ผลการศึกษา 2 ชิ้นของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่ร่วมพัฒนาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AZ) กับบริษัทจากสวีเดนแห่งนี้ชี้ว่า การชะลอฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ AZ โดสที่ 2 และ 3 ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น อีกทั้งการเปลี่ยนไปฉีดวัคซีนไฟเซอร์โดสที่ 2 ก็เพิ่มภูมิคุ้มกันดีกว่าฉีด AZ ซ้ำอีก
ขวดบรรจุวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค (ซ้าย) กับของแอสตร้าเซนเนก้า (Photo by AARON CHOWN/POOL/AFP via Getty Images)
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจากอังกฤษเปิดเผยผลการศึกษาเมื่อวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน ซึ่งน่าจะเพิ่มความมั่นใจแก่ประเทศที่มีวัคซีน AZ สำรองอย่างจำกัด ว่าการทิ้งช่วงห่างระหว่างวัคซีนเข็มแรกกับเข็มที่ 2 นานถึง 45 สัปดาห์นั้น นำไปสู่การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น แทนที่จะลดน้อยลง ขณะที่การฉีดวัคซีนเสริมโดสที่ 3 หลังจากโดสที่ 2 นานกว่า 6 เดือนก็ทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี “เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” และกระตุ้นให้เกิด “การเพิ่มขึ้นอย่างมาก” ด้านการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีน
เอเอฟพีรายงานว่า ผลการศึกษาฉบับนี้เป็นผลงานก่อนการตีพิมพ์ ซึ่งหมายความว่ายังไม่ผ่านการทบทวนจากนักวิจัยคนอื่น
แต่แอนดรูว์ พอลลาร์ด หัวหน้าทีมวิจัยของการทดลองของออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า ผลที่ได้น่าจะเป็นข่าวที่สร้างความมั่นใจแก่ประเทศทั้งหลายที่มีวัคซีนอย่างจำกัด และอาจกังวลเกี่ยวกับการชะลอการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 แก่ประชากร “มีผลการตอบสนองที่ดีเยี่ยมของโดสที่ 2 ถึงแม้ว่าจะฉีดห่างจากโดสแรก 10 เดือน” เขากล่าว
คณะนักวิจัยชุดนี้กล่าวอีกว่า ผลลัพธ์ของการชะลอ AZ โดสที่ 3 ก็เป็นในเชิงบวกเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศที่มีโครงการฉีดวัคซีนก้าวหน้าพิจารณาว่า ควรฉีดวัคซีนโดสที่ 3 เพื่อยืดอายุภูมิคุ้มกันหรือไม่
วัคซีน AZ ซึ่งถูกใช้แล้วใน 160 ประเทศ ได้รับการยกย่องว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของความพยายามต่อสู้กับโควิด-19 เพราะมีต้นทุนค่อนข้างต่ำและง่ายต่อการขนส่ง แต่ AZ รวมถึงวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ของสหรัฐ ก็ก่อความวิตกเกี่ยวกับการเชื่อมโยงถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นน้อยมาก และทำให้บางประเทศระงับการใช้ หรือจำกัดให้ใช้กับกลุ่มคนที่ยังอายุน้อยเพื่อลดความเสี่ยง
การศึกษาของออกซ์ฟอร์ดบ่งชี้ด้วยว่า ผลข้างเคียงจากวัคซีนโดยทั่วไปนั้นสามารถยอมรับได้โดยพบกรณีเกิดผลข้างเคียงลดลงหลังการฉีดโดสที่ 2 และ 3 เมื่อเทียบกับโดสแรก
ผลการศึกษาอีกชิ้นของออกซ์ฟอร์ดเผยแพร่วันเดียวกันพบด้วยว่า การเปลี่ยนวัคซีนโดสที่ 2 จาก AZ ไปฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทคในอีก 4 สัปดาห์ต่อมา ก็สามารถกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้เช่นกัน รายงานรอยเตอร์กล่าวว่า มีบางประเทศในยุโรปใช้รูปแบบที่ว่านี้แล้ว ซึ่งผลการศึกษาฉบับนี้ที่เรียกว่า Com-COV สนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าว
การศึกษาซึ่งเปรียบเทียบการผสมวัคซีน 2 โดสระหว่าง AZ กับไฟเซอร์ โดยการสลับลำดับก่อนหลังให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน แต่ไม่ว่าแบบใดก็ก่อแอนติบอดีในระดับสูงต่อสไปค์โปรตีนของไวรัสโคโรนา
แมทธิว สเนป หัวหน้าทีมวิจัยชุดนี้ของออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า ผลการศึกษานี้สามารถนำไปใช้เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการฉีดวัคซีน แต่ก็ไม่ใหญ่พอที่จะแนะนำให้เปลี่ยนกำหนดการฉีดวัคซีนตามที่มีการอนุมัติทางคลินิก
การตอบสนองของแอนติบอดีในระดับสูงสุดพบได้ในผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 โดส ส่วนการผสมวัคซีน 2 ชนิดก็ให้การตอบสนองที่ดีขึ้นกว่าการฉีด AZ ทั้งสองโดสเช่นกัน โดยการฉีด AZ โดสแรกตามด้วยไฟเซอร์ทำให้การตอบสนองของทีเซลล์ดีที่สุด และยังมีการตอบสนองของแอนติบอดีสูงกว่าการฉีดไฟเซอร์ก่อนแล้วตามด้วย AZ
การศึกษาชิ้นนี้ใช้ผู้ร่วมการทดสอบ 830 คนที่ฉีดวัคซีนผสมเว้นช่วง 4 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาแบบเว้นระยะห่าง 12 สัปดาห์ด้วย ซึ่งสเนปกล่าวว่า เป็นที่รับรู้อยู่แล้วว่าวัคซีน AZ ก่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันดีกว่าเมื่อเว้นระยะห่างระหว่างสองโดสนานขึ้น
สำหรับอังกฤษ เจ้าหน้าที่แนะให้เว้นระยะการฉีดวัคซีน 2 โดสห่างกัน 8 สัปดาห์ในกลุ่มผุ้ที่อายุเกิน 40 ปี และเว้น 12 สัปดาห์สำหรับผู้ใหญ่ช่วงวัยอื่น
ถึงขณะนี้มีผู้ใหญ่ในอังกฤษมากกว่า 80% ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส และ 60% ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว.