Generation Alpha หรือเจนอัลฟ่า เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่เกิดในระหว่างปี 2010 – 2025 มักจะเป็นลูกของคนเจนวายหรือมิลเลนเนียลส์และอาจมีพี่ที่เกิดใน Generation Z เจนอัลฟ่าถูกทำให้เป็นที่รู้จักโดย McCrindle บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจในออสเตรเลียและได้รับความสนใจในแวดวงต่างๆ โดยเฉพาะด้านการตลาด เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าเจนอัลฟ่าจะกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมี โดยในปี 2025 จะมีเด็กเจนอัลฟ่ากว่า 2 พันล้านคนในโลก อีกทั้ง คนไม่น้อยเชื่อว่าพวกเขาจะมีอุปนิสัยและความสนใจที่แตกต่างจากคนรุ่นอื่นๆ เพราะถูกแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลตั้งแต่แรกเกิด
หลายบทความที่พูดถึงบุคลิกและอุปนิสัยของเด็กเจนอัลฟ่ากล่าวว่า พวกเขามีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีวุฒิภาวะสูงกว่าวัย ใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่วเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจนขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และได้รับการเอาใจใส่อย่างท่วมท้นจากพ่อแม่ที่มีลูกน้อยคน แต่ก็เป็นไปได้ว่า เด็กกลุ่มนี้อาจไม่แตกต่างจากรุ่นพี่ Gen Z นักเนื่องจากเกิดมาในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลเหมือนกัน และเมื่อพิจารณาจากอายุแล้วเด็กเจนอัลฟ่ามีอายุมากที่สุดเพียง 11 ปีเท่านั้นและยังมีอีกมากมายที่ยังไม่ได้กำเนิดขึ้นมาบนโลก จึงยากที่จะสรุปได้ว่า ลักษณะต่างๆ ที่มีการคาดการณ์กันจะเป็นจริงหรือไม่
อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสังคมในปัจจุบัน เราพอจะรู้ได้ว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างไรบ้างในอนาคต และพ่อแม่ควรจะปรับตัวอย่างไรเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับลูกๆ เจนอัลฟ่า
“อายุยืน เรียนนาน ทำงานที่ยังไม่เคยมี”
หากลูกของคุณเกิดในเจนอัลฟ่า พวกเขาจะได้ใช้ชีวิตยาวนานกว่าคนทุกรุ่นที่ผ่านมาบนโลก เด็กที่เกิดในปี 2010 ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีอายุขัยคาดการณ์เกิน 100 ปี และเด็กไทยที่เกิดในปี 2016 มีอายุขัยคาดการณ์ราว 80-98 ปี นอกจากนี้ พวกเขายังมีแนวโน้มจะอยู่ในระบบการศึกษานานขึ้น และมีวุฒิการศึกษาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ แต่ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่พลิกผันรุนแรงจะทำให้ทักษะที่พวกเขามีหมดอายุเร็วขึ้น
ความท้าทายแรกที่เจนอัลฟ่าจะต้องเผชิญคือการเรียนรู้และทำงานในโลกที่มี disruption บ่อยครั้ง
ความรู้และทักษะที่พวกเขาได้รับจากโรงเรียนใช้งานได้สั้นลง และพวกเขาต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ ตลอดชีวิต มีการคาดการณ์ว่าเด็กที่กำลังจะจบการศึกษาระดับประถมในวันนี้จะต้องเปลี่ยนงานถึง 18 ครั้งตลอดช่วงชีวิตการทำงาน ไม่เพียงเท่านั้น เมื่ออาชีพส่วนหนึ่งกำลังหมดความสำคัญและถูกทดแทน และมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมาตลอดเวลา
65% ของเด็กประถมวันนี้จะได้ทำงานที่ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้เส้นทางไปสู่การประสบความสำเร็จของพวกเขาอาจแตกต่างหลากหลายเด็กเจนอัลฟ่าจึงต้องสามารถสร้างเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในสิ่งที่ยังจินตนาการไม่ออกในวันนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีทักษะการตั้งเป้าหมาย ค้นหาตัวเอง และเรียนรู้ด้วยตนเองได้ด้วยแนวคิด 3P คือ Play – Passion – Pursue ซึ่งผู้เขียนหนังสือ Creating Innovators: The Making of Young People Who Will Change the World ได้ถอดบทเรียนจากคนรุ่นใหม่ที่เป็นนวัตกรในสาขาต่างๆ พบว่า พ่อแม่ของพวกเขามีแนวทางการสนับสนุนลูกที่คล้ายคลึงกัน โดยเริ่มจากการชักชวนให้ลูกได้เล่น (Play) และเรียนรู้สิ่งต่างๆ หลากหลายอย่างสนุกสนาน จนลูกค้นพบความสนใจ (Passion) ของตัวเอง และมีโอกาสได้ไล่ตามความสนใจนั้นผ่านการลงมือทำ (Pursue)
ความท้าทายที่สองคือการสร้างสมดุลระหว่างโลกนอกจอและในจอ
หน้าจอได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิตเด็กๆ อินเตอร์เน็ตกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ดังจะเห็นได้ว่าราวครึ่งหนึ่งของเด็กอายุ 6 -14 ปีในวันนี้เสพข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์และอินเตอร์เน็ตเป็นประจำ อีกทั้งสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้การเรียนการสอนต้องย้ายไปอยู่บนออนไลน์ เด็กๆเจนอัลฟ่าจำนวนไม่น้อยต้องเริ่มเรียนอนุบาลเป็นครั้งแรกผ่านหน้าจอ แอพลิเคชั่นอย่างไลน์และเมสเซนเจอร์กลายเป็นช่องทางติดต่อปฏิสัมพันธ์กับปู่ย่าตายายที่ต้องอยู่ห่างไกลกัน ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เด็กเจนอัลฟ่ามีแนวโน้มจะใช้หน้าจอเร็วขึ้นและนานขึ้นเมื่อเทียบกับคนรุ่นพ่อแม่
การใช้หน้าจอที่เร็วเกินไปและมากเกินไปส่งผลเสียต่อพัฒนาการ สุขภาพกายและใจของเด็กได้ในระยะยาว งานวิจัยในเด็กอายุ 2-17 ปีกว่า 40,000 คน พบว่า การใช้เวลาหน้าจอมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้เด็กมีความสนใจใคร่รู้น้อยลง ควบคุมตัวเองได้น้อย วอกแวกง่าย สร้างเพื่อนได้น้อยลง อารมณ์ไม่สม่ำเสมอ และไม่สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้
ผลลัพธ์ที่เกิดกับเด็กวัยรุ่นยิ่งน่าเป็นห่วง เด็กวัยรุ่นที่ใช้เวลาหน้าจอเกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือต้องใช้ยาเพื่อควบคุมพฤติกรรมมากกว่าเด็กที่ใช้หน้าจอน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ถึง 2 เท่า นอกจากนี้ รูปแบบการใช้หน้าจอในครอบครัวก็เปลี่ยนไป โดยแต่ละคนมักจะมีหน้าจอส่วนตัว ทำให้พ่อแม่และลูกต่างเลือกเสพเนื้อหาที่ตนสนใจ จนยากจะรู้ว่าลูกกำลังติดตามสิ่งไหนและรู้สึกอย่างไร
ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่จำนวนไม่น้อยเริ่มคิดเอาหน้าจอออกไปจากชีวิตลูกอย่างเด็ดขาด ทว่า หนังสือเรื่อง The Art of Screen Time: How Your Family Can Balance Digital Media and Real Life โดยผู้เขียน Anya Kamenetz ให้มุมมองที่ต่างออกไปว่า ในอนาคตลูกของเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหน้าจอทั้งในการเรียนและการทำงานได้ อีกทั้งการรับชมเนื้อหาที่สนุกและมีคุณค่าร่วมกันช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ คำแนะนำที่เรียบง่ายของหนังสือเล่มนี้ คือ “ดูจอบ้าง ดูไม่มาก และดูร่วมกัน” ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้กับครอบครัวได้
ความท้าทายที่สามคือการเตรียมจิตใจให้พร้อมรับกับโลกที่ไม่แน่นอน
เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วรุนแรง โรคระบาด ความไม่สงบทางการเมือง ช่องว่างทางเศรษฐกิจที่ขยายใหญ่ขึ้น สภาพภูมิอากาศแปรปรวน สะท้อนภาพโลกที่เราอยู่ในปัจจุบันว่ามีความอ่อนไหว ไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ (Volatile Uncertain Complex Ambiguous – VUCA) อย่างยิ่ง
โลกที่คาดเดาไม่ได้ทำให้คนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นกระวนกระวายและกังวล แนวโน้มทั่วโลกชี้ให้เห็นว่าเด็กๆ จำนวนมากกำลังเผชิญกับความเจ็บป่วยทางใจ ไม่ว่าจะเป็นอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล สถานการณ์โรคระบาดมีส่วนเร่งให้แนวโน้มนี้พุ่งสูงขึ้นอีกทั่วโลก โดยมีเด็กราว 1 ใน 4 คนที่เป็นโรคซึมเศร้า และ 1 ใน 5 คนเป็นโรควิตกกังวล
พ่อแม่จึงควรเพิ่มการสื่อสารพูดคุยกันในครอบครัว ชักชวนให้ลูกแบ่งปันความคิดและความรู้สึกในแต่ละวัน ปรับเปลี่ยนกิจกรรมและตารางชีวิตให้ยืดหยุ่นขึ้นหากเด็กกำลังรู้สึกอ่อนไหว สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกและไม่ลังเลที่จะขอรับความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์
หนังสือ Ready or Not: Preparing Our Kids to Thrive in an Uncertain and Rapidly Changing World ผู้เขียน Madeline Levine พูดถึงปรากฏการณ์นี้ว่า โลกที่ไม่แน่นอนไม่ได้ส่งผลต่อเด็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อรูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่ยุคใหม่ด้วย บ่อยครั้ง ความวิตกกังวลในใจพ่อแม่ทำให้เราพยายามปกป้องลูกจากความล้มเหลวต่างๆ ซึ่งในระยะยาว สิ่งนี้จะลดความเชื่อมั่นในตัวเองของลูก ทำให้เขาเชื่อว่าตัวเองไม่สามารถเผชิญโลกจริงด้วยตนเอง
หนังสือเล่มนี้แนะนำว่า เพื่อให้เด็กๆ มีความพร้อมที่จะใช้ชีวิตในโลกที่ไม่แน่นอน พวกเขาควรได้เล่นแบบอิสระ (free play) มากกว่าถูกบีบอัดให้ทำกิจกรรมที่วางแผนไว้ตายตัว พวกเขาควรได้ทดลองเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก (trial and error) และจัดการกับความเสี่ยง ซึ่งเป็นทักษะที่เขาจะได้ใช้อีกหลายครั้งตลอดชั่วชีวิต นอกจากนี้ พ่อแม่ยังควรปลูกฝังทัศนคติของการมองโลกในแง่ดี เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองและสังคมรอบข้าง และมีความหวังต่ออนาคต ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกในประเด็นสังคมต่างๆ และเป็นบุคคลต้นแบบผ่านการทำงานอาสาช่วยเหลือสังคม เพื่อเสริมความเชื่อมั่นแก่ลูกว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงโลกรอบตัวได้
ไม่ว่าเจนไหนความต้องการทางใจไม่ต่างกัน
แม้ว่าเจนเนอเรชั่นอัลฟ่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนมากมายในอนาคต แต่อุปนิสัย ทัศนคติและตัวตนของเด็กๆ รุ่นนี้ ยังไม่ใช่สิ่งตายตัว และพร้อมที่จะถูกหล่อหลอมจากประสบการณ์ต่างๆ ที่พวกเขาได้รับในวัยเยาว์
พวกเขาก็ไม่ต่างจากมนุษย์เจนอื่นๆ ที่ต้องการความรัก การเอาใจใส่ และความใกล้ชิดกับคนรอบข้าง รูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่และสภาพแวดล้อมในสังคมยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างตัวตนของลูกเจนอัลฟ่าไม่น้อยไปกว่าเทคโนโลยี หากคุณพ่อคุณแม่ช่วยสนับสนุนให้ลูกเจนอัลฟ่าค้นพบศักยภาพในตนเองและสร้างเส้นทางชีวิตของตนได้แล้ว พวกเขาย่อมสามารถสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้กับตัวเองและโลกไม่น้อยกว่าคนรุ่นอื่นๆ ที่ผ่านมา
อ้างอิง
McCrindle. Understanding Generation Alpha. สืบค้นจาก https://generationalpha.com/wp-content/uploads/2020/02/Understanding-Generation-Alpha-McCrindle.pdf
ผลการสำรวจการอ่านโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561
สัมมนาสาธารณะประจำปี 2561 เรื่องสังคมอายุยืน โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
Twenge JM, Campbell WK. Associations between screen time and lower psychological well-being among children and adolescents: Evidence from a population-based study. Prev Med Rep. 2018 Oct 18;12:271-283. doi: 10.1016/j.pmedr.2018.10.003. PMID: 30406005; PMCID: PMC6214874.