ตั้งเป้าสูงโอเน็ต ป.6 กลุ่มรร.อนุบาลประจำจังหวัดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด(แห่งประเทศไทย) ร่วมกับสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว) ได้จัดการประชุมอบรมจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อเตรียมครูเป็นวิทยากร ให้แก่ครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ โดย ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานการประชุมกล่าวว่า การจัดสร้างนวัตกรรมใหม่ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ของนายกรัฐมนตรีนั้น ในส่วนของการศึกษา ต้องมีการปฏิรูปปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนให้เป็นแบบ Active Learning เพื่อฝึกให้เด็กได้ปฏิบัติและสรุปเป็นชุดความรู้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน ยังเน้นการท่องจำ ใครท่องได้มากจำได้มาก ถือว่าเป็นคนเก่ง แต่จริง ๆ แล้วโลกสมัยใหม่ต้องเป็นแบบ Active Learning ซึ่งปัจจุบันมีครูจำนวนไม่น้อย และโรงเรียนหลายโรงทำอยู่แล้ว แต่ยังขาดความต่อเนื่องเพราะติดปัญหาที่หลักสูตรไม่เอื้อ เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนยังต้องยึดหลักสูตร มีการวัดประเมินผลตามหลักสูตร ถ้าไม่เป็นไปตามหลักสูตรก็ไม่ผ่าน เรื่องนี้จึงถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้เราไม่สามารถสร้างคนได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธาน พว กล่าวว่า การจัดอบรมนี้มุ่งให้ครูมีความเข้าใจการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กดีขึ้น โดยมีเป้าหมายว่าในปีต่อไปผลโอเน็ต ระดับชั้น ป.6 ของโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด จะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ซึ่งการที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้จะต้องมีการปรับการเรียนการสอนเป็นแบบ Active Learning ที่ให้บทบาทการเรียนรู้ไปอยู่ที่ตัวเด็ก โดยครูที่เข้ามารับการอบรมโรงเรียนละ 5คน จะกลับไปขยายผลให้ครูทั้งโรงเรียน และขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ โดยมีครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดเป็นพี่เลี้ยง
ดร.สำเริง กุจิรพันธ์ นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด(แห่งประเทศไทย) กล่าวว่า การปรับการเรียนการสอนเป็นแบบ Active Learning เป็นการเริ่มต้นเปลี่ยนการเรียนจากการท่องจำมาเป็นการเรียนด้วยกระบวนการ ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดหลายแห่ง ดำเนินการอยู่แล้ว โดยได้จากผลคะแนนโอเน็ต นักเรียน ป.6 ของโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ คือ เด็กโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดได้คะแนนเฉลี่ยเกือบร้อยละ 60 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 47 และเด็กโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดที่ทำคะแนนได้เต็ม 100 คะแนนยังมีถึงเกือบ 1,000 คน
ดังนั้นทางสมาคมฯ และ พว จึงคิดว่าจะต้องสร้างให้ครูของโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด เป็นแกนนำ ในการปรับกระบวนการเรียนการสอนขยายผลไปในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กภายในจังหวัดและทั่วประเทศ เพื่อดึงค่าคะแนนโอเน็ตของนักเรียน ป.6 ให้สูงขึ้นด้วย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ