โดยเฉพาะดาวศุกร์และพฤหัสฯจะเข้าใกล้กันมากที่สุดเช้าวันพุธ ห่างแค่นิ้วโป้งเท่านั้น สามารถดูได้ชัดด้วยตาเปล่า ก่อนส่งท้ายปลายเดือนม.ค.ด้วยปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน และ 1 ก.พ.ดวงจันทร์ จะเข้าใกล้ดาวศุกร์ ห่างกันแค่ 3 องศา
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในช่วงนี้ ดาวศุกร์ และ ดาวพฤหัสบดี 2 ดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า จะปรากฏในช่วงเช้ามืด และวันที่ 22-24 ม.ค.62 จะมีดาวสว่าง 3 ดวง ปรากฏใกล้กัน ได้แก่ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวแอนทาเรส ซึ่งเป็นดาวฤกษ์สว่างในกลุ่มดาวแมงป่อง สังเกตด้วยตาเปล่าได้ชัดเจนมาก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.45 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า
ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจะค่อย ๆ ขยับเข้าใกล้กันมากที่สุดในช่วงเช้าวันที่ 23 ม.ค.62 ห่างเพียง 2.5 องศา (การวัดระยะเชิงมุมท้องฟ้า ใช้มือเหยียดสุดแขนขึ้นบนฟ้า ระยะ 2 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วโป้ง)
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” ในวันที่ 31 ม.ค.62 ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏบนท้องฟ้าเคียงข้างดวงจันทร์ แรม 10 ค่ำ ห่างกันประมาณ 2.3 องศา หลังจากนั้น วันที่ 1 ก.พ.62 ดวงจันทร์ แรม 11 ค่ำ จะเคลื่อนมาใกล้ดาวศุกร์ ห่างกันประมาณ 3 องศา ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวบาง สังเกตได้ในช่วงเช้ามืดเช่นกัน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.45 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า
ทั้งนี้ ช่วงเดือนม.ค. ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูหนาว สภาพท้องฟ้าส่วนใหญ่จึงมีทัศนวิสัยดีเหมาะแก่การดูดาวเป็นอย่างยิ่ง จึงขอเชิญชวนผู้สนใจตื่นเช้าชมความสวยงามของปรากฏการณ์ท้องฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ