ในการประชุมว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาโลก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 77 ที่นครนิวยอร์ก บรรดาผู้นำโลกที่เข้าร่วมประชุมต่างหารือเรื่องผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อระบบการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งทำให้เด็กจำนวนมากเกิดความถดถอยในการเรียนรู้ตลอดช่วงกว่าสองปีที่ผ่านมา
มาลาลา ยูซาฟไซ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและทูตสันติภาพของสหประชาชาติ กล่าวว่า เมื่อ 7 ปีก่อนตอนที่เธอขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่สหประชาชาติเพื่อเรียกร้องสิทธิด้านการศึกษาของเด็กผู้หญิง บรรดาผู้นำประเทศ องค์กร ประชาสังคม และทุกคนที่นั่นต่างสัญญาว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาภายในปี 2030 “แต่เป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างยิ่งที่ผ่านไปครึ่งทางแล้ว เรายังคงเผชิญกับภาวะฉุกเฉินด้านการศึกษาอยู่”
ปัจจุบัน อัตราการไม่รู้หนังสือของเด็กวัย 10 ขวบในประเทศยากจนและประเทศรายได้ปานกลาง เพิ่มขึ้นเป็น 70% ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ราว 13% อ้างอิงจากรายงานของธนาคารโลก องค์การยูเนสโก และองค์การยูนิเซฟ
อามีนา โมฮัมเหม็ด รองเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็นว่า “นี่ถือเป็นโอกาสสำคัญในช่วงชีวิตของเราที่จะปฏิรูปการศึกษา” และว่า เราจะเป็นหนี้คนรุ่นต่อไปหากเราไม่ตระหนักถึงการอุบัติขึ้นของปัญหาการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ “การเรียนรู้ที่สูญเสียไปในช่วงการระบาดใหญ่เป็นสิ่งที่หนักหนาสาหัสยิ่ง”
รายงานการศึกษาของยูนิเซฟและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเมื่อปี 2020 ชี้ว่า เด็กมากกว่า 800 ล้านคนไม่มีอินเทอร์เน็ตที่บ้านสำหรับการเรียนทางไกลในช่วงโควิดระบาด ซึ่งสำหรับเด็ก ๆ เหล่านั้น เมื่อโรงเรียนถูกปิดลง พวกเขาก็ไม่สามารถเรียนหนังสือได้เลย
องค์การยูเนสโกชี้ว่า ระยะเวลาที่โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนในช่วงโควิดระบาดนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยที่บางประเทศในเอเชียใต้และอเมริกาใต้ปิดเรียนนานที่สุดถึง 75 สัปดาห์ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ บางเขตต้องใช้วิธีเรียนทางไกลนานกว่าหนึ่งปี
ความล่าช้าในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในเอเชียใต้หายไปราว 12 เดือน ขณะที่ในยุโรปและเอชียกลางหายไปราว 4 เดือนโดยเฉลี่ย อ้างอิงจากรายงานวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company
ปัจจุบัน โรงเรียนในเกือบทุกประเทศเริ่มกลับมาทำการเรียนการสอนตามปกติแล้ว แต่ ผอ.องค์การยูเนสโก อเดรย์ อาซูเลย์ เชื่อว่ายังมีเด็กนักเรียนอีกราว 244 ล้านคนที่ยังไม่กลับไปโรงเรียน ส่วนใหญ่อยู่ในแถบทางใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา ตามด้วยเอเชียใต้และเอเชียกลาง
ด้านเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเทอเรซ ชี้ถึงความแตกต่างด้านการศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านเงินสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งถือเป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุด กล่าวคือ ประเทศร่ำรวยลงทุนต่อเด็กนักเรียนโดยเฉลี่ย 8,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี เทียบกับประเทศรายได้ปานกลางที่ลงทุนเฉลี่ย 1,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี และประเทศยากจนที่ลงทุนเฉลี่ย 300 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี หรืออาจต่ำถึง 50 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีในบางประเทศ
เลขาธิการยูเอ็นยังได้ขอให้ประเทศร่ำรวยต่าง ๆ บริจาคเงินช่วยเหลือเพื่อการศึกษาแก่ประเทศยากจนเพิ่มขึ้นเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษานี้
- ที่มา: วีโอเอ