ขณะที่การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลตาทำให้วิกฤติโควิด-19 ทั่วโลกกลับมารุนแรงขึ้นอยู่นี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลายรายกำลังเร่งศึกษาว่า ไวรัสกลายพันธุ์นี้มีความสามารถทำให้ผู้ได้รับเชื้อป่วยหนักกว่าการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นจริงหรือไม่
สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานโดยอ้างเอกสารภายในของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ที่ได้รับการเปิดเผยออกมาเมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตา ที่พบครั้งแรกในอินเดีย น่าจะ “มีความรุนงแรงมากกว่า” ไวรัสสายพันธุ์ที่พบก่อนหน้าจริง โดยข้อสังเกตดังกล่าวอ้างอิงจากงานวิจัยในแคนาดา สิงคโปร์ และสกอตแลนด์ ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเดลตามีโอกาสสูงกว่าที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อเทียบกับผู้ป่วยโควิดในช่วงต้นของการระบาด
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเปรียบเทียบผลวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างประชากรที่มีขนาดใหญ่กว่าที่รายงานทั้ง 3 ชิ้นทำมา
อย่างไรก็ตาม ดร.มิเชลล์ บาร์รอน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร UCHealth ในรัฐโคโลราโด บอกกับผู้สื่อข่าวว่า งานวิจัยจากประเทศจีนยังชี้ด้วยว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ สามารถขยายพันธุ์ได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นถึง 1,000 เท่า ซึ่งหมายความว่า การระบาดระลอกล่าสุดนี้มีอันตรายในระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตสาธารณสุขนี้มา
ขณะเดียวกัน วุฒิสมาชิก ลินซีย์ แกรห์ม สังกัดพรรครีพับลิกัน จากรัฐเซาท์แคโรไลนา ประกาศในวันจันทร์ว่า ตนเพิ่งตรวจพบว่า ติดเชื้อโควิด-19 แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว
แต่ ส.ว.แกรห์ม ซึ่งเริ่มมีไข้มาตั้งแต่เมื่อวันเสาร์และจะทำการกักตัวเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 10 วันนับจากนี้ กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่ได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว เพราะหากไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน ตนมีความมั่นใจมากว่าอาการน่าจะหนักกว่าที่เป็นอยู่มาก