เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุมศรีปริยัติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดการประชุมแนวทางการจัดการศึกษาให้กับสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยบันทึกข้อตกลงด้วยความร่วมมือดำเนินโครงการระหว่าง คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิพันธกิจลอว์ กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม และเครือข่ายอาสาชุมชนเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ
น.ส.ละออ กู่แก้วเกษม ทนายความมูลนิธิพันธกิจลอร์ กล่าวว่า เนื่องด้วยในปีการศึกษา 2566 โรงเรียนบาลีสาธิต มีนักเรียนสามเณรที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร เข้ารับการศึกษาใหม่จำนวน 56 รูป โดยเป็นระดับประถมศึกษา จำนวน 34 รูป และระดับมัธยมศึกษาจำนวน 22 รูป ดังนั้นคณะทำงานภายใต้ MOU ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ได้จัดทำและสำรวจข้อมูลนักเรียนสามเณรกลุ่มนี้ เพื่อคัดแยก และวิเคราะห์ปัญหาสถานะบุคคลเบื้องต้น
“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ กลุ่มสามเณรที่ไม่มีเอกสาร และพ่อ-แม่เป็นแรงงานต่างด้าวอยู่ในไทยนั้น รัฐบาลไทยยังไม่เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ติดตามอย่างต่อเนื่อง กลุ่มสามเณรที่ไม่มีเอกสาร และพ่อแม่เป็นผู้ลี้ภัยในศูนย์อพยพ หรือพ่อ-แม่ยังอยู่ในประเทศพม่า รัฐบาลไทยยังไม่มีนโยบาย สำรวจจัดทะเบียนประวัติกลุ่มเหล่านี้ ทำให้เด็กเหล่านี้ มีสถานะบุคคลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือเป็นบุคคลที่เข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินชีวิตประจำวันทุกวันเกิดการละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง เช่นเดินทางโดยไม่ได้รับอนุญาต ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ อยู่อาศัยโดยไม่มีสิทธิอยู่อาศัย จึงตกอยู่ในสภาวะที่สุ่มเสี่ยงในการจะถูกจับ ถูกดำเนินคดีทั้งตัวเด็ก ผู้ปกครอง และผู้ให้ที่อยู่อาศัยแก่เด็ก รวมทั้งเป็นกลุ่มคนที่ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายในสังคมได้โดยง่าย” นส.ละออ กล่าว
ทนายความมูลนิธิพันธกิจลอร์กล่าวว่า ข้อเสนอแก้ไขปัญหาของเด็กนักเรียน G คือ ขอให้รัฐมีนโยบาย ในเรื่องการจัดทำทะเบียนประวัติ หรือขึ้นทะเบียนอย่างต่อเนื่อง โดยจำแนกประเภทบุคคล ตามกลุ่มต่าง ๆ และกำหนดเลขประจำ 13 หลัก กรณีตัวอย่าง เช่น กลุ่มไร้รัฐไร้สัญชาติ, กลุ่มลูกหลานแรงงาน ,กลุ่มเด็กต่างชาติเข้ามาเรียน ,กลุ่มผู้ลี้ภัย และขอให้รัฐมีกฎหมายรับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิการอยู่อาศัยชั่วคราว สิทธิในการเดินทาง สิทธิรักษาพยาบาล สิทธิในการทำงาน
นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้แทนมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล กล่าวว่า ต้องการแก้ไขปัญหาในกรณีสามเณร เนื่องจากเป็นเรื่องสถานะบุคคล และมีหลากหลายประเภท ตั้งแต่พระสงฆ์ สามเณรที่เกิดและโตในแผ่นดินไทยแต่ว่าไม่ได้แจ้งเกิด หรือบางรูปมาจากประเทศเพื่อนบ้านแต่ไม่ได้ทําเรื่องขออนุญาตเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย จุดเริ่มต้นได้สำรวจสถานศึกษาเพราะมีหน่วยงานต้นสังกัดชัดเจน คือ เคหสถาน โรงเรียน พบกลุ่มที่มีประเด็นปัญหาเฉพาะเจาะจง คือสามเณรกลุ่มหนึ่งได้หลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยเหตุผล 1. ไม่มีเอกสารทางทะเบียนและไม่ได้เรียนจบชั้นประถมศึกษา หรือ ป.6 ไม่สามารถที่จะไปเรียนต่อในสายโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ และไม่ได้มีใบวุฒิทางการศึกษาสายสามัญ หรือ ป.6
นายสันติพงษ์กล่าวว่า 2.โรงเรียนในเครือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่ง สพฐ.ให้รับเฉพาะเด็กหญิงและเด็กชาย แต่สมณเพศ เช่น สามเณร นั้นไม่ให้รับเข้าศึกษา แม้ที่ผ่านมาบางโรงเรียนจะมีการอนุโลมผ่อนผันบ้าง แต่ก็ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะใช้คำว่า เด็กชาย แทนคำว่า สามเณร เพื่อรายงานผลให้กับกระทรวงศึกษาธิการ 3.หากไปเรียนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเพราะบางรูปอายุไม่ถึง 15 ปี จึงไม่สามารถเข้าไปเรียนได้ ปัญหาเหล่านี้จึงทำให้สามเณรไม่สามารถเรียนต่อได้
นายสันติพงษ์กล่าวต่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการศึกษาพยายามหาทางออก ซึ่งมีข้อเสนอ เช่น 1.ศูนย์การเรียนทางไกลในสังกัดสำนักงานกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เป็นทางออกหรือไม่ การขออนุญาตจะไปในทิศทางใดและจะสามารถเปิดเรียนได้ที่ไหน 2.การจัดการเรียนการสอนแบบ Home School (ระบบการศึกษาแนวใหม่ที่เรียนจากที่บ้านโดยผู้ปกครอง) การจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้ จะถูกต้องหรือไม่ และวัดถือเป็นบ้านหรือไม่ และเจ้าอาวาสถือเป็นผู้ปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ โครงสร้างในการจัดการศึกษาจะทําอย่างไร และรวมไปถึงเรื่องคุณภาพทางการศึกษา ที่ต้องได้รับการประเมินผลจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 3.โรงเรียนในสํานักงานการศึกษาเอกชน ซึ่งบางโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอน ทั้งเด็กหญิง เด็กชาย สามเณร พระสงฆ์ ตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.6 ในรูปแบบนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ และมีความเหมาะสมหรือไม่
“ในอนาคตเสนอให้ สพฐ. รับกลุ่มสามเณรเข้าไปเรียนด้วย และออกแบบบางกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับสมณเพศ เช่น กีฬา ดนตรี อาจจะไม่สามารถเข้าร่วมได้ เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาและแนวทางในการปฏิบัติ อาจจะไม่เหมาะสม และโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ ซึ่งปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนระดับมัธยม ให้ขยายฐานล่างลงมาเพื่อเปิดชั้นประถมศึกษา ทางด้านสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ได้มีข้อเสนอว่าโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ ต้องเริ่มต้นเปิดจากช่วงชั้นที่มีความพร้อม อย่างน้อย ป.4 – ป.6 ที่สามารถดูแลตนเองได้และไม่ได้เป็นภาระแก่คนอื่นมากนัก แนวทางต่อไปจะมีการทำหนังสือหารือคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีผู้ว่าราชาชการจังหวัดเป็นประธาน และมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นเลขาธิการ เพื่อหามติในการดูแลในเรื่องนี้ และส่งมอบไปยังสถานศึกษาต่างๆ และทำการขยายผลต่อไป” นายสันติพงษ์กล่าว