รัฐบาลมาเลเซีย เผยผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันอาการป่วยหนักจากติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 พบผู้ฉีดวัคซีนโคโรนาแวกซ์ หรือ ซิโนแวค ต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู เพียง 0.011% จากที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายชนิดนี้ ทั้งหมด 7.2 ล้านคน ส่วนผู้ฉีดไซเฟอร์ 6.5 ล้านคน มีอัตราป่วยเข้าห้องไอซียูอยู่ที่ 0.002 และวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า อยู่ที่ 0.001 จากผู้รับวัคซีนชนิดนี้ทั้งหมด 744,958 คน
ผลศึกษาชิ้นนี้ครอบคลุมผู้ฉีดวัคซีนทั้งหมด 14.5 ล้านคน ทำการศึกษาในช่วงเวลากว่า 5 เดือนนับจาก 1 เมษายน
แม้อัตราป่วยหนักหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคสองเข็ม สูงกว่าวัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าเซเนก้า แต่ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนักในระดับสูง จากการใช้จริงในมาเลเซีย หลังจากตลอดเวลาที่ผ่านมา วัคซีนโดยผู้ผลิตจีน ถูกจับจ้องเรื่องประสิทธิภาพ หลังมีรายงานการติดเชื้อในบุคลากรการแพทย์ประเทศไทยและอินโดนีเซียที่ได้รับวัคซีนแล้ว
นายแพทย์ Kalaiarasu Peariasamy ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยคลินิก หน่วยงานที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนไม่ว่ายี่ห้อไหน ช่วยลดความเสี่ยงป่วยหนัก 83% ผลศึกษาอีกชิ้นครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง 1.26 ล้านคน พบเช่นกันว่า การฉีดวัคซีนไม่ว่ายี่ห้อไหน ลดความเสี่ยงเสียชีวิต 88%
โดยรวม อัตราป่วยหนักเข้าห้องไอซียูหลังฉีดวัคซีนครบโดส อยู่ที่เพียง 0.0066% ส่วนอัตราการตายของผู้ฉีดวัคซีน อยู่ที่เพียง 0.01% และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัว
อย่างไรก็ดี ผู้รับวัคซีนสามชนิด มีความแตกต่างกันในแง่กลุ่มประชากร ซึ่งอาจให้ผลที่แตกต่างกันด้วย โดยผู้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนก้า เป็นวัยกลางคน ส่วนไฟเซอร์ และซิโนแวค เป็นประชากรกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ ผู้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา