“…โจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และพี่น้องในครอบครัวตระกูลโตทับเที่ยง ก่อตั้งและบริหารกิจการทั้ง 19 บริษัท ในลักษณะที่ให้เป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งบุคคลในครอบครัวมีสิทธิในทรัพย์สินเท่าเทียมกัน เป็นกงสีตรงตามที่โจทก์ทั้ง 9 บรรยายฟ้องมา ดังนั้น หุ้นในบริษัททั้ง 19 บริษัท จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ที่ 1-7 นางสุภัทรา นายสวัสดิ์ และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่น้องในครอบครัวโตทับเที่ยง…”
……………………….
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีกรรมสิทธิ์รวม เรียกทรัพย์คืน ขอแบ่งทรัพย์สิน (กงสี) หรือทรัพย์ของครอบครัวที่ทำมาหากินร่วมกัน ของตระกูล ‘โตทับเที่ยง’ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจผลิตปลากระป๋องตรา ‘ปุ้มปุ้ย’ และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง
โดยศาลฎีกาพิพากษา ให้นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง (จำเลย 1) และพวก ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นที่ถือไว้แทนพี่น้องคนอื่นๆ ในบริษัทฯ 19 แห่ง โอนหุ้นในบริษัทดังกล่าว ให้แก่ นายสุธรรม โตทับเที่ยง กับพวกรวม 9 คน (โจทก์ที่ 1-9) และนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง (จำเลยที่ 1) คนละ 1 ส่วนใน 10 ส่วน ของหุ้นในแต่ละบริษัท
พร้อมทั้งให้นายสุรินทร์ (จำเลย 1) และจำเลยที่ 4-6 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถือไว้แทนพี่น้องคนอื่นในตระกูลโตทับเที่ยง 31 แปลง และตึกแถว 25 ห้อง ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกงสีหรือธุรกิจในครอบครัว (อ่านประกอบ : ‘โตทับเที่ยง’ยุติขัดแย้ง! ‘สุธรรม’ส่งเทียบเชิญ’สุรินทร์’หารือ แบ่ง’หุ้น-ที่ดิน’กงสี)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปที่มาที่ไปของคดีพิพาทใน ‘กงสี’ คดีนี้ และคำให้การของ 2 พี่น้อง ‘โตทับเที่ยง’ โดยเฉพาะ ‘สุธรรม โตทับเที่ยง’ (โจทก์ที่ 1) พี่ใหญ่ของตระกูล และ ‘สุรินทร์ โตทับเที่ยง’ (จำเลยที่ 1) น้องชายของสุธรรม ก่อนศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาออกมา หลังจากสู้คดีกันมา 7 ปี
@คำให้การ ‘สุธรรม’ ใช้เงินส่วนตัวก่อตั้งธุรกิจ ‘โตทับเที่ยง’
ศาลชั้นต้น
สำหรับคดีนี้ มีฝ่ายโจทก์ 9 คน ได้แก่ สุธรรม โตทับเที่ยง (โจทก์ที่ 1),จุรี โตทับเที่ยง (โจทก์ที่ 2) ,จุฬา หวังศิริเลิศ (โตทับเที่ยง) (โจทก์ที่ 3), จุรัตน์ มะนะสุทธิ์ (โตทับเที่ยง) (โจทก์ที่ 4), สลิล โตทับเที่ยง (โจทก์ที่ 5), สุนีย์ โตทับเที่ยง (โจทก์ที่ 6), ศิริพร โตทับเที่ยง (โจทก์ที่ 7), เสริมสันต์ สินสุข บุตรของสุภัทรา โตทับเที่ยง (โจทก์ที่ 8) และไกรลาภ โตทับเที่ยง บุตรของสวัสดิ์ โตทับเที่ยง(โจทก์ที่ 9)
ส่วนฝ่ายจำเลย 6 คน ได้แก่ สุรินทร์ โตทับเที่ยง (จำเลย 1), อุทัยวรรณ โตทับเที่ยง ภริยาของสุรินทร์ (จำเลย 2), ขิมพริ้ง โตทับเที่ยง บุตรของสุรินทร์ (จำเลย 3), ไกรสิน โตทับเที่ยง บุตรของสุรินทร์ (จำเลย 4), กรพินธุ์ โตทับเที่ยง บุตรของสุรินทร์ (จำเลย 5) และ ไกรฤทธิ์ โตทับเที่ยง บุตรของสุรินทร์ (จำเลย 6)
ศาลชั้นต้น
โดยโจทก์ทั้ง 9 บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 1-7 ,สุภัทรา โตทับเที่ยง (ถึงแก่ความตายแล้ว) ,สวัสดิ์ โตทับเที่ยง (ถึงแก่ความตายแล้ว) และจำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) รวม 10 คน เป็นบุตรของ นายโต๋ว ง่วนเตียง กับ นางยิ่ง แซ่โต๋ว โดยนายโต๋ว ซึ่งเป็นชาวจีน ประกอบอาชีพขายข้าวสารและของชำ
เมื่อนายโต๋วถึงแก่กรรม นางยิ่งอายุมากแล้ว โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ในฐานะพี่ชายคนโต ได้ทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวของตระกูลสืบต่อจากบิดามารดา โดยทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ส่งเสียน้องๆ เรียนหนังสือ รวมทั้งมอบหมายน้องทุกคนทำหน้าที่ต่างๆ ซึ่งน้องทุกคนปฏิบัติตามด้วยดีตลอดมา
หลังจากทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ใช้เงินส่วนตัวก่อตั้งและจดทะเบียนตั้งบริษัทหลายบริษัท โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) และคนในตระกูลโตทับเที่ยง รวมถึงภริยาและบุตรของคนในตระกูล เป็นผู้ถือหุ้นและบริหารงานในบริษัทที่ตั้งขึ้น ทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก และเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแทน
โดยระยะแรก โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) เป็นผู้จ่ายเงินทั้งหมด ต่อมาได้นำเงินรายได้จากกิจการมาลงทุน กิจการทั้งหมดจึงเป็นของครอบครัวที่เรียกว่า ‘กงสี’ ตามประเพณีของคนจีนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา
แต่ต่อมา จำเลยทั้ง 6 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง ,ภริยา และบุตร 4 คน) ร่วมกันลดสัดส่วนการถือหุ้น และทำการเปลี่ยนแปลงชื่อกรรมการของบริษัท และกรรมการที่ลงชื่อผูกพันจากพี่น้องในตระกูลออก แล้วนำภริยา บุตร และคนสนิท (บุคคลภายนอก) มาเป็นกรรมการแทน และจำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) ยังยักย้ายถ่ายเทหุ้นในบริษัทต่างๆ (21 บริษัท) จนถูกฟ้องหลายคดี
นอกจากนี้ ในระหว่างที่ จำเลยทั้ง 6 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง และพวก) เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทต่างๆ จำเลยทั้ง 6 นำเงินของบริษัทฯดังกล่าวไปซื้อที่ดินหลายแปลง เมื่อซื้อแล้วแทนที่จะใส่ชื่อบริษัทฯที่เป็นเจ้าของเงิน แต่กลับใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จึงถือเป็นการถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไว้แทนบริษัทฯ ซึ่งเป็นกิจการของกงสี
โจทก์ทั้ง 9 (สุธรรม โตทับเที่ยง และพวก) จึงได้แจ้งให้จำเลยทั้ง 6 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง และพวก) คืนทรัพย์สินให้แก่กงสีแล้ว แต่จำเลยทั้ง 6 ไม่ยอมคืน โจทก์ทั้ง 9 จึงได้ฟ้องร้องต่อศาลฯ เพื่อขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้ง 6 คืนทรัพย์สินทุกชนิดให้แก่โจทก์ทั้ง 9
(พี่น้องโตทับเที่ยง นำโดยสุธรรม โตทับเที่ยง แถลงคดีกงสี เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2565)
@คำให้การ ‘สุรินทร์’ ไม่มีทรัพย์สินที่เป็นของ ‘กงสี’ มาตั้งแต่ต้น
อย่างไรก็ดี จำเลยทั้ง 6 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง และพวก) ให้การต่อศาลฯว่า บิดา (โต๋ว ง่วนเตียง) ของจำเลยที่ 1 เปิดร้านขายของชำและขายส่งสินค้าเป็นการค้าส่วนตัว ไม่ได้เป็นกงสีกับใคร ต่อมาในปี 2507 กิจการของบิดามีหนี้สิน ถูกเจ้าหนี้ยึดอายัดทรัพย์สินไปชำระหนี้ จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) จึงตัดสินใจไม่เข้ารับการศึกษาต่อ และเริ่มประกอบอาชีพรับจ้าง ทำการค้า และร่วมกับพี่น้องหาเงินช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว
จนกระทั่งปี 2511 บิดาถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) มีอาชีพรับจ้าง เป็นเพียงพนักงานบริษัท ทำหน้าที่ขายสินค้า มีรายได้เพียงเล็กน้อย ไม่พอที่จะนำมาจุนเจือครอบครัว ส่วนจำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) ประสบความสำเร็จในธุรกิจค้าข้าวและปลากระป๋องด้วยตนเอง ไม่ได้ใช้เงินของโจทก์ที่ 1 ขณะที่บริษัทฯตามฟ้องทั้ง 21 บริษัท ก็ไม่ได้จัดตั้งขึ้นด้วยเงินของโจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) แต่เพียงผู้เดียว
ดังนั้น จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) จึงไม่ได้ถือครองทรัพย์สินแทนโจทก์ที่ 1 หรือบริษัทต่างๆ ขณะที่ทรัพย์สินของบริษัทล้วนเป็นของนิติบุคคลนั้นๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินของกงสี หรือบริษัท กว้างไพศาล จำกัด เพราะไม่มีทรัพย์สินในลักษณะของกงสีมาตั้งแต่ต้น
จำเลยทั้ง 6 ยังให้การว่า จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) เป็นผู้ซื้อโรงงานผลิตปลากระป๋องจากเจ้าของกิจการเดิมเมื่อปี 2520 แล้วจดทะเบียนก่อตั้ง บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด และต่อมาได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) ยังจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตปลากระป๋อง อาหารทะเลสำเร็จรูป รวมทั้งขยายกิจการเกี่ยวกับธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยจำเลยที่ 1 ได้แบ่งงานให้พี่น้องและบุตรหลานทำในกิจการของบริษัทเท่านั้น มิได้นำรายได้มาลงทุนเป็นกิจการของครอบครัวที่มีลักษณะเป็นกงสีแต่อย่างใด
อีกทั้งการก่อตั้งบริษัทต่างๆ มีการร่วมทุนกับบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้น หากพี่น้องคนใดสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุน ก็จะนำเงิน แรงงาน ทรัพย์สิน มาลงทุนในบริษัทนั้นๆ ซึ่งจะมีการตกลงสัดส่วนความเป็นเจ้าของของกิจการ โดยกำหนดจำนวนการถือครองหุ้นของบริษัทนั้นๆ เป็นเอกเทศต่างหากจากกัน
และมีการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ เงินเดือนผู้บริหาร เงินปันผล และรายได้จากการประกอบการของบริษัทให้แก่พี่น้องสกุลโตทับเที่ยงแต่ละคน ตามสัดส่วนการถือครองหุ้นและบทบาทหน้าที่ในบริษัทนั้นๆ ซึ่งโจทก์ทั้ง 9 และจำเลยที่ 1 ล้วนนำเงินที่ได้รับดังกล่าวไปใช้จ่ายเลี้ยงดูบุตรหลานของแต่ละสาย และต่อยอดทางธุรกิจ
โดยพี่น้องและบุตรหลาน สามารถนำเงินที่ได้รับดังกล่าว รวมทั้งกำไรและดอกเบี้ยจากการต่อยอดทางธุรกิจของตน ไปซื้อขายทรัพย์สินของตนเองได้อย่างเสรี ในขณะที่จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) และครอบครัว ไม่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ให้นำเงินของบริษัทไปซื้อหรือไถ่ถอนจำนองที่ดินแต่อย่างใด
จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) ให้การต่อไปว่า ได้ใช้เงินส่วนตัวและเงินที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินไปซื้อที่ดินตามฟ้อง (31 แปลง) ซึ่งที่ดินบางแปลงที่ซื้อไว้ นั้น จำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้บริษัทบางบริษัทใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานเท่านั้น แต่ไม่ได้นำเงินของบริษัทฯมาซื้อหรือไถ่ถอนจำนองที่ดินแต่อย่างใด
ส่วนการปรับเปลี่ยนกรรมการ ผู้บริหาร การเพิ่มทุน ลดทุนของบริษัทต่างๆ ทำโดยมติพิเศษหรือเสียงข้างมากของที่ประชุมผู้ถือหุ้น และเพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ในกิจการที่ประสบภาวะขาดทุน จำเลยทั้ง 6 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง และพวก) จึงได้ชักชวนบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมลงทุน และยังได้นำทรัพย์สินส่วนตัวมาคำประกันหนี้ของบริษัทด้วย
จึงมิใช่เป็นการทำเพื่อให้โจทก์ทั้ง 9 ต้องพ้นจากการเป็นกรรมการ และทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของโจทก์ทั้ง 9 ในบริษัทนั้นๆ ต้องลดลง
ดังนั้น จำเลยทั้ง 6 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง และพวก) จึงไม่ได้ถือครองที่ดินและทรัพย์สินแทนกงสี หรือแทนบริษัทต่างๆ ตามฟ้อง และที่ดินโฉนดเลขที่ 1027 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลขที่ 4-6 (บุตรของนายสุรินทร์) ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของกงสี อีกทั้งจำเลยที่ 2-6 (ภริยาและบุตรของนายสุรินทร์) เป็นบุคคลนอกกงสี โจทก์ทั้ง 9 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ศาลยกฟ้อง
@ศาลชั้นต้นสั่งให้ ‘สุรินทร์’ โอน ‘หุ้น-ที่ดิน-ตึกแถว’ แบ่งพี่น้อง
ต่อมาวันที่ 20 มี.ค.2561 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้ง 6 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง และพวก) โอนหุ้นที่แต่ละคนถืออยู่ในบริษัท 19 แห่ง ให้แก่โจทก์ทั้ง 9 (สุธรรม โตทับเที่ยง และพวก) จำนวน 9 ส่วน ใน 10 ส่วน และให้จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) จำเลยที่ 4-6 โอนที่ดิน 31 แปลง และตึกแถว 25 ห้อง ให้โจทก์ทั้ง 9 จำนวน 9 ส่วน ใน 10 ส่วน
ศาลอุทธรณ์
ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 6 ได้ยื่นอุทธรณ์ และต่อมาวันที่ 24 เม.ย.2562 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หุ้นของ บริษัท ตรังชัวร์ จำกัด ที่ต้องโอนให้โจทก์ทั้ง 9 ตามบัญชีหุ้นฯ จำนวน 539,500 หุ้น ให้ยก และพิพากษาแก้ว่า หากจำเลยทั้ง 6 ไม่สามารถโอนหุ้นคืนให้โจทก์ทั้ง 9 ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ให้จำเลยผู้ถือหุ้นชดใช้เป็นเงิน
ส่วนกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ศาลฯเห็นว่า เมื่อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการนำเงินของกงสีไปซื้อ แล้วให้นายสุรินทร์และจำเลยที่ 4-6 ถือไว้แทนกงสี ศาลฯไม่เห็นด้วยที่จะให้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับโจทก์ทั้ง 9 และนายสุรินทร์ (จำเลยที่ 1) ศาลฯจึงยกคำร้องในส่วนนี้ ดังนั้น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกงสี ซึ่งบริษัทของโจทก์ทั้ง 9 และจำเลยที่ 1 ที่เป็นกงสีจะเข้ามาดำเนินการต่อไป
@‘สุธรรม’ ให้การศาลฎีกาฯ แจงที่มาธุรกิจกงสี ‘โตทับเที่ยง’
ศาลฎีกา
ต่อมา จำเลยทั้ง 6 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง และพวก) ยื่นฎีกา และได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว รวมทั้งรับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ ได้ดังนี้
โจทก์ทั้ง 9 โดยโจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) เบิกความในทำนองว่า ขณะที่ธุรกิจของนายโต๋ว ง่วนเตียง (บิดาของ 10 พี่น้องโตทับเที่ยง) ต้องเลิกกิจการ โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) อายุ 18 ปี จึงไม่มีโอกาสเรียนต่อ ต้องออกมาช่วยครอบครัว โดยโจทก์ที่ 1 ได้รับการช่วยเหลือจากญาติฝ่ายบิดาที่ประกอบอาชีพทำบะหมี่สำเร็จรูปขายอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี มาชักชวนไปเรียนทำบะหมี่ และยังให้ยืมเครื่องมือขายปลาหมึกย่างมาใช้ในการทำมาหากิน
โจทก์ที่ 1 จึงประกอบอาชีพขายปลาหมึกย่างไปพรางๆ ระหว่างรอความอนุเคราะห์จากคู่เขยของบิดาที่ไปหาซื้อเครื่องทำบะหมี่จากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซียมาให้ และยังได้รับการสนับสนุนจากญาติบิดาที่ขายเชื้อแป้งหมี่ให้ โดยให้ชำระเงินเมื่อขายบะหมี่ได้แล้ว โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) นางสุภัทรา และมารดา ได้ให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพใหม่ดังกล่าว
ต่อมาปลายปี 2508 เพื่อนบิดา ซึ่งทำงานเป็นตัวแทนจำหน่ายสุรา ที่ อ.ย่านตาขาว ชักชวนโจทก์ที่ 1 ไปทำงานเป็นผู้จัดการด้านบัญชีและการเงิน โดยจะแบ่งกำไรให้ร้อยละ 10 โจทก์ที่ 1 ได้รับเงินเดือนเดือนละ 1,200 บาท และสิ้นปีได้รับส่วนแบ่งกำไร 13,000 บาท
ต่อมาต้นปี 2510 เพื่อนของโจทก์ที่ 1 ชักชวนไปทำงานโรงสีข้าวที่ จ.อุตรดิตถ์ ได้เงินเดือน เดือนละ 800 บาท และได้รับส่วนแบ่งจากกำไรร้อยละ 20 แต่เนื่องจากโรงสีมีงานน้อย โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ทำงานอยู่ได้ประมาณ 5-6 เดือน จึงลาออกไปสมัครเป็นพนักงานขายผงชูรส ที่บริษัท บีไทย จำกัด เงินเดือนเริ่มต้น 1,000 บาท มีเบี้ยเลี้ยงและค่าคอมมิชชั่นจากการขาย
ทั้งนี้ โจทก์ที่ 1 ส่งเงินกลับบ้านเดือนละประมาณ 4,000 บาท และตั้งแต่ออกจากบ้านไปทำงาน โจทก์ที่ 1 ส่งเงินมาให้ครอบครัวเป็นค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมด
ต่อมาโจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นพนักงานขายสินเชื่อประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้พบกับเพื่อนร่วมงานที่เคยทำงานอยู่ที่โรงสีใน จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งลาออกมาเป็นพ่อค้าข้าวอยู่ที่ จ.ศรีสะเกษ โจทก์ที่ 1 จึงติดต่อขอซื้อข้าวสารและข้าวเหนียวจากเพื่อนคนดังกล่าวส่งให้น้องๆ ที่ จ.ตรัง และจัดทำหน่ายในราคาที่ได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาก
จากนั้นในปี 2512 เมื่อน้องๆ ของโจทก์ที่ 1 เริ่มเรียนจบในระดับการศึกษาต่างๆ และได้มาช่วยกิจการของครอบครัว เริ่มจากจำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) ที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต่อมาปี 2513 โจทก์ที่ 2 (จุรี โตทับเที่ยง) เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และหยุดเรียนมาช่วยกิจการของครอบครัว โดยมาช่วยงานนางสุภัทราดูแลด้านการเงิน
ในปีเดียวกัน นายสวัสดิ์ ซึ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต้องการออกมาช่วยงานของครอบครัว โจทก์ที่ 1 จึงพาไปทำงานร่วมกับโจทก์ที่ 1 ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัท บีไทย จำกัด ประจำจังหวัดตรัง และกิจการของครอบครัวก็เจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยมีรายได้หลักจากการค้าข้าว
ปี 2515 ครอบครัวโตทับเที่ยง ที่มีมารดาเป็นศูนย์กลางของครอบครัว และมีผู้ช่วยร่วมทำงาน 5 คน นั้น โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ได้มอบหมายให้ทำหน้าที่ในการจัดการด้านการเงิน ให้แก่นางสุภัทรา และโจทก์ที่ 2 (จุรี โตทับเที่ยง)
ส่วนนายสวัสดิ์ และจำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) ให้ดูแลลูกค้า โดยจำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) มีหน้าที่โทรศัพท์ทางไกลรายงานผลการดำเนินกิจการทุกอย่างให้โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ทราบ
ต่อมากลางปี 2517 โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ได้ลาออกจากบริษัท บีไทย จำกัด และได้ร่วมกับนางสุภัทรา ตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด กว้างไพศาล ในช่วงต้นปี 2518 โดยโจทก์ที่ 1 ร่วมกับนายสมศักดิ์ สามีของนางสุภัทรา ดูแลกิจการ และได้เปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนจำกัด กว้างไพศาล เป็นบริษัท กว้างไพศาล จำกัด เป็นธุรกิจหรือกงสีของตระกูลโตทับเที่ยง มีวัตถุประสงค์จัดทำหน่ายสินค้าทั่วประเทศ ปีเดียวกันนั้น โจทก์ที่ 1 แต่งงานกับนางชุติมา
สำหรับธุรกิจของตระกูลโตทับเที่ยง มีทั้งที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดตรัง โดยที่กรุงเทพฯมีโจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ,นางชุติมา ,นายสมศักดิ์ และนางสุภัทรา เป็นหลักในการบุกเบิกธุรกิจให้เป็นระดับประเทศ ซึ่งต่อมาโจทก์ที่ 3 (จุฬา หวังศิริเลิศ (โตทับเที่ยง)) และสามี ได้เข้ามาเป็นกำลังสำคัญที่กรุงเทพฯด้วย
ส่วนที่จังหวัดตรัง มีนายสวัสดิ์ , จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) ,โจทก์ที่ 2 (จุรี โตทับเที่ยง) และโจทก์ที่ 4 (จุรัตน์ มะนะสุทธิ์ (โตทับเที่ยง)) เป็นกำลังหลัก
ทั้งนี้ หลังจากบิดาถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ในฐานะพี่ชายคนโตมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบดูแลครอบครัว ต้องทำหน้าที่เสมือนหัวหน้าครอบครัว พี่น้องทุกคนได้ช่วยกันทำงานของครอบครัว เพื่อนำรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าการศึกษา และทุนในการทำธุรกิจของครอบครัว
โดยหลังจากตั้งบริษัท กว้างไพศาล จำกัด แล้ว โจทก์ที่ 1 และครอบครัวโตทับเที่ยง ได้ขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นอีกหลายแห่ง มีการบริหารจัดการในลักษณะที่เป็นรูปแบบของส่วนรวม หรือที่เรียกว่า ‘กงสี’
ขณะที่ โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) และบุคคลในตระกูลโตทับเที่ยง รวมทั้งภริยาและบุตร เป็นผู้ถือหุ้น และทำหน้าที่บริหารงานในบริษัท ส่วนจำเลยทั้ง 6 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง ,ภริยา และบุตรทั้ง 4 คน) เป็นผู้ถือหุ้น และทำหน้าที่บริหารงานในบริษัท
(สุธรรม โตทับเที่ยง)
@’สุรินทร์’ เบิกความต่อศาลฯ ระบุเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจด้วยตัวเอง
ด้าน จำเลยทั้ง 6 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง และพวก) เบิกความว่า หลังจากร้านค้าของนายโต๋วถูกยึดทรัพย์ชำระหนี้ ต่อมาในปี 2508 จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) มาทำกิจการบะหมี่สำเร็จรูปส่งไปจำหน่ายยังร้านต่างๆ
และจำเลยที่ 1 ได้เห็นธุรกิจ ซึ่งมีพ่อค้านำไข่เป็ดจาก จ.สุราษฎร์ธานี มาขายในระหว่างที่เป็นพ่อค้าโดยสารเดินทางไปที่ อ.กันตัง ซึ่งขายราคาฟองละ 35-38 สตางค์ จึงติดต่อรับไข่เป็ดมาขายในพื้นที่ จ.ตรัง ราคาฟองละ 40-42 สตางค์ โดยนำไข่เป็ดไปส่งให้ลูกค้าที่ตลาดสด ทำให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว
ต่อมาจำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) เริ่มซื้อข้าวสารครั้งละ 1-2 กระสอบ มาขายปลีกให้แก่ลูกค้าหน้าร้าน ซึ่งรายได้จากการขายบะหมี่ ไข่เป็ด และข้าวสาร เพียงพอที่จะใช้จ่ายเป็นค่าอาหารของคนในครอบครัว และเป็นเงินเล่าเรียนให้แก่น้องๆ รวม 7 คน ในขณะที่โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ไม่ได้ส่งเงินค่าอาหารและค่าเล่าเรียนให้แก่น้องทั้ง 7
ต่อมาบิดาของเพื่อนจำเลยที่ 1 แนะนำให้จำเลยที่ 1 จัดหาปลายข้าว ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวส่งให้แก่ร้านของตน จำเลยที่ 1 จึงติดต่อสั่งปลายข้าวจาก จ.สุรินทร์ มาจำหน่าย ดังนั้น การทำธุรกิจบะหมี่ ขายไข่เป็ด ขายปลีกข้าวสาร และขายปลายข้าวสาร จำเลยที่ 1 เป็นผู้ริเริ่มและลงมือทำด้วยตนเอง โดยโจทก์ที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) ไม่เคยส่งเงินมาให้ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าว
ต่อมาปี 2513 จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) ไปเซ้งโรงงานน้ำอัดลม แล้วส่งน้ำอัดลมมาจำหน่ายในพื้นที่ จ.ตรัง และจังหวัดใกล้เคียง ต่อมาช่วงปลายปี 2517 ราคาข้าวสารตกต่ำมาก จำเลยที่ 1 จึงสั่งซื้อข้าวสาร 1 ตู้รถไฟ แต่โรงสีส่งมาให้ 5 ตู้รถไฟ ทำให้มีข้าวสารเก็บสะสมอยู่ในโกดังมากถึง 80 ตู้รถไฟ
แต่ในปี 2518 เกิดอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ทั่วทั้งภาคใต้ ข้าวสารมีราคาสูงขึ้น ทำให้จำเลยที่ 1 มีกำไรจากการจำหน่ายข้าวสารเป็นจำนวนมาก และปี 2520 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินจากการทำธุรกิจและเงินที่ได้จากการประมูลแชร์ประมาณ 100 มือ ไปซื้อกิจการโรงงานผลิตอาหารกระป๋องจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสยาม ซึ่งมีปัญหาขาดสภาพคล่อง เป็นหนี้ธนาคาร 2 ล้านบาท โดยที่โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยว
จำเลยที่ 1 ปรับปรุงโรงงานดังกล่าว แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด ส่วนบริษัทฯตามฟ้อง 21 บริษัท เป็นการลงทุนและลงแรงกัน โดยใช้เงินส่วนตัวตามความสามารถของแต่ละคน พี่น้องและบุคคลภายนอกคนใดลงทุนมากน้อย ก็จะได้ถือครองหุ้นกันตามสัดส่วน
ปี 2537 บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) จึงระดมพี่น้องมาช่วยทำงาน ระดมทุนตามกำลังทรัพย์ กำลังกาย และความสามารถของแต่ละคน โดยจัดสรรหุ้นในบริษัทตามสัดส่วนที่แต่ละคนลงทุน ลงแรงตามความสามารถ ไม่มีการถือหุ้นแทน ไม่มีเงินกองกลาง ไม่มีกงสี เพราะต่างคนต่างทำ และได้รับผลประโยชน์เป็นการส่วนตัว
ส่วนการสร้างโรงแรมธรรมรินทร์ ได้เกิดขึ้นเมื่อปี 2530 โดยได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยจำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) เป็นผู้ขอสินเชื่อและเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ประมาณ 80 ล้านบาท ปี 2538 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างโรงแรมธรรมรินทร์ธนา โดยตีราคาโรงแรมธรรมรินทร์เป็นเงินลงทุน และชักชวนกลุ่มทุนอื่นมาร่วมทุนด้วย
โดยบุคคลภายนอกและพี่น้องที่ร่วมลงทุนได้รับการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนที่ลงเงิน และลงแรง ซึ่งบุคคลในตระกูลโตทับเที่ยง ไม่เคยจัดตั้งทรัพย์สินกองกลาง การมีชื่อถือหุ้นในบริษัทต่างๆ เกิดจากการทำธุรกิจในบริษัทนั้นร่วมกัน
เมื่อบุคคลดังกล่าวมีรายได้หรือกำไร ก็จะทำการต่อยอดทางธุรกิจ เปิดบริษัทใหม่ พี่น้องที่สนใจทำธุรกิจร่วมกันก็จะนำเงินส่วนของตนมาลงทุน เพื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ตามสัดส่วนที่ลงเงินหรือลงแรง ดังนั้น เงินที่ใช้ในการจัดตั้งบริษัทใหม่ จึงไม่ใช่เงินกองกลางหรือทรัพย์สินของกงสี
(สุรินทร์ โตทับเที่ยง)
@ศาลฎีกาฯระบุคำให้การของ ‘สุธรรม’ มีน้ำหนักมากกว่า
หลังจากฟังคำเบิกความของฝ่ายโจทก์และจำเลยแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความของโจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง
โดยกรณีที่จำเลยทั้ง 6 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง และพวก) ฎีกา ว่า หลังจากโจทก์ที่ 1 ออกไปทำงาน ไม่เคยส่งเงินมาให้ครอบครัวถึงเดือนละ 4,000 บาท ไม่เคยส่งเงินมาให้ครอบครัวประกอบการค้า หรือส่งเสียให้จำเลยที่ 1 และน้องๆได้รับการศึกษา และการที่โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า มีการส่งเงินมาให้ครอบครัว เป็นการอ้างเลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน นั้น
ศาลฯเห็นว่า หลังจากกิจการของนายโต๋ว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญเพียงอย่างเดียวของครอบครัวปิดตัวลง โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ซึ่งเป็นบุตรคนโต ต้องออกไปทำงานหาเงินมาดูแลครอบครัว ตามพฤติการณ์โจทก์ที่ 1 ต้องส่งเงินที่ได้จากการทำงานมาให้ครอบครัวใช้จ่าย ส่วนจะส่งเงินในแต่ละครั้งมากน้อยเท่าใด ด้วยวิธีการใด เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ใช่สาระสำคัญ คำเบิกความของโจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) จึงไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย
ส่วนที่จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) อ้างว่า หลังจากร้านค้าของนายโต๋วปิดตัวลง จำเลยที่ 1 ออกไปค้าขาย ไม่ได้ศึกษาต่อ โดยเริ่มทำกิจการค้าบะหมี่ ไข่เป็ด และข้าวสาร ตามลำดับ ซึ่งเป็นกิจการส่วนตัวของจำเลย นั้น
ศาลฯเห็นว่า ตามหนังสือ ‘ชีวิตเหนือลิขิตฟ้า’ เอกสารหมายเลข ล.5 ที่ครอบครัวโตทับเที่ยงจัดทำ และพิมพ์แจกในวาระที่จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) มีอายุครบรอบ 60 ปี โดยจำเลยที่ 1 เล่าประวัติของตนเองไว้ที่หน้า 73 ว่า หลังจากร้านค้าของนายโต๋วปิดตัวลง จำเลยที่ 1 กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนสุดท้าย แต่อาจารย์ขอให้อดทนเรียนให้จบ ซึ่งน่าจะใช้เวลาระยะหนึ่ง
จึงน่าเชื่อว่า คงมีแต่โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) เท่านั้น ที่ต้องออกจากบ้านไปทำงานหาเงินมาดูแลครอบครัว และส่งเสียให้น้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ได้เรียนหนังสือต่อไป คำเบิกความของโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีพิรุธ
สำหรับกรณีการทำบะหมี่จำหน่าย ซึ่งโจทก์ที่ 1 เบิกความถึงที่มาว่า ญาติของนายโต๋ว ซึ่งประกอบอาชีพบะหมี่อยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ชักชวนให้โจทก์ที่ 1 ไปเรียนทำบะหมี่ คู่เขยของนายโต๋วไปหาซื้อเครื่องทำบะหมี่จากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย และญาตินายโต๋วขายเชื้อแป้งให้ก่อน เมื่อขายบะหมี่ได้จึงนำเงินมาชำระ โดยมีนางยิ่ง และนางสุภัทรา มารดาของโจทก์ที่ 8 เป็นกำลังสำคัญร่วมทำกิจการ
ศาลฯเห็นว่า คำเบิกความของโจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ดังกล่าว มีการระบุตัวบุคคล สถานที่ และวิธีการที่บุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับนายโต๋ว ให้การช่วยเหลือสนับสนุนโจทก์ และครอบครัวโตทับเที่ยงทำกิจการ เป็นขั้นเป็นตอน สมเหตุสมผล
ส่วนที่จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) เบิกความเพียงว่า ปี 2508 จำเลยที่ 2 ไม่ได้เรียนต่อ จึงทำกิจการบะหมี่จำหน่ายให้แก่ร้านค้าทั่วไป นั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้เบิกความถึงที่มาที่ไปการริเริ่มทำบะหมี่แต่อย่างใด ทั้งๆที่เป็นกิจการเริ่มแรกที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ได้ประกอบกิจการหลังจากร้านค้าของนายโต๋วปิดลง
นอกจากนี้ แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะเบิกความในทำนองว่า จำเลยที่ 1 ริเริ่มกิจการด้วยตัวเอง และเป็นกิจการเริ่มแรก แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 อายุยังน้อย ไม่เคยออกไปทำงานที่จังหวัดอื่น โดยอาศัยอยู่กับครอบครัวที่ จ.ตรังมาโดยตลอด ไม่ได้พบกับญาตินายโต๋ว คำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนัก
ส่วนการค้าขายไข่เป็ด นั้น แม้โจทก์ที่ 1 จะไม่ได้เบิกความว่า โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ได้ประกอบกิจการค้าขายไข่เป็ดไว้
แต่ในหนังสือ ‘ชีวิตเหนือลิขิตฟ้า’ เอกสารหมายเลข ล.5 หน้า 77 มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ริเริ่มขายไข่เป็ด และจากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า เงินทุนส่วนตัวที่จำเลยที่ 1 นำมาซื้อขายไข่เป็ดนั้น ได้มาจากที่ไหนหรือได้มาอย่างไร ที่จะทำให้ชี้ชัดได้ว่าเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 โดยลำพัง
และการที่จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) เบิกความว่า ซื้อไข่เป็ดเป็นเงินเชื่อ แล้วนำเงินไปจ่ายภายหลัง แสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินสำรองเป็นเงินทุนหมุนเวียน ตามพฤติการณ์เชื่อว่า จำเลยที่ 1 นำเงินของครอบครัวที่เป็นเงินของโจทก์ที่ 1 ส่งมาให้ และรายได้จากการทำบะหมี่จำหน่ายไปลงทุน
@ศาลไม่เชื่อ ‘สุรินทร์’ ตั้งธุรกิจค้าข้าวสารด้วยเงินทุนตัวเอง
สำหรับการค้าข้าวสาร คำเบิกความของโจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) มีรายละเอียดถึงที่มาของกิจการขายข้าวสาร โดยติดต่อกับเพื่อนที่เคยทำงานด้วยกันที่โรงสี จ.อุตรดิตถ์ และมาเป็นพ่อค้าข้าวที่ จ.ศรีสะเกษ ให้ส่งข้าวสารและข้าวเหนียวมาส่งให้น้องๆ ที่ จ.ตรัง จัดจำหน่าย อีกทั้งโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 5 เบิกความสนับสนุนสอดคล้องกัน ดังนั้น คำเบิกความของโจทก์ที่ 1 จึงสมเหตุสมผล มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง
ส่วนกรณีการต่อยอดธุรกิจมาสู่ธุรกิจซื้อข้าวสารมาจำหน่ายครั้งละ 1-2 กระสอบ ก่อนจะขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น นั้น
ตามหนังสือ ‘ชีวิตเหนือลิขิตฟ้า’ เอกสารหมายเลข ล.5 มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) เป็นผู้ริเริ่มการค้าขายข้าวสารด้วยตัวเอง เป็นที่มาของการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด สินไทย (ตรัง) ซึ่งประกอบกิจการค้าข้าวสาร โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งแสดงว่า กิจการค้าข้าวสารเป็นของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฯเห็นว่า จำเลยที่ 1 ออกจากโรงเรียน เมื่อปี 2508 จำเลยที่ 1 อายุไม่ถึง 20 ปี ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และอาศัยอยู่กับครอบครัวกับทำงานที่ จ.ตรัง มาโดยตลอด
ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่ากิจการซื้อขายข้าวสาร เป็นกิจการของครอบครัวที่มีพื้นฐานจากการที่โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ออกไปหางานแล้วส่งเงินมาให้ครอบครัวไว้ใช้จ่ายและทำกิจการ อีกทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้มีการติดต่อกับพ่อค้า หรือมีเครือข่ายทางการค้าที่จะขยายกิจการ โดยอาศัยเงินทุนของตัวเอง
@ศาลฯเชื่อธุรกิจของครอบครัวโตทับเที่ยงทำในรูปแบบ ‘กงสี’
“…หลังจากกิจการของนายโต๋วปิดตัวลง ครอบครัวของโจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) และจำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) กับพี่น้องต้องประสบความยากลำบากในการเลี้ยงชีพ โจทก์ที่ 1 ต้องออกจากบ้านไปทำงาน ส่วนจำเลยที่ 1 และพี่น้องอยู่ด้วยกันที่จังหวัดตรัง ซึ่งตามทางนำสืบของโจทก์ทั้ง 9 และจำเลยทั้ง 6 ได้ความว่า มีความรักใคร่ สามัคคี ขยันขันแข็ง
ดังนั้น ย่อมต้องช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ ตามโอกาสและความสามารถของแต่ละคน ไม่ว่าในขณะนั้นพี่น้องคนใดกำลังเรียนหนังสืออยู่หรือยังเป็นเด็ก เพราะทุกคนเป็นสมาชิกในครอบครัว
ดังนี้ แม้ตามทางนำสืบของโจทก์ทั้ง 9 จะไม่ได้ระบุชี้ชัดว่าโจทก์ที่ 1 ส่งเงิน มาให้ใครเพื่อใช้ในกิจการอะไรโดยเฉพาะเจาะจง แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้อย่างชัดแจ้งว่า โจทก์ที่ 1 ออกไปทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวที่อาศัยอยู่ด้วยกันที่จังหวัดตรัง และเป็นทุนทำการค้าและขยายธุรกิจ
ส่วนที่โจทก์ที่ 5 (สลิล โตทับเที่ยง) เบิกความขัดแย้งแตกต่างกันกับโจทก์ที่ 1 ว่า กิจการใดเริ่มก่อนหรือหลัง ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ทั้ง 9 และจำเลยทั้ง 6 ตรงกันว่า มีการทำกิจการบะหมี่ ไข่เป็ดและข้าวสาร เพียงแต่ต่างฝ่ายต่างอ้างว่า เป็นกิจการอันเป็นธุรกิจของครอบครัว หรือกิจการส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เท่านั้น
ส่วนการที่ไม่ได้มีการทำบัญชีแสดงรายรับและรายจ่ายในกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าขายข้าวสาร ทำบะหมี่ และค้าขายไข่เป็ดนั้น เห็นได้ว่า การทำกิจการข้างต้น เป็นการทำการค้าในระยะเริ่มแรกสืบเนื่องมาเป็นลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครอบครัวดำรงชีพอยู่ได้ ไม่ได้เน้นเรื่องการแสวงหากำไรมาก และไม่ได้มีลักษณะเป็นการทำธุรกิจตามแบบแผนที่ต้องมีการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย กำไร ขาดทุน
ดังนั้น รายรับ รายจ่าย ผลกำไร และขาดทุน ย่อมพัวพันคละเคล้ากันไป ไม่สามารถแยกได้ชัดเจน การที่บุคคลในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นนางยิ่ง โจทก์ที่ 1 และที่ 2 หรือจำเลยที่ 1 หรือพี่น้องคนใด ไม่ได้มีการทำบัญชี จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า การประกอบกิจการตั้งแต่การทำบะหมี่ ค้าขายไข่เป็ด และข้าวสาร ได้ใช้ด้านหน้าของบ้านที่ครอบครัวอาศัยอยู่ด้วยกัน เป็นสถานที่ใช้ประกอบกิจการ ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่า บุคคลในครอบครัวช่วยกันทำกิจการตามโอกาสและกำลังความสามารถ
พฤติการณ์แห่งคดีที่โจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) ส่งเงินมาให้ครอบครัว เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เป็นทุนทำกิจการค้าขายบะหมี่และข้าวสาร ซึ่งบุคคลในครอบครัวช่วยกันทำและขยายต่อยอดธุรกิจดังกล่าว โดยไม่ได้มีการแยกแยะรายได้ รายจ่าย ผลกำไร ขาดทุน ทั้งไม่ปรากฏว่าได้นำมาแบ่งปัน ย่อมชี้ชัดว่า การทำกิจการข้างต้นเป็นธุรกิจของครอบครัว ไม่ใช่กิจการส่วนตัวของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะ…” คำพิพากษาศาลฎีการะบุ
@สั่งโอน ‘หุ้น 19 บริษัท’ ให้พี่น้องโตทับเที่ยง-ชี้เป็นกรรมสิทธิ์รวม
ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิพากษาให้นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง (จำเลย 1) และพวกรวม 6 คน ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นที่ถือไว้แทนพี่น้องโตทับเที่ยงคนอื่นๆ ในบริษัทฯ 19 แห่ง ได้แก่
บริษัท กว้างไพศาล จํากัด, บริษัท กว้างโฮลดิ้ง จํากัด, บริษัท เอส.ตรัง คอมเพล็กซ์ จํากัด, บริษัท เอส.ตรัง ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด, บริษัท เอส.ตรัง เอ็นเตอร์ไพร์ส จํากัด, บริษัท ตรังแคนเนอรี่ จํากัด, บริษัท โรงแรมธรรมรินทร์ จํากัด, บริษัท อะเมซิ่ง ไอเดีย จํากัด, บริษัท ตรังกว้างไพศาล จํากัด
บริษัท กว้างไพศาล โฮลดิ้ง จํากัด, บริษัท โตโฮลดิ้ง จํากัด, บริษัท ตรังโฮลดิ้ง จํากัด, บริษัท ไกรตะวัน จํากัด ,บริษัท ตรังชัวร์ จํากัด, บริษัท ดิสทริค ดิเวอลอปเม้นท์ 2000 จํากัด, บริษัท ล้านรอยยิ้ม จํากัด, บริษัท คอนสแตนท์ แอดเวอร์ไทซิ่ง จํากัด, บริษัท ตรังทราเวิล แอนด์ อะเมซิ่ง ทราเวิล จํากัด และบริษัท เอส.ที แมเนจเม้นท์ (2013) จํากัด
โอนหุ้นในบริษัททั้ง 19 แห่ง ให้แก่ นายสุธรรม โตทับเที่ยง กับพวกรวม 9 คน ได้แก่ น.ส.จุรี โตทับเที่ยง, นางจุฬา หวังศิริเลิศ, นางจุรัตน์ มะนะสุทธิ์, นายสลิล โตทับเที่ยง, นางสาวสุนีย์ โตทับเที่ยง, น.ส.ศิริพร โตทับเที่ยง, นายเสริมสันต์ สินสุข, นายไกรลาภ โตทับเที่ยง และนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง (จำเลยที่ 1) คนละ 1 ส่วนใน 10 ส่วน ของหุ้นในแต่ละบริษัท
เนื่องจากศาลฯเห็นว่า กิจการทั้ง 19 แห่ง เป็นกิจการที่นำเงินรายได้และทรัพย์สินของพี่น้องในครอบครัวโตทับเที่ยงมาลงทุนก่อตั้ง โดยมีโจทก์ที่ 1 (สุธรรม โตทับเที่ยง) และจำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) และบุคคลในครอบครัวโตทับเที่ยงถือหุ้น และให้บุคคลในครอบครัวเป็นกรรมการมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทในแต่ละบริษัท หรือร่วมบริหาร
มีการนำรายได้ของบริษัทฯดังกล่าวมาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนรวมของครัวครัว มีการนำเงินของบริษัทฯในเครือไปช่วยเหลือบริษัทในเครืออื่น มีการทำบัญชีสองบัญชี ซึ่งไม่ถูกต้อง ผิดวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจในรูปแบบบริษัทจำกัด อันบ่งชี้ว่าไม่ได้ให้คามสำคัญหรือคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ซึ่งมีบุคคลภายนอกเป็นผู้ถือหุ้นด้วย
อันแสดงว่าโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และพี่น้องในครอบครัวตระกูลโตทับเที่ยง ก่อตั้งและบริหารกิจการทั้ง 19 บริษัท ในลักษณะที่ให้เป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งบุคคลในครอบครัวมีสิทธิในทรัพย์สินเท่าเทียมกัน เป็นกงสีตรงตามที่โจทก์ทั้ง 9 บรรยายฟ้องมา ดังนั้น หุ้นในบริษัททั้ง 19 บริษัท จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ที่ 1-7 นางสุภัทรา นายสวัสดิ์ และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่น้องในครอบครัวโตทับเที่ยง
ดังนั้น พี่น้อง คู่สมรส และบุตรหลานในครอบครัวโตทับเที่ยง ที่มีชื่อถือหุ้นในบริษัท 19 บริษัทดังกล่าว จึงเป็นการถือหุ้นแทนบุคคลในครอบครัวโดยทับเที่ยง ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมกันทุกคน
ส่วนบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องตรา ‘ปุ้มปุ้ย ปลายิ้ม’ ที่จัดตั้งเมื่อปี 2522 และต่อมาได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนเมื่อปี 2537 เป็น บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล (POMPUI) นั้น เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้อง แสดงว่า บริษัทดังกล่าวไม่ใช่ธุรกิจขอบครอบครัวโตทับเที่ยง
และเมื่อโจทก์ทั้ง 9 ไม่ได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า หุ้นและทรัพย์สินของ บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล ไม่ใช่ทรัพย์สินของกงสี ดังนั้น เงินที่นำมาซื้อกิจการโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง และนำมาลงทุนลงทุนในบริษัทฯ จึงไม่ใช่เงินที่ได้มาจากการค้าขายของครอบครัวโตทับเที่ยง และบริษัทฯที่ตั้งขึ้นภายหลังย่อมไม่ใช่ธุรกิจของครอบครัวโตทับเที่ยงเช่นกัน
สำหรับที่ดิน 31 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง (ตึกแถว) 25 ห้อง ซึ่งโจทก์ทั้ง 9 (สุธรรม โตทับเที่ยง และพวก) ได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ จำเลยที่ 1 (สุรินทร์ โตทับเที่ยง) และจำเลยที่ 4-6 (บุตรของสุรินทร์) โอนให้แก่โจทก์ทั้ง 9 นั้น ศาลฎีกา เห็นพ้องกันศาลอุทธรณ์ ที่ให้ยกคำขอของโจทก์ และให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของครอบครัว
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญของคำพิพากษาของศาลฎีกาใน ‘คดีพิพาท’ แบ่งทรัพย์ ‘กงสี’ ของตระกูล ‘โตทับเที่ยง’ ซึ่งได้ยุติลงแล้ว หลังจากสู้คดีกันมากว่า 7 ปี
อ่านประกอบ :
ศึก‘โตทับเที่ยง’ไม่จบ! ‘สุรินทร์’ออกแถลงการณ์โต้‘กลุ่มสุธรรม’ แจงคดีกงสีคลาดเคลื่อน
‘โตทับเที่ยง’ยุติขัดแย้ง! ‘สุธรรม’ส่งเทียบเชิญ’สุรินทร์’หารือ แบ่ง’หุ้น-ที่ดิน’กงสี
‘ศาลฎีกา’ยุติศึกกงสีตระกูลโตทับเที่ยง ‘สุรินทร์’พ่าย-สั่งโอน‘หุ้น-ที่ดิน’แบ่งพี่น้อง
เจาะงบฯ บ.เสี่ยปุ้มปุ้ย หนี้พันล. ชนวนแตกหัก สายเลือด ‘โตทับเที่ยง’
เจาะตำนานความขัดแย้งใน‘กงสี’ 8 ตระกูลดัง ก่อนถึง ‘โตทับเที่ยง’