ระบุเน้นประโยชน์นศ.สำคัญสุด ต้องสร้างบรรยากาศเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ “สตาร์ตอัพ” คนรุ่นใหม่ เผยไม่ได้ยกที่ให้แบงก์พาณิชย์แต่จะคิดค่าเช่าด้วย อีกทั้งผ่านด่านความเห็นชอบแล้ว ขณะแบงก์ไทยพาณิชย์เจอกระแสหนัก บอกขอถอยก่อน จนเมื่อมธ.ได้ข้อสรุปค่อยมาว่ากันใหม่
รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยถึงปมปัญหา “ตึกตู้ปลา” ว่า แนวทางในการปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างของตึกตู้ปลา คณะพาณิชยศาสตร์ฯ ถือว่าสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของนักศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ดังกล่าวเคยเปิดโล่งให้ใช้งานสะดวก แต่ในเวลาต่อมาได้กั้นพื้นที่เป็นสำนักงานทั้งหมด ดังนั้น ผู้บริหารคณะฯ ปัจจุบันเห็นว่าควรเพิ่มที่นั่งในการทำงาน จึงมีการปรับปรุงพื้นที่ประมาณ 1,100 ตารางเมตร ให้เป็น Co-Working Space เพื่อประโยชน์ของนักศึกษาได้ใช้อ่านหนังสือหรือทำงานกลุ่มอย่างเต็มที่ และใช้เวลาอยู่ได้ถึงช่วงค่ำๆ จากปัจจุบันนักศึกษาไม่ได้รับความสะดวก ทำงานได้ถึงแค่ 4 ทุ่ม
ทั้งนี้ คณะพาณิชย์ฯ มีการปรับปรุงพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การเรียนการสอนยุคใหม่ ที่มุ่งเน้นการทำงานแบบทีมเวิร์ค ซึ่งต้องมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ปรึกษาหารือและระดมสมอง พร้อมเทคโนโลยีทันสมัย ทำให้ระบบการเรียนในห้องลดลง นี่คือส่วนหนึ่งของ Digital Disruption ที่ต้องปรับตัวและสร้างบรรยากาศส่งเสริมการเกิดกลุ่มสตาร์ทอัพ
รศ.ดร.พิภพกล่าวว่า สำหรับความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นั้น ถือเป็นแนวทางของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ไม่เฉพาะมธ.เท่านั้น ที่ต้องสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาศัยกภาพให้นักศึกษา ด้วยการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนหรือเป็นพันธมิตรในรูปแบบต่างๆ อยู่แล้ว
“การปรับปรุงตึกตู้ปลาครั้งนี้ไม่ใช่การยกพื้นที่ให้เอกชนอย่างที่ตกเป็นข่าว แต่เป็นความร่วมมือทางวิชาการภายใต้ MOU ที่มีร่วมกันตั้งแต่ปี 61 โดยธนาคารจะปรับปรุงพื้นที่ให้ ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนบริการธนาคารจะมีแค่ประมาณ 30 ตารางเมตรเท่านั้น ซึ่งมหาวิทยาลัยจะจัดเก็บค่าเช่าอัตราเดียวกับที่ให้ธนาคารหรือผู้ประกอบการรายอื่นๆ เช่าพื้นที่ ส่วนที่เหลือก็จะให้นักศึกษาใช้ประโยชน์ ส่วนของร้าน Too fast to sleep จะมีพื้นที่การค้าแค่ 17 ตารางเมตร ที่เหลือเป็นพื้นที่นั่งและทำกิจกรรมของนักศึกษาเช่นเดียวกัน”
ทั้งนี้ รศ.ดร.พิภพยืนยันว่า การดำเนินงานที่ผ่านมามีความโปร่งใสโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตั้ง ‘คณะกรรมการกำกับการปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างอาคารคณะพาณิชย์ฯ’ ขึ้นมากำกับดูแลขั้นตอนต่างๆ โดยคณะฯ เป็นผู้ร่างแผนการใช้พื้นที่ร่วมกับธนาคาร SCB และ Too fast to sleep การดำเนินงานทั้งหมดผ่านการรับฟังความเห็นของประชาคมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2561 และได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 มั่นใจว่าโครงการนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบและเป็นประโยชน์กับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างแท้จริง
ขณะที่ธ.ไทยพาณิชย์ชี้แจงว่า ธนาคารและมธ.ได้ทำความตกลงร่วมกันทางวิชาการเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งมีส่วนหนึ่งของโครงการเป็นการเปิดศูนย์ Business Center เพื่อให้ความรู้แก่ SME ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์ฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพSME ไทยร่วมกัน และเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม มิได้มุ่งค้ากำไร โดยธ.ไทยพาณิชย์ได้ปฏิบัติตามระเบียบมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด และไม่เกี่ยวข้องกับการรื้ออาคารอย่างใด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นตามข่าว ทำให้สับสนและเข้าใจเจตนารมณ์ของธนาคารคลาดเคลื่อนไป ธนาคารจึงยื่นจดหมายขอชะลอโครงการนี้ไปก่อน จนกว่ามธ.ได้ข้อยุติ และจะขอพิจารณาความร่วมมือใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อมีข้อสรุปจากมธ.แล้ว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ