางไกลผ่านดาวเทียม มาใช้ทดแทนการเรียนการสอนที่โรงเรียน โดยอาศัยสื่อการเรียนการสอนจาก “สถานีโทรทัศน์การศึกษาพระราชวังไกลกังวล” จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาใช้เป็นสื่อหลักในการจัดการเรียนการสอน
ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้ต้องเปลี่ยนตัว “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนเพิ่มเติมเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่
1. การเรียนการสอนผ่านทีวี (ON-AIR) ผ่านระบบดาวเทียม KU-BAND (จานทึบ) ช่อง 186-200 ระบบเคเบิลทีวี (Cable TV) และระบบ IPTV
2. การเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต (ONLINE) ผ่านทางระบบ Video Conference ระบบอินเทอร์เน็ตของโรงเรียน และระบบอื่น
3. การเรียนการสอนแบบ ON–DEMAND ผ่านทางเว็บไซต์ DLTV (www.dltv.ac.th) ช่อง Youtube (DLTV Channel 1-15) และแอปพลิเคชั่น DLTV บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต
4. การเรียนการสอนแบบ ON-HAND สำหรับนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์การรับชม โดยการนำหนังสือ แบบฝึกหัด ใบงาน ไปเรียนรู้ที่บ้านภายใต้ความช่วยเหลือของผู้ปกครอง
เพื่อทดแทนการเรียนการสอนแบบ ON-SITE หรือ “เรียนออนไซต์” หมายถึงการเรียนการสอนในชั้นเรียน และใช้รูปแบบนี้จนถึงปัจจุบัน
ในช่วงปลาย ปีการศึกษา 2564 “ครูเหน่ง” นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ว่า “ศธ.ก็พบว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก คือ การมาโรงเรียน” ก็คือ ON-SITE ดีที่สุด
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นักเรียนได้รับผลกระทบระยะยาว จากการเรียนออนไลน์ ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ยอมรับว่า การเรียนออนไลน์ที่ยาวนาน ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน พัฒนาการและสุขภาพของเด็กอย่างมากมาย สมควรที่จะได้รับการดูแลแก้ไข
เราอาจเรียกได้ว่า “Long COVID ของการศึกษาไทย”
น่าเป็นห่วงว่า ในการดำเนินงานในปีการศึกษา 2565 (พ.ศ.2565-2566) ที่กำลังจะมาถึง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังคงยึดมั่นในหลักการและรูปแบบเดิม ที่ใช้มาตลอดระยะเวลา การจัดการเรียนการสอน การวัดผลประเมินผล กิจกรรมต่างๆ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ ของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังคงเหมือนเดิม
กล่าวคือ มุ่งเน้นความสำเร็จ พัฒนาสู่ความเป็นเลิศ โดยไม่สนใจนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 หรืออาจจะเรียกว่า Long COVID ก็ได้
อยากให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หยุดก้าวเดินไปข้างหน้าสักเล็กน้อย สละเวลาสักนิด แล้วย้อนมามองคนที่อยู่ข้างหลัง คนที่ตกค้างอยู่กับภาวะ Long COVID ทางการศึกษา ตามเจตนารมณ์ที่ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
และดำเนินการตามที่ประกาศไว้ว่าจะ “พาน้องกลับมาเรียน” ก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะหายลับไปจากสายตาพร้อมกับ COVID-19 ที่กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นชนิดร้ายแรง