พิศวงตานกฮูก พืชแปลงในกลุ่มพิศวง ถือเป็นพืชที่หาดูยาก เป็นพืชปราบเซียนของเหล่านักพฤกษศาสตร์
พิศวงตานกฮูก หรือชื่อจริงคือ พิศวงไทยทอง (Thismia thaithongiana Chantanaorr. & Suddee) เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ Thismia ด้วยเป็นพืชอาศัยรา (mycoheterotrophic) จะหลบอยู่ใต้ดินและจะมีเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ คือช่วงระยะดอกของพวกมันเท่านั้น ที่เราจะได้สังเกตุเห็น และดอกก็จะมีขนาดเล็กมาก ลักษณะอวบน้ำ ง่ายต่อการบุบสลาย จึงเป็นความท้าทายของนักพฤกษศาสตร์กับความยากในการศึกษานิเวศวิทยาของพวกมัน
พิศวงไทยทอง เป็นพืชที่มีแค่ดอกไม่มีต้นหรือใบ และมีขนาดจิ๋วแค่หัวไม้ขีด สีเขียวมรกต มีความสะดุดตาด้วยลักษณะคล้านกฮูกตาโตมีหูสองข้าง จึงเรียกกันว่า “พิศวงตานกฮูก” พืชกลุ่มพิศวงนี้ยังเป็นพรรณไม้ที่ลึกลับอยู่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเราพึ่งพบพรรณไม้ในกลุ่มพิศวงนี้แค่ประมาณ 70 ชนิดเท่านั้น โดยพบกระจายตัวตามเขตร้อนและกึ่งร้อนชื้นโดยเฉพาะในอุษาคเนย์บ้านเราที่จะพบหนาแน่นเป็นพิเศษ
พิศวงผสมเกสรอย่างไร?
การผสมเกสรของพิศวง นับเป็นเรื่องลี้ลับเรื่องหนึ่งที่เรียกร้องความสนใจของนักพฤกษศาสตร์เพราะช่วงเวลาบานของดอกที่แสนสั้นเลยทำให้การศึกษาแมลงผสมเกสรของพวกมันทำได้ยากมากๆ ดอกของมันมีโครงสร้างที่ซับซ้อนมาก ด้วยโครงสร้างดอกบ่งบอกได้ว่ามันเลือกที่จะผสมข้ามดอกมากกว่าผสมในดอกเดียวกัน ซึ่งตัวที่ช่วยพิศวงผสมเกสรคือ บั่วรา (fungus gnats) ซึ่งเป็นแมลงขนาดจิ๋วที่เรามักเห็นตอมอยู่บนดอกเห็ดราเสมอๆ งานวิจัยพบว่ามีแมลงถึง 5 กลุ่มที่ถูกดึงดูดเข้ามาที่ดอกของพิศวง แต่มีเพียงบั่วราเท่านั้นที่ผ่านด่านอันซับซ้อนของดอกเข้าไปและสามารถเก็บเอาเกสรออกมาได้
อาศัยฝนช่วยขยายพันธุ์
เมื่อพิศวงติดฝักแล้ว ฝักของมันจะมีรูปร่างคล้ายแก้วไวน์ ภายในแก้วบรรจุด้วยเมล็ดขนาดจิ๋วๆ ไว้เต็มแก้ว จากงานวิจัยพบว่า T. tentaculata ที่พบในฮ่องกงนั้นอาศัยหยดน้ำฝนเป็นตัวช่วยในการกระจายเมล็ด คล้ายฝักต้อยติ่ง ที่เมื่อฝนหยดโดนฝักแล้วจะดีดเมล็ดให้กระเด็นออกไป โดยเฉลี่ยเมล็ดจะถูกดีดออกไปได้แค่ฟุตเดียวเท่านั้น สำหรับพิศวงตานกฮูกของไทยเรายังไม่มีการศึกษาเรื่องการกระจายเมล็ดแต่อย่างไร
.
ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : วรพจน์ บุญความดี
บทความที่เกี่ยวข้อง
ต้นสนเกรวิลเลีย ไม้ประดับฟอร์มเท่ ดอกสวยหลากสี
พลูด่าง พืชใกล้ตัวที่แฝงอันตราย
ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com